ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน (Emergency Contraception Pill: ECP) เป็นหนึ่งในปัญหาของคู่รักที่ยังไม่พร้อมจะมีเจ้าตัวเล็กต้องเจอ แม้จะเป็นวิธีที่ดูง่ายและอาจช่วยคุมกำเนิดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่ควรรู้ก่อนใช้เช่นกัน
แพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินในบางกรณี เช่น มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันหรือไม่ยินยอม ลืมใช้ยาคุมกำเนิด หรือถุงยางฉีกขาด ซึ่งจะช่วยชะลอหรือป้องกันการตกไข่ ทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ยากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ตั้งใจได้ และยิ่งเรารีบใช้ยาคุมฉุกเฉินเร็วมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดก็จะยิ่งสูงเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วง 72 ชั่วโมงแรก
ชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบรับประทานที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาคุมที่มีตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) ยาคุมที่มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) และยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive Pills: COCs) ซึ่งผสมตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล และยาเอธินิลเอสตราไดออล (Ethinylestradiol) ไว้ด้วยกัน โดยยาแต่ละชนิดจะมีกรอบเวลาในการใช้ยาและปริมาณยาที่ต่างกัน จึงควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินส่วนใหญ่มักไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือในระยะยาว เนื่องจากตัวยาค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่บางรายอาจพบผลข้างเคียงในระยะสั้น ๆ บ้างเล็กน้อย เช่น
- รู้สึกป่วยหรือไม่สบาย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- คัดตึงหรือเจ็บเต้านม
- ปวดท้องน้อย ปวดหลัง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยอาจมาเร็วกว่าหรือช้ากว่าปกติประมาณ 2–7 วัน
ทั้งนี้ ยาคุมฉุกเฉินไม่ควรใช้บ่อย และม่ใช่การคุมกำเนิดในระยะยาวหรือถาวร จึงไม่กระทบต่อการตั้งครรภ์หรือลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์ในอนาคต ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ หรือรับประทานยาตามอาการ อย่างยาแก้ปวดหรือยาบรรเทาอาการคลื่นไส้
อย่างไรก็ตาม หากผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉินคงอยู่นานกว่า 2–3 วัน หรือสงสัยว่าตนเองอาจจะตั้งครรภ์ ประจำเดือนในรอบถัดไปมาช้าเกินกว่า 7 วัน ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ มีเลือดออกผิดปกตินานกว่า 7 วันหรือปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตรหรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
คนที่มีความกังวลหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจคุมกำเนิด โดยเฉพาะสตรีที่มีโรคประจำตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน และผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นในครั้งถัดไปด้วย