ปากซีด เป็นลักษณะอาการที่ความเข้มของสีบริเวณริมฝีปากดูจางลง หรือมีสีอ่อนลงกว่าปกติ โดยอาการนี้เป็นอาการที่อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้ เช่น โลหิตจาง หรือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งผู้ที่มีอาการอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมไปกับอาการปากซีดได้ด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดอาการซีด
ปากซีดเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งในบางครั้ง อาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นและจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง แต่ในบางครั้ง อาการนี้ก็อาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้เช่นกัน การเรียนรู้ถึงสาเหตุที่อาจเป็นไปได้และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ติดตัวเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
รู้จัก 5 ตัวอย่างสาเหตุของอาการปากซีด
ปากซีดเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
1. ภาวะโลหิตจาง
โลหิตจางเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเป็นปกติ โดยสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งจากการที่ร่างกายมีระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่เพียงพอ หรืออาจจะเป็นจากการที่เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายมีความผิดปกติไป
ในด้านสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ก็อาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น การสูญเสียเลือดในปริมาณมาก การขาดวิตามินบี 12 การขาดธาตุเหล็ก และการป่วยด้วยโรคบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตเซลล์เลือดของร่างกาย
ส่วนด้านอาการ นอกจากอาการปากซีดแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังอาจเกิดอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น มือเย็น เท้าเย็น และหายใจไม่อิ่ม
2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในร่างกายลดต่ำลงมากผิดปกติ โดยภาวะนี้อาจจะพบได้มากในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้อินซูลิน (Insulin) หรือยาที่ใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยใช้อินซูลินในปริมาณที่มากเกินกำหนด หรือผู้ป่วยที่ใช้ยาผิดวิธี
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ นอกจากการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานก็เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric Surgery) และภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal Insufficiency)
ในด้านอาการ นอกจากอาการปากซีดแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังอาจพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ใจสั่น มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หนาวสั่น หิวบ่อย และมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
3. โรคด่างขาว (Vitiligo)
โรคด่างขาวเป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปโดยการไปทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสีผิว (Melanocyte) จนส่งผลให้ผิวหนังบางบริเวณ ซึ่งรวมถึงบริเวณริมฝีปาก มีสีที่จางลงกว่าสีผิวบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย
4. ภาวะริมฝีปากอักเสบจากแสงแดด (Actinic Cheilitis)
ภาวะริมฝีปากอักเสบจากแสงแดด เป็นภาวะริมฝีปากอักเสบชนิดที่เกิดจากการได้รับแสงแดดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ในด้านอาการ ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการปากแห้ง ปากแตก ปากบวมแดง และเกิดรอยคราบสีขาวบนริมฝีปากในช่วงแรก ก่อนจะเริ่มส่งผลให้ริมฝีปากเกิดรอยสะเก็ดและหยาบกร้านตามมา
5. มะเร็งริมฝีปาก
ในบางครั้ง อาการปากซีดหรืออาการที่ริมฝีปากมีคราบสีขาวเกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณริมฝีปากได้ โดยนอกจากอาการปากซีดแล้ว อาการอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจพบร่วมด้วยได้ก็เช่น พบก้อนเนื้อในริมฝีปาก เกิดแผลบนริมฝีปากในลักษณะที่แผลจะไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไป และรู้สึกชาหรือคล้ายมีเข็มทิ่มที่ริมฝีปากหรือบริเวณรอบ ๆ
วิธีรับมือกับอาการปากซีด
ในบางครั้ง อาการปากซีดอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว ก่อนจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งในกรณี อาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรงใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางครั้งเช่นกันที่อาการอาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมา โดยในกรณีนี้ อาการปากซีดที่เกิดขึ้นอาจจะกำลังบง่บอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปากซีดที่พบว่าอาการไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการในลักษณะที่กล่าวไปในหัวข้อสาเหตุ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
โดยในการรักษา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อตัวผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ เช่น หากสาเหตุเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานธาตุเหล็ก หรือหากสาเหตุเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์ก็จะพยายามเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม