ปัญหาหัวนมบอดในคุณแม่ที่ให้นมและวิธีแก้ไข

หัวนมบอดเป็นปัญหาที่คุณแม่หลายคนกังวลไม่น้อย เพราะปัญหานี้อาจส่งผลต่อการให้นมได้ คุณแม่บางคนอาจกังวลตั้งแต่ตั้งครรภ์ว่าตนเองจะให้นมลูกน้อยอย่างไร แต่โดยส่วนใหญ่ปัญหาหัวนมบอดอาจไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด เพราะมีหลายวิธีที่ช่วยคุณแม่ได้

ปัญหาหัวนมบอดที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจสร้างปัญหาได้ เพราะจะทำให้ทารกกินนมจากเต้าได้ยากขึ้น อีกทั้งยังสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่ด้วย

ดังนั้นเพื่อให้เจ้าตัวน้อยกินนมได้อย่างไม่ติดขัดและเติบโตได้อย่างแข็งแรง คุณแม่ที่ประสบปัญหาหัวนมบอดกับการให้นมควรศึกษาเกี่ยวกับวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งหาอ่านได้จากบทความนี้

ปัญหาหัวนมบอดในคุณแม่ที่ให้นมและวิธีแก้ไข

รู้จักอาการหัวนมบอด ปัญหาของคุณแม่ที่ให้นม

หัวนมบอดเป็นลักษณะทางกายภาพที่พบได้ทั่วไปและเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อายุที่มากขึ้นซึ่งส่งผลให้ท่อน้ำนมสั้นลง
  • พันธุกรรม
  • ภาวะท่อน้ำนมโป่งพอง (Mammary Duct Ectasia)
  • หัวนมเป็นแผลหรือบาดเจ็บ
  • โรคเต้านมอักเสบ (Mastitis)
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดหรือศัลยกรรมเต้านม

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องก็อาจส่งผลต่อการให้นมได้

บางครั้ง หากคุณแม่ได้รับน้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำหลังคลอด อาจทำให้เต้านมของคุณแม่บวมขึ้นจนทำให้ดูเหมือนว่าหัวนมบอดหรือแบนลงได้ ซึ่งอาการนี้มักเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อผ่านไปราว 1‒2 สัปดาห์ เต้านมก็จะบวมน้อยลงและหัวนมก็จะกลับมาดูปกติ

ในทางการแพทย์ หัวนมบอดแบ่งออกได้ 3 ระดับ

  • ระดับที่ 1 คุณแม่สามารถใช้ปลายนิ้วดึงหัวนมออกจากลานนมได้ ซึ่งคุณแม่ที่หัวนมบอดในระดับนี้สามารถให้นมได้ตามปกติ
  • ระดับที่ 2 คุณแม่สามารถดึงหัวนมออกจากลานนมได้เช่นกัน แต่หัวนมจะหดกลับไปในลานนมทันทีที่ปล่อยมือ ซึ่งในระดับที่ 2 อาจสร้างความลำบากให้กับทารกตอนกินนมได้เล็กน้อย
  • ระดับที่ 3 เป็นหัวนมบอดที่คุณแม่ไม่สามารถดึงหัวนมออกมาจากลานนมได้เลย จึงอาจทำให้ทารกกินนมได้ยากกว่าระดับอื่น

คุณแม่สามารถสำรวจตนเองด้วยวิธีเหล่านี้ได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจมีหัวนมบอดเพียงข้างเดียว ซึ่งสามารถใช้อีกข้างในนมลูกได้ตามปกติ หากสงสัยหรือมีคำถามสามารถสอบถามและปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ได้

วิธีแก้หัวนมบอดในคุณแม่ที่ให้นม

การแก้ไขหัวนมบอดสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

1. ให้นม

การให้นมทารกไปเรื่อย ๆ เป็นประจำอาจช่วยให้หัวนมที่เคยบอดหรือแบนนูนขึ้น และรับกับการให้นมมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังคลอด เพราะช่วงนี้เต้านมและลานนมมักจะอ่อนตัว

คุณแม่ควรอุ้มและประคองลูกเข้าเต้าด้วยท่าที่ถูกต้อง พยายามให้เด็กอ้าปากกว้างและงับให้ลึกถึงลานนมเพื่อให้ทารกดูดนมได้ดีขึ้น เพราะการงับหรือดูดเฉพาะบริเวณหัวนมอาจทำให้เด็กดูดนมได้ไม่เต็มที่และอาจทำให้หัวนมของคุณแม่บาดเจ็บด้วย

2. บริหารแก้หัวนมบอดด้วย Hoffman Technique

วิธีนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่หัวนมบอดในระดับที่ไม่รุนแรง ท่าบริหารแก้หัวนมบอดด้วยเทคนิคแบบ Hoffman เริ่มจากวางนิ้วชี้ทั้งสองข้างลงบนลานนมส่วนที่ติดกับหัวนม ในด้านตรงข้ามกัน โดยกดนิ้วทั้งสองให้ลงไปในผิวหนังเล็กน้อย

จากนั้นแยกนิ้วทั้งสองออกด้านข้างจนถึงขอบนอกของลานนมหรือจนรู้สึกตึง เมื่อทำในด้านข้างเสร็จแล้ว ควรปรับตำแหน่งการวางนิ้วไปรอบ ๆ หัวนม และทำซ้ำจนครบข้างละ 5 ครั้ง คุณแม่ควรหมั่นทำซ้ำทุกวันหรือเมื่อมีโอกาสเพื่อผลลัพธ์ที่ดี

3. กระตุ้นความรู้สึกบริเวณหัวนม

คุณแม่สามารถใช้วิธีนี้ก่อนการให้นม โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งในการคลึงรอบหัวนมเพื่อกระตุ้นความรู้สึกที่ทำให้หัวนมนูนขึ้น จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหรือขวดน้ำแช่เย็นแตะหัวบริเวณหัวนมเบา ๆ เพื่อกระตุ้นหัวนมอีกครั้งก่อนการให้นม

4. ใช้เครื่องปั๊มนม

เครื่องปั๊มนมเป็นอุปกรณ์ที่คุณแม่ยุคใหม่ใช้กันมากขึ้น เพราะต้องสำรองน้ำนมไว้ให้ทารกกิน เครื่องปั๊มนมจะใช้ครอบลงไปบริเวณเต้านมและหัวนมเพื่อปั๊มเอาน้ำนมออกมาคล้ายกับการที่ทารกดูดนมจากเต้าจึงอาจช่วยให้หัวนมที่บอดหรือแบนอยู่นูนออกมามากขึ้น

ดังนั้นก่อนการให้ทารกดูดนม คุณแม่สามารถใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อปั๊มให้หัวนมนูนขึ้นแล้วจึงให้ทารกดูดนม ซึ่งอาจช่วยให้ทารกงับเต้านมได้ง่ายขึ้น

5. ใช้ปทุมแก้ว

หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อ ปทุมแก้วหรือ Breast Shell สักเท่าไหร่ อุปกรณ์นี้มีรูปทรงครึ่งวงคล้ายเต้านม ด้านที่เป็นลานเรียบจะมีช่องเล็ก ๆ ไว้เพื่อรองรับน้ำนม

ปทุมแก้วใช้ครอบลงไปบนเต้านม โดยให้ช่องที่ลานตรงกับหัวนม ปทุมแก้วสำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอดเพื่อช่วยกดลานนมและเต้านมลง ทำให้หัวนมนูนออกมามากขึ้น และสามารถใช้เพื่อรองรับน้ำนมแทนแผ่นซับน้ำนมได้ด้วย

คุณแม่ที่หัวนมบอดสามารถใช้ปทุมแก้วเพื่อเตรียมหัวนมให้พร้อมสำหรับการให้นมได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นม สามารถใช้ปทุมแก้วสวมเต้านมก่อนให้นมราว 30‒60 นาที และไม่ควรสวมทิ้งไว้ข้ามคืนหรือเกินกว่าเวลาที่ระบุไว้ เพราะอาจทำบาดเจ็บได้

6. ใช้แผ่นป้องกันหัวนม

แผ่นป้องกันหัวนม (Nipple Shield) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ทำจากซิลิโคน มักลักษณะเป็นจุกครอบหัวนมก่อนให้ทารกดูด โดยจะมีช่องช่วยให้น้ำนมไหลผ่าน การใช้แผ่นป้องกันหัวนมเป็นอีกวิธีที่ได้ผล แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

เพราะคุณบางคนบอกว่าการใช้แผ่นป้องกันหัวนมอาจทำให้ทารกดื่มนมได้น้อยหรือช้าลง การใช้ระยะยาวอาจทำให้ท่อน้ำนมตันได้ด้วย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

นอกจากวิธีเหล่านี้ อาจมีวิธีอื่นหรืออุปกรณ์อื่นที่อาจช่วยแก้ปัญหาหัวนมบอดในการให้นมได้ ซึ่งวิธีที่ได้พูดถึงไปนี้ คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีใช้และวิธีทำที่ถูกต้องและปลอดภัย โดยเฉพาะขั้นตอนที่ใช้อุปกรณ์ คุณแม่ควรทำความสะอาดด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อาจทำให้ลูกน้อยไม่สบาย 

หากคุณแม่ลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล เจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือพบปัญหาอื่น ๆ ควรหยุดและปรึกษาแพทย์อีกครั้ง หรือหากคุณแม่พบปัญหาอื่นเกี่ยวกับการให้นมหรือดูแลเจ้าตัวน้อยก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน