ผักชี สมุนไพรใกล้ตัว กับประโยชน์ต่อสุขภาพ

ผักชีเป็นพืชใกล้ตัวที่ได้รับความนิยมในหลากเมนูอาหาร เพราะมีรสชาติดีและอาจมีคุณค่าทางโภชนาการหลายด้าน เชื่อว่าผักชีอาจช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและย่อยอาหาร รักษาโรคผิวหนังบางชนิด และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราหรือแบคทีเรียได้ด้วย

ผักชี

แต่ในทางการแพทย์ ผักชียังคงเป็นอาหารที่เหมาะแก่การบริโภคในปริมาณเหมาะสม และยังไม่ได้รับรองให้นำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางรักษาโรคแต่อย่างใด แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนแสดงบางแง่มุมของผักชีที่อาจมีผลต่อสุขภาพ ดังนี้

ผักชีแก้ปัญหาท้องผูก

ผักชีเป็นพืชที่มีเส้นใยอาหารซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายดังเช่นพืชผักชนิดอื่น ๆ จึงมีงานวิจัยหนึ่งได้ทดสอบประสิทธิภาพของชาที่มีส่วนผสมของผักชี ผลลัพธ์ คือ การบริโภคชาที่มีส่วนผสมของผักชีเเป็นเวลา 1 เดือน อาจช่วยลดอาการท้องผูกในผู้ชราได้ อย่างไรก็ตาม ในการทดลองนี้ใช้สมุนไพรอื่นผสมลงไปในชานอกเหนือจากผักชีด้วย จึงควรค้นคว้าเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของผักชีในด้านนี้ต่อไป โดยเจาะจงที่การใช้ผักชีโดยเฉพาะ และศึกษาถึงประสิทธิผลในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ผักชีรักษาโรคลำไส้แปรปรวน

จากความเชื่อที่ว่าผักชีอาจมีคุณประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร จึงมีการทดลองนำผักชีไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งเพื่อรักษาอาการของผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) หลังจากผู้ป่วยบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของผักชีทุกวันหลังอาหารเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าอาการปวดท้องและท้องอืดได้บรรเทาลง แม้การทดลองนี้แสดงประสิทธิผลในทางที่ดี แต่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนมีส่วนประกอบของพืชชนิดอื่นอย่างสเปียร์มิ้นต์และสะระแหน่ฝรั่งด้วย จึงควรมีการค้นคว้าในด้านนี้ต่อไป โดยอาจใช้ผักชีเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้ประสิทธิผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต

ผักชีต้านเชื้อรา รักษาฮ่องกงฟุต

ฮ่องกงฟุต หรือโรคกลากที่เท้า (Interdigital Tinea Pedis) เป็นการติดเชื้อราบริเวณนิ้วเท้าจากเท้าอับชื้นหรือการสวมใส่รองเท้าที่คับจนเกินไป จากความเชื่อที่ว่าผักชีอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อราได้ และเคยมีการทดลองนำน้ำมันสกัดจากผักชีรักษาเซลล์เชื้อราในหลอดทดลองมาก่อน จึงเกิดการทดลองทาน้ำมันสกัดจากผักชีรักษาในผู้ป่วยฮ่องกงฟุตวันละ 2 ครั้ง จากนั้นจึงติดตามผลการรักษาในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 4 ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากผักชีช่วยให้อาการกลากที่เท้าบรรเทาลง และอาจทำให้จำนวนเชื้อราลดลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานค้นคว้าขนาดเล็ก ซึ่งอาจมีข้อจำกัดและปัจจัยบางประการ ทำให้ไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลที่แน่ชัดของผักชีในด้านนี้ได้ จึงควรขยายการวิจัยให้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

ผักชีต้านการอักเสบของในโรคผิวหนัง

เคยมีการวิจัยในหลอดทดลองพบว่าผักชีอาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบจากผิวไหม้แดดได้ จึงมีการทดลองนำโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันผักชีมาทาบนผิวของอาสาสมัคร จากนั้นจึงให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดและสังเกตรอยแดงที่เกิดขึ้นกับผิวหนังบริเวณนั้น จากการศึกษาพบว่าโลชั่นจากผักชีช่วยลดการเกิดรอยแดงและทำให้ไม่เกิดการระคายเคืองได้ง่าย อย่างไรก็ตามการทดลองนี้เป็นเพียงงานค้นคว้าขนาดเล็ก จึงควรขยายการวิจัยให้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาและป้องกันโรคผิวหนังอักเสบต่าง ๆ ได้ในอนาคต

ความปลอดภัยในการบริโภคผักชี

ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณในการรับประทานผักชีที่เหมาะสมแน่ชัดในการรับประทานผักชี ดังนั้น ผู้บริโภคควรรับประทานผักชีในปริมาณพอดี และคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อายุ สุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วยและโรคประจำตัว เป็นต้น

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นคำแนะนำบางส่วนในการบริโภคผักชี หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนบริโภคผักชี  

ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

  • การรับประทานผักชีในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างปลอดภัยในคนส่วนใหญ่
  • ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารสกัดจากผักชี ดังนั้น ผู้บริโภคควรทำตามคำแนะนำของจากแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้งาน โดยแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงประวัติการเจ็บป่วยและประวัติการใช้ยาก่อนเสมอ
  • การบริโภคผักชีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะขาดน้ำ ภาวะซึมเศร้า อาการแพ้ต่อสาร ผิวหนังหมองคล้ำ หรือผิวไวต่อแดด
  • เนื่องจากผักชีอาจทำให้ผิวไวต่อแดดมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วไป หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีผิวบาง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด ใช้ครีมกันแดด หรือแต่งกายมิดชิดปกปิดผิวหนังเสมอ
  • หากผิวหนังสัมผัสกับผักชี อาจเกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบได้

ผู้บริโภคที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผักชีปริมาณมากเกินไปและหลีกเลี่ยงการใช้ผักชีในรูปแบบยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอถึงผลกระทบจากผักชีในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีอาการแพ้พืชอย่างจิงจูฉ่าย ผักชีล้อม ผักชีลาว เมล็ดยี่หร่า เมล็ดผักชี หรือพืชในตระกูลที่ใกล้เคียงกัน อาจเสี่ยงเกิดอาการแพ้จากผักชีได้เช่นกัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอหากบริโภคผักชี เพราะผักชีอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง
  • ผู้ที่มีระดับความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่กำลังใช้ยาที่ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ควรบริโภคผักชีอย่างระมัดระวัง เพราะผักชีอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงจนเป็นอันตรายได้
  • ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดบริโภคผักชีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด เพราะผักชีอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัดได้