ปวดเบ้าตา (Eye socket pain)

ความหมาย ปวดเบ้าตา (Eye socket pain)

ปวดเบ้าตา (Eye socket pain) เป็นอาการเจ็บปวด ระบม เมื่อยล้า หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณโดยรอบของลูกตา โดยอาจเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือเกิดขึ้นกับดวงตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการตาบวม หรืออาการปวดศีรษะ นอกจากนี้ หากมีอาการปวดเบ้าตาอย่างรุนแรงอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

อาการปวดเบ้าตาส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานหลังจากการดูแลตัวเองที่บ้าน เช่น การนอนพักผ่อน การประคบ หรือการรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป แต่ในบางกรณีก็อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติมหากมีอาการรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวัน

ปวดเบ้าตา (Eye socket pain)

สาเหตุของอาการปวดเบ้าตา

อาการปวดเบ้าตาสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่เบ้าตา เช่น การโดนต่อย การโดนวัตถุกระแทกเบ้าตา
  • โรคต้อหิน ซึ่งทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มมากขึ้นอย่างฉับพลันและผิดปกติ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสภายในดวงตา เช่น อาการม่านตาอักเสบ (Iritis)
  • อาการไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณโพรงจมูก รวมถึงอาการปวดเบ้าตาด้วย
  • โรคประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis) ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณลูกตา
  • ปัญหาสายตา เช่น การใช้สายตาเพ่งมองมากเกินไป การใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ไม่ตรงกับค่าสายตาของตัวเอง
  • ผลข้างเคียงจากอาการไมเกรน
  • ผลข้างเคียงจากเคียงจากอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) หรืออาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension Headaches)
  • ผลจากเคียงจากปัญหาทันตกรรม เช่น อาการปวดฟัน อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้ารวมถึงเบ้าตาร่วมด้วย

อาการปวดเบ้าตา

เมื่ออาการปวดเบ้าตา คุณมักจะรู้สึกปวดตุบ ๆ หน่วง ๆ แปลบ ๆ หรือปวดเหมือนมีแรงกดทับบริเวณเบ้าตาหรือกระบอกตา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างเดียว แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับดวงตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกันได้

อาการปวดเบ้าตามักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการตาล้า ตาแห้ง ตาบวม มีรอยช้ำ หรือมีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือที่เรียกว่าอาการปวดศีรษะจากไมเกรน

อาการปวดเบ้าตาที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการปวดเบ้าตาอย่างรุนแรงต่อเนื่องร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ ตัวอย่างอาการที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นแสงไฟหรือดวงไฟกระจายออกผิดปกติ
  • มีอาการบวมรอบดวงตา หรือลูกตาโปนออกมา
  • ไม่สามารถลืมตาหรือขยับสายตาได้ตามปกติ
  • มีสัญญาณของอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องร่วมกับอาการปวดเบ้าตา
  • มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากดวงตา
  • สูญเสียการมองเห็น

การวินิจฉัยอาการปวดเบ้าตา

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติเกี่ยวกับอาการปวดเบ้าตาที่เกิดขึ้น เช่น ระยะเวลาที่เกิดอาการ ระดับความเจ็บปวด อุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บที่อาจเป็นสาเหตุของอาการ รวมทั้งอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจสอบบริเวณเบ้าตาว่ามีอาการบวม รอยช้ำ บาดแผล หรือความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อทำการตรวจการมองเห็น การตอบสนองต่อแสง หรือตรวจระดับความดันในลูกตา เช่น

  • การตรวจสอบระยะการมองเห็นทั้งใกล้และไกล 
  • การใช้ยาหยอดตาสำหรับขยายรูม่านตา เพื่อตรวจภายในลูกตา
  • การใช้ไฟเฉพาะที่มีแสงจ้าพิเศษ เพื่อตรวจโครงสร้างภายในลูกตา
  • การใช้เครื่องตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometer) มักใช้เพื่อวินิจฉัยโรคต้อหิน

การรักษาอาการปวดเบ้าตา

การรักษาอาการปวดเบ้าตาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน ตัวอย่างการรักษาอาการปวดเบ้าตา มีดังนี้

การดูแลอาการปวดเบ้าตาด้วยตัวเองที่บ้าน

หากมีอาการปวดเบ้าตาไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ ที่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเบ้าตาในเบื้องต้น วิธีการดูแลตัวเองมีดังนี้

  • ใช้น้ำตาเทียมหากมีอาการตาแห้ง หรือการพักสายตาด้วยการนอนหลับพักผ่อน ในกรณีที่ใช้สายตามากเกินไป
  • การประคบบริเวณดวงตา โดยการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวด บวม ช้ำ ส่วนการประคบอุ่นจะช่วยลดการอักเสบหรืออุดตันของไขมันบริเวณเปลือกตา
  • การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยารักษาอาการไมเกรน ในกรณีที่อาการปวดเบ้าตามีสาเหตุมาจากอาการปวดศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการใส่คอนแทคเลนส์หรือแว่นสายตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาของตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ดวงตา เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ดวงตาหรือเปลือกตาได้

การรักษาอาการปวดเบ้าตาจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ

หากมีอาการบาดเจ็บบริเวณดวงตาอย่างรุนแรง เช่น โดนกระแทกจากอุบัติเหตุ หรือมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ โดยมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์คือให้นำแก้วกระดาษที่สะอาดมาปิดครอบดวงตาเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนดวงตามากขึ้น รวมถึงไม่ควรกดหรือขยี้ดวงตา และหากมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ภายในดวงตา ไม่ควรพยายามเอาออกด้วยตัวเอง

การรักษาอาการปวดเบ้าตาจากโรคต้อหิน

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคต้อหินใช้ยาหยอดตาเพื่อลดแรงกดดันภายในลูกตา ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเบ้าตา นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคต้อหินรักษาด้วยเลเซอร์เพื่อปรับปรุงการระบายน้ำในดวงตาด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดเบ้าตา

อาการปวดเบ้าตาส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายในเวลาไม่นาน แต่อาการปวดเบ้าตาในบางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างร้ายแรงได้

โดยเฉพาะอาการปวดเบ้าตาที่มีสาเหตุมาจากโรคต้อหิน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาการมองเห็นหรือทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว ดังนั้น หากมีอาการปวดเบ้าตาที่ผิดปกติเกิดขึ้น และรักษาด้วยตัวเองไม่หาย ควรไปพบแพทย์

การป้องกันอาการปวดเบ้าตา

อาการปวดเบ้าตาเกิดจากสาเหตุที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป จึงอาจป้องกันได้ยาก แต่วิธีการเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเบ้าตาจากสาเหตุที่พบบ่อย ๆ ได้ มีวิธีการป้องกันดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน  เช่น การขับรถทางไกล การจ้องหน้าโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีแสงจ้าใกล้เกินไปหรือจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การใส่คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุ รวมถึงคอนแทคเลนส์หรือแว่นสายตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาของตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น ความเครียด อากาศร้อนอบอ้าว บริเวณที่มีคนแออีด รวมถึงบริเวณที่มีแสงไฟจ้าหรือมีเสียงดังด้วย
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาขณะเล่นกีฬา เช่น ปิงปอง เทนนิส หรือตะกร้อ 
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตาขณะทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานที่ใช้สารเคมี งานเชื่อมเหล็ก หรืองานก่อสร้างที่อาจมีเศษอิฐ หิน ดิน ปูน กระเด็นเข้าตา