ปวดหัวท้ายทอย สาเหตุ และอาการที่ควรพบแพทย์

ปวดหัวท้ายทอย คือ อาการปวดหัวที่บริเวณท้ายทอย หลังคอ หรือฐานกระโหลกศีรษะ ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่ควรได้รับการรักษาแตกต่างกัน เช่น การปวดศีรษะจากความเครียด ปวดไมเกรน และอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

อาการปวดหัวหรืออาการปวดบริเวณศีรษะที่มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีสาเหตุ ความยาวนานของอาการ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการปวดหัวควรสังเกตอาการของตนเอง เพื่อแยกความแตกต่าง สำหรับการรักษาที่ตรงจุด และควรไปพบแพทย์เมื่อจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น 

Occipital Headache

สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการปวดหัวท้ายทอย

สาเหตุของอาการปวดหัวท้ายทอยที่เป็นไปได้มีหลายประการ โดยแต่ละอาการควรได้รับการรักษาแตกต่างกัน เช่น 

1. ปวดหัวจากความเครียด 

ปวดหัวจากความเครียด (Tension headache) เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวดแบบบีบคั้น หรือหรือปวดตึง ๆ บริเวณส่วนล่างด้านหลังของศีรษะ เป็นอาการปวดที่พบได้บ่อย มักเกิดจากความตึงของกล้ามเนื้อหรือความตึงเครียดทางจิตใจ 

โดยอาจรู้สึกร้าวไปถึงท้ายทอยและดวงตาได้ อาจปวดน้อยไปจนถึงระดับปานกลาง และมักจะปวดทั้งสองข้างของศีรษะ ทั้งนี้ การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวมักไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน โดยอาจรู้สึกปวดเป็นเวลา 30 นาที หรือต่อเนื่องยาวนานจนถึง 7 วัน

2. ปวดหัวจากกล้ามเนื้อหดตัว 

อาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle contraction headache) เกิดจากการก้มหรือเงยหน้ามากเกินไปเป็นเวลานาน จากการมีท่านั่ง หรือยืนที่ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของร่างกาย เช่น การก้มหน้าอ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์ การนอนหนุนหมอนจำนวนเยอะเกินไป อาจทำให้มีอาการตึงไหล่หรือคอร่วมด้วย 

อาการปวดอาจเกิดขึ้นอย่างยาวนาน หรือแย่ลงเรื่อย ๆ ควรปรับท่าอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มรู้สึกตึง ๆ ที่ไหล่หรือคอ 

3. ปวดหัวไมเกรน

อาการปวดหัวไมเกรนสามารถเกิดขึ้นบริเวณท้ายทอยได้ เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลทางเคมีในสมอง ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน โดยเป็นความรู้สึกปวดรุนแรง หรือปวดตุบ ๆ ที่บริเวณด้านหลังของศีรษะ ท้ายท้อย โดยอาจปวดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างของศีรษะ 

อาการปวดหัวไมเกรน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงและเสียงร่วมด้วย อาการไมเกรนกำเริบอาจนานหลายชั่วโมงถึงหลายวัน หลังอาการดีขึ้น อาจเกิดอาการซ้ำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อีกหากขยับศีรษะอย่างรวดเร็ว 

4. ปวดเส้นประสาทท้ายทอย

ปวดเส้นประสาทท้ายทอย (Occipital neuralgia) คือ โรคที่เกิดจากแรงดันหรือการระคายเคืองที่เส้นประสาทต้นคอหรือท้ายทอย ซึ่งอาจเป็นผลของการบาดเจ็บ การตึงตัวของกล้ามเนื้อ การติดเชื้อหรือการอักเสบ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ 

โดยทำให้เกิดอาการปวดบริเวณท้ายทอยอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน รวมทั้งบริเวณต้นคอ หรือหลังหู อาการปวดอาจดีขึ้นภายในเวลาอันสั้น และอาจมีอาการปวดตา การมองเห็นเปลี่ยนไป หูอื้อ คัดจมูก และอาจรู้สึกชาบริเวณข้างเดียวกับที่รู้สึกปวด ร่วมด้วย

5. ปวดหัวท้ายทอยจากความดันต่ำ

ปวดหัวท้ายทอยจากความดันต่ำ (Low-pressure headache) เกิดจากการมีของเหลวจากรั่วจากสมองและไขสันหลัง มาอยู่รอบ ๆ เยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เกิดความดันตกเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรงทั้งสองข้างของท้ายทอย

อาการนี้อาจเกิดขึ้นหลังการเจาะไขสันหลัง หรือการฉีดยาชาบริเวณหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดคอ คอแข็ง หูอื้อ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย

6. ปวดหัวจากความผิดปกติของคอ

อาการปวดหัวจากความผิดปกติของคอหรือกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervicogenic headache) มักเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เนื้องอก กระดูกหัก การติดเชื้อ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 

โดยมักเริ่มปวดที่บริเวณต้นคอ หรือท้ายทอย ร้าวขึ้นมาที่ข้างซ้ายหรือขวาของศีรษะ บางกรณีอาจเริ่มมีอาการปวดจากด้านหลังและร้าวไปถึงด้านหน้าของศีรษะ บริเวณหลังดวงตาได้

วิธีบรรเทาอาการปวดหัวท้ายทอยด้วยตนเอง 

ผู้ที่มีอาการปวดหัวท้ายทอย สามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ 

  • รับประทานยาแก้ปวดหัว เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยผู้ใหญ่ควรนอนหลับวันละ 7–9 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • อาบน้ำอุ่นเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงเครียดผ่อนคลายลง
  • ออกกำลังกาย หรือยืดเส้นบริเวณคอเบา ๆ อาจช่วยให้อาการปวดหัวท้ายทอยดีขึ้นได้
  • จัดการกับความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานอดิเรกที่ชอบ

อาการปวดหัวส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย และมักดีขึ้นหลังจากบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการปวดหัวท้ายทอยควรสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ 

หากรับประทานยาและดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงควรหาเวลาไปพบแพทย์ หากอาการปวดหัวท้ายทอยมีความผิดปกติไป เช่น ปวดรุนแรงมากหรือปวดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี คุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปวดหัวท้ายทอยเฉพาะเวลาที่หลังจาม ไอ หรือออกกำลังกาย เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม 

แต่หากอาการปวดหัวท้ายทอยรุนแรงมาก หรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป รู้สึกสับสน มีการมองเห็นแปลกไป พูดลำบาก ง่วงซึม มีไข้สูง หายใจสั้น เจ็บอก หรือเป็นลม ควรพบแพทย์ทันที