ผู้ป่วยมะเร็งกับโควิด-19 รู้ทันผลกระทบด้านสุขภาพและวิธีรับมือ

ผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยหรือกำลังรับการรักษา เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19 สูง เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้มักมีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่าคนทั่วไป เนื่องจากตัวโรคมะเร็งเองหรือเกิดจากการรักษาที่ได้รับอย่างเคมีบำบัด ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อกลุ่มโคโรนาไวรัส ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายผ่านการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในอากาศเมื่ออยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูกและน้ำลายของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางตา จมูกหรือปาก 

แม้ว่าทุกคนสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ผู้มีโรคประจำตัว อย่างโรคมะเร็ง จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหลังได้รับเชื้อ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งจากการติดเชื้อโควิด-19 มาฝากกัน

ผู้ป่วยมะเร็งกับโควิด-19 รู้ทันผลกระทบด้านสุขภาพและวิธีรับมือ

เหตุใดผู้ป่วยมะเร็งจึงเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19

ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งปอด มะเร็งระยะลุกลาม (Metastatic Malignancies) และผู้ที่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งมีความเสี่ยงต่อการอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ส่วนผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่น ๆ ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อ มีดังนี้

  • มะเร็งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

โรคมะเร็งทำให้ภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อต่ำลง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากเซลล์มะเร็งทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวและระบบน้ำเหลืองแย่ลง ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดีเท่าคนทั่วไป เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้ง่าย

  • มะเร็งส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น

มะเร็งอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงได้ เช่น มะเร็งปอดและมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังปอด เนื้อมะเร็งดังกล่าวอาจกดเบียดหรือทำให้เกิดการอุดตัน ทำให้ปอดและหลอดลมของผู้ป่วยทำงานผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงเกี่ยวกับปอดหากติดเชื้อโควิด-19

  • การรักษามะเร็งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

นอกจากตัวโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การรักษามะเร็งอย่างการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการฉายแสง (Radiation therapy) อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยอ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่ยังจำเป็นต้องเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง อาจมีโอกาสรับเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีความเสี่ยงสูงขึ้นคือ ผู้ป่วยมะเร็งส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ และอาจมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งทำให้ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็ง

ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งจากโรคโควิด-19 อาจแตกต่างกันตามแต่ละบุคคลเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอาการและความรุนแรงของมะเร็ง อายุ โรคประจำตัวอื่น ๆ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จึงยังไม่สามารถระบุผลกระทบต่อสุขภาพจากโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่ชัด และจำเป็นต้องรอดูผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ตับ ไต และขา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยมะเร็งในระยะยาวตามมา เช่น ปัญหาในการหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ตัวโรคมะเร็งและการรักษามะเร็งบางอย่าง อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยมะเร็งควรป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19 อย่างไร

ผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว และเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19 อาจต้องชะลอการรักษามะเร็งออกไป ผู้ป่วยจึงควรป้องกันตัวเองจากการได้รับเชื้อโควิด-19 ดังนี้

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ผู้ป่วยมะเร็งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมีคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ผู้ป่วยมะเร็งชนิดที่เป็นก้อน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยามะเร็งชนิดมุ่งเป้า ยาต้านฮอร์โมน ยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถรับวัคซีนได้ทันทีที่มีโอกาส โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีน หากได้รับการผ่าตัดควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 วันหลังผ่าตัด
  • ผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เซลล์บำบัด หรือได้รับยากลุ่มริทูซิแมบ (Rituximab) โดยส่วนใหญ่แล้วต้องรอให้ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) กลับมาเป็นปกติ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นกัน
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือดและภูมิคุ้มกันบำบัดโดย CAR T-Cell ควรเว้นระยะเวลาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 3 เดือน
  1. ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา

แพทย์จะประเมินจากอาการและความรุนแรงของอาการ โดยอาจนัดตรวจติดตามอาการแบบทางไกล (Telemedicine) ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาครบถ้วนแล้ว และผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด แพทย์อาจให้ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน เพื่อลดการมารักษาที่โรงพยาบาล และลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาด้วยการฉายรังสี เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัดบางชนิด หากผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อระหว่างการรักษา เช่น มีไข้สูง ไอ หายใจลำบาก ปัสสาวะแสบขัด และมีอาการบวมแดงและเจ็บที่ผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

  1. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19

ผู้ป่วยมะเร็งควรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้ง เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธาณะหรือไปสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% และเมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

ทั้งนี้ รวมไปถึงญาติและคนใกล้ชิดของผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วย 

ผู้ป่วยมะเร็งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงหลังติดเชื้อโควิด-19 แต่สามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ด้วยการดูแลตนเองและรับการรักษาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ หากผู้ป่วยมะเร็งมีอาการที่เข้าข่ายโรคโควิด-19 ควรไปรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป

ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564