ผ่าตัดริดสีดวงกับเรื่องที่ควรรู้

ผ่าตัดริดสีดวง คือวิธีรักษาโรคริดสีดวงทวารชนิดภายนอกที่มีลิ่มเลือดจับตัวเป็นก้อน และริดสีดวงชนิดภายในที่หย่อนออกมาจากช่องทวารหนัก ซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงขนาดใหญ่ร่วมกับมีเลือดออกหรือเจ็บแผลรุนแรง

ผ่าตัดริดสีดวง

ควรผ่าตัดริดสีดวงตอนไหน ?

โดยทั่วไป แผลริดสีดวงดีขึ้นเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงและดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว รวมทั้งใช้ยาที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มและทาขี้ผึ้งเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

  • อาการป่วยไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยวิธีอื่น
  • เกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองหรือติดเชื้อได้
  • มีเลือดออกมากเกินไป
  • ริดสีดวงหย่อนออกมานอกรูทวารหนัก และดันกลับเข้าไปไม่ได้
  • ริดสีดวงมีขนาดใหญ่มาก

เตรียมตัวผ่าตัดริดสีดวงอย่างไร ?

ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดริดสีดวง ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา ดังนี้

  • ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการผ่าตัดริดสีดวง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยารักษาโรคที่กำลังใช้ เนื่องจากอาจต้องหยุดใช้ยาบางชนิดก่อนรับการผ่าตัด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน วาร์ฟาริน อะพิซาแบน โคลพิโดเกรล และยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น ๆ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ยาก
  • งดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเป็นเวลา 6-12 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผ่าตัดริดสีดวงทำอย่างไรได้บ้าง ?

การผ่าตัดริดสีดวงมีหลายวิธี ดังนี้

  • การตัดริดสีดวง (Hemorrhoidectomy) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนผ่าตัด โดยตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยว่าจะเลือกวิธีใด ฉีดยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ตั้งแต่ส่วนเอวลงมา หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ ฉีดบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรง ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ยาระงับประสาทร่วมด้วย ในกรณีที่ฉีดยาชาหรือยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลายมากขึ้นระหว่างการผ่าตัด หลังจากนั้นจึงผ่ารอบทวารหนักและนำริดสีดวงออกมา ผู้ป่วยต้องพักฟื้นหลังผ่าตัดเพื่อดูอาการจนกว่าจะพ้นขีดอันตราย ก่อนจะกลับไปพักต่อที่บ้าน ซึ่งมักใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ หรือนานถึง 3-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การตัดริดสีดวงอาจเสี่ยงเกิดอาการเจ็บปวดหรือติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยควรรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง เพื่อระงับอาการปวดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกลับไปเป็นริดสีดวงทวารอีกครั้ง
  • การตัดเย็บหัวริดสีดวง (Stapled Hemorrhoidectomy) หากผู้ป่วยมีริดสีดวงหย่อนออกมาภายนอก แพทย์จะใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงให้กลับเข้าไปในลำไส้ตรง เพื่อป้องกันเลือดไหลไปเลี้ยงริดสีดวง ทำให้เนื้อเยื่อเล็กลงและตายไป วิธีนี้ส่งผลให้มีเลือดออกน้อย ไม่ค่อยรู้สึกระคายเคือง และใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่ารักษาด้วยวิธีตัดริดสีดวง
  • การเย็บผูกริดสีดวงทวาร (Hemorrhoidal Artery Ligation) เป็นวิธีผ่าตัดริดสีดวงเพื่อลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงริดสีดวงและทำให้ริดสีดวงเล็กลง โดยหลังจากฉีดยาระงับความรู้สึกให้ผู้ป่วย แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปในทวารหนักเพื่อให้เห็นตำแหน่งของริดสีดวง และเย็บหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงริดสีดวงให้ปิดสนิท การเย็บผูกริดสีดวงทวารเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น รวมทั้งมีความเสี่ยงต่ำที่จะทำให้เกิดเลือดออก เจ็บทวารเมื่อถ่ายอุจจาระ หรือริดสีดวงหย่อนหลังเข้ารับการผ่าตัด

นอกจากนี้ การรักษาริดสีดวงทวารยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ไม่เสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการดมยาสลบ ทั้งยังใช้เวลาดำเนินการรักษาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางรัดในกรณีที่เกิดริดสีดวงทวารภายใน การฉีดยาให้ริดสีดวงฝ่อ (Sclerotherapy) หรือการจี้ริดสีดวงให้หดเล็กลงด้วยแสงอินฟราเรด ความร้อน ความเย็น เป็นต้น

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดริดสีดวง

การผ่าตัดริดสีดวงด้วยวิธีต่าง ๆ อาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนักได้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์สั่งจ่าย และดูแลตนเองเพื่อพักฟื้นอาการ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์สูง
  • ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว
  • ใช้ยาช่วยให้อุจจาระไม่แข็งตัวตามคำสั่งของแพทย์
  • เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงเกร็ง เช่น ยกหรือลากของหนัก
  • ควรนั่งแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที เพื่อรักษาความสะอาดและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณทวารหนัก
  • หลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่งอุจจาระหรือนั่งอุจจาระนาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดริดสีดวง

การผ่าตัดริดสีดวงเป็นวิธีรักษาริดสีดวงทวารที่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้น้อย อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลังการผ่าตัด มีดังนี้

  • เลือดออกหรือมีลิ่มเลือดปนมากับอุจจาระเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
  • เกิดการติดเชื้อจนมีหนองและกลายเป็นฝี ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะหลังผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ปัสสาวะไม่ออก เนื่องจากเกิดอาการบวมหรือการหดเกร็งที่กล้ามเนื้อ
  • อุจจาระเล็ดออกมาเอง เนื่องจากหูรูดทวารหนักถูกทำลายระหว่างผ่าตัด
  • เกิดฝีคัณฑสูตรบริเวณรูทวารหนัก
  • รูทวารหนักตีบลง ซึ่งภาวะนี้เสี่ยงเกิดกับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงขึ้นรอบรูทวารหนักได้มากที่สุด

ผู้ที่ประสบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะได้รับการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดอื่นเพิ่มเติม หากสังเกตพบว่ามีเลือดออกมากเกินไป ไข้ขึ้นสูง ปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ออก หรืออาการปวดบวมรอบทวารหนักแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที