ผมร่วงถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะมีผมร่วงมากถึง 50–100 เส้นต่อวัน และไม่ทำให้เกิดผมบาง แต่ในบางคนอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผมร่วงมากกว่าปกติ และเกิดอาการผมบางหรือศีรษะล้านตามมา ซึ่งหากผมบางหรือศีรษะล้านก็อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือความมั่นใจได้เช่นกัน
ผมร่วงสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การใช้ยารักษาโรค หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผมร่วงสามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนั้นผู้ที่มีผมร่วงสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดผมร่วงและหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสมได้
ผมร่วงเกิดจากอะไร ผมร่วงแบบไหนที่ควรรักษา
แม้ว่าในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด แต่โดยส่วนใหญ่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จากคนในครอบครัวที่มีปัญหาผมร่วง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย
- ผลข้างเคียงจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ
- การติดเชื้อบางประเภท
- ความเครียด
ผมร่วงอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวและจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อมีผมที่บางลง โดยในเพศชายอาจเกิดผมร่วงได้มากกว่าเพศหญิง ซึ่งมักจะเกิดบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ ด้านข้างหู หรือด้านหลังศีรษะ ส่วนในเพศหญิงผมจะค่อย ๆ บางลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และมักจะเกิดได้บ่อยบริเวณกลางศีรษะ
ในบางกรณีหากเกิดผมร่วงเป็นหย่อมอาจไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้เองภายในเวลา 1 ปี แต่ในกรณีของผู้ที่เกิดผมร่วงจากปัญหาสุขภาพหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมถึงผู้ที่มีผมร่วงแบบถาวร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ผมร่วงสามารถรักษาได้อย่างไรบ้าง
เป้าหมายหลักในการรักษาผมร่วงคือสร้างการเจริญเติบโตของเส้นผม ชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม รวมถึงปกปิดการสูญเสียของเส้นผม ผมร่วงสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยารักษา การผ่าตัด การรักษาด้วยเลเซอร์ การใช้วิกผม หรือแพทย์อาจรักษาแบบผสมผสานหลายวิธีเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงที่สุด โดยตัวอย่างการรักษาผมร่วงมีดังนี้
1. การรักษาด้วยยาทางการแพทย์
หากผมร่วงมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัว แพทย์จะรักษาโรคนั้น ๆ โดยการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบหรือยากดระบบภูมิคุ้มกัน แต่หากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผมร่วง แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ยาหรือรอจนกว่าจะไม่ต้องใช้ยานั้นแล้วค่อยทำการรักษาผมร่วง เช่น การทำเคมีบำบัด
ในปัจจุบันมียา 2 ชนิดสำหรับใช้รักษาผมร่วงที่ได้รับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้แก่
- ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาสำหรับใช้ทาหนังศีรษะ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
- ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) เป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน ซึ่งเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่ใช้ได้เฉพาะในเพศชายเท่านั้น
นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่สำหรับการรักษาผมร่วงเป็นหย่อมที่มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันทำลายรูขุมขน โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยให้อาการผมร่วงลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การศัลยกรรม
การศัลยกรรมปลูกผมเป็นทางเลือกที่ใช้ในการรักษาผมร่วงแบบถาวรวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะผมร่วงตรงกลางศีรษะ โดยแพทย์อาจใช้ยาในการรักษาผมร่วงร่วมด้วยทั้งก่อนและหลังการศัลยกรรม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การศัลยกรรมปลูกผมนั้นมีราคาแพง อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด และอาจมีความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อหรือเกิดแผลเป็นได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษา
3. การใช้วิกผม
การใช้วิกผมอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งทั้งสำหรับผู้ที่มีผมร่วงแบบถาวรหรือมีผมร่วงแบบชั่วคราวที่การรักษาทางการแพทย์ด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยวิกผมนั้นมีทรงผม รูปแบบ ความเป็นธรรมชาติ และคุณภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้ที่มีปัญหาผมร่วงสามารถเลือกใช้วิกผมที่เหมาะสมกับตัวเองได้ตามต้องการ
เคล็ดลับง่าย ๆ ในการป้องกันผมร่วง
ปัญหาผมร่วงอาจสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีนและธาตุเหล็ก เพราะการขาดโปรตีนและธาตุเหล็กเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดผมร่วงได้
- จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดผมร่วงได้
- ควรสระผม หวีผม หรือมัดผมอย่างเบา ๆ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรหยิบจับเส้นผมแรงเกินไป
- หลีกเลี่ยงการดึงผมหรือการม้วนบิดผมเล่น รวมถึงการทำทรงผมที่ต้องมัดแน่น
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดัดผมหรือม้วนผม รวมถึงการย้อมสีผม การดัดผม หรือการยืดผมที่ต้องใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมี
- ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมหากกำลังใช้ยาที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดผมร่วงได้ เพื่อหยุดใช้ยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน