ปวดเหงือก คืออาการเจ็บปวดที่เหงือก โดยอาจมีอาการบวมแดง หรือมีเลือดออกที่เหงือกร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการปวดเหงือกอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการระคายเคือง การได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อ และสาเหตุอื่น ๆ
เหงือกเป็นเนื้อเยื่อมีลักษณะอ่อนนุ่มอยู่ภายในช่องปาก ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับการบดเคี้ยวอาหาร อาการปวดเหงือกจึงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งนี้ การดูแลอาการปวดเหงือกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้อาการหายดีได้ภายในเวลาไม่นาน แต่กรณีที่อาการปวดเหงือกไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ อาจเป้นสาเหตุของโรคที่ต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม
สาเหตุของอาการปวดเหงือก
ปวดเหงือกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. การทำความสะอาดฟันไม่ถูกวิธี
การทำความสะอาดฟันอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพช่องปากสะอาด และป้องกันการเกิดฟันผุและโรคเหงือก อย่างไรก็ตาม การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันอย่างรุนแรง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดเหงือก เหงือกบวมแดง และมีเลือดออกได้
2. ร้อนใน
ร้อนใน (Canker Sores) เป็นแผลในปากที่มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก มีหัวสีขาวออกเหลืองบริเวณเยื่อบุกระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดานปาก เยื่อบุในช่องปาก และเหงือก มักทำให้รู้สึกเจ็บปวดและแสบบริเวณที่เป็น หากมีตุ่มร้อนในขึ้นที่เหงือกจึงอาจรู้สึกปวดเหงือกได้
ร้อนในอาจเกิดจากความเครียดและการบาดเจ็บ เช่น การกัดโดนเยื่อบุในปาก การแปรงฟันแรง และการใส่เหล็กจัดฟันหรือฟันปลอม ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) และโรคเซลิแอค (Celiac Disease)
3. แผลในปาก
แผลในปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการบาดเจ็บในช่องปากจากการแปรงฟันแรง การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ การเคี้ยวอาหารไม่ระวัง การกินอาหารที่ร้อนเกินไป และการติดเชื้อในช่องปาก อาจทำให้เกิดแผลที่เหงือก เหงือกบวมแดง รู้สึกแสบร้อนเวลากินอาหารรสเปรี้ยว เค็ม หรือเผ็ดจัด รวมถึงทำให้รู้สึกปวดเหงือกได้
4. โรคเหงือก
โรคเหงือก คือโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณเหงือก โดยในระยะแรกจะเกิดภาวะเหงือกอักเสบ (Gingivitis) จากการสะสมของคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน เกิดเป็นคราบหินปูนที่ทำให้เหงือกอักเสบ ปวดเหงือก และมีเลือดออก หากปล่อยไว้อาจมีอาการรุนแรงขึ้น อาจกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ตามมา
5. โรคถุงหนองปลายรากฟัน (Abscessed Tooth)
โรคถุงหนองปลายรากฟันเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปลายรากฟันใกล้กับเหงือก จึงเกิดเป็นถุงหนองหรือฝีที่เหงือก ทำให้เหงือกบวมแดงและปวดเหงือก หากไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจลามจากรากฟันไปยังอวัยวะข้างเคียงได้
6. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงอาจทำให้เกิดอาการปวดเหงือกได้ เช่น ช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ช่วงก่อนเริ่มมีประจำเดือนในแต่ละรอบเดือน และการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2–3 อาจทำให้เหงือกบวม ปวดเหงือก และมีเลือดออก
ผู้หญิงบางคนที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอาจมีระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เหงือกแห้งกว่าปกติ มีอาการปวดเหงือก และอาจมีเลือดออกที่เหงือกเช่นเดียวกัน
7. การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบต่าง ๆ เช่น ใบยาสูบชนิดผงแห้ง (Snuff) และใบยาสูบแห้งสำหรับเคี้ยว (Chewing Tobacco) ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปาก โดยอาจทำให้เหงือกบวมแดง ปวดเหงือก มีกลิ่นปาก ฟันเป็นคราบจากการสะสมของหินปูน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และมะเร็งช่องปาก
8. มะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปากสามารถเกิดขึ้นในส่วนใดก็ตามที่อยู่ในช่องปาก รวมถึงบริเวณเหงือกด้วย ซึ่งอาจสังเกตได้จากการมีแผ่นสีขาวหรือแดงในช่องปากเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์โดยไม่หายไป ปวดเหงือกหรือปวดบริเวณที่มีแผลในปาก มีตุ่มหรือก้อนเนื้อในช่องปาก ทำให้การกลืนอาหารลำบาก หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจต่อไป
บรรเทาอาการปวดเหงือกด้วยตัวเอง
วิธีการดูแลเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดเหงือก อาจทำได้โดย
- ประคบร้อนหรือเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำร้อนบิดหมาด ๆ หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบเบา ๆ ที่เหงือก ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกและเหงือกบวม
- บ้วนปากหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือ ¼–½ ช้อนชาลงในน้ำอุ่นประมาณ 225 มิลลิลิตร แล้วบ้วนทิ้ง เกลือจะช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เหงือกและในช่องปากได้
- แช่ถุงชา เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาคาร์โมไมล์ และชาขิง ในน้ำร้อนสักครู่ นำขึ้นมาพักให้พออุ่น ๆ แล้วใช้ประคบบริเวณเหงือกประมาณ 5 นาที จะช่วยบรรเทาการอักเสบและลดอาการปวดเหงือก
- ใช้สมุนไพรหรือน้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนผสมของกานพลู (Cloves) ขมิ้น และเปปเปอร์มินต์ ทาหรือฉีดบริเวณที่ปวดเหงือก อาจช่วยลดการอักเสบและปวดเหงือกได้เช่นกัน
- เลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ไม่บาดเหงือก แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างระมัดระวัง ไม่แปรงหรือขัดฟันแรงจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยว อาหารแข็ง และอาหารรสเผ็ดจัดที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองและปวดเหงือกมากขึ้น
- ไม่สูบบุหรี่และยาสูบทุกชนิด
- กินยาช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน
หากดูแลเหงือกด้วยวิธีเหล่านี้แล้วยังมีอาการปวดเหงือกอยู่ หรือปวดมากขึ้น และมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เหงือกบวมแดงและเจ็บมาก มีเลือดหรือหนองไหล มีก้อนผิดปกติที่เหงือกหรือในช่องปาก เหงือกร่น เสียวฟัน และฟันโยกหรือหลุด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป