ผ่าตัดสมอง รู้จักวิธีการและการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา

ผ่าตัดสมอง เป็นวิธีการรักษาโรค ปัญหาสุขภาพ หรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณสมอง เช่น เลือดคั่งในสมอง เนื้องอกในสมอง ฝีในสมอง หลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยประเภทและวิธีการผ่าตัดสมองอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ต้องการรักษา

สมองเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง และมีหน้าที่คอยควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การพูด การเคลื่อนไหว ความจำ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณสมอง ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพหรืออาการบาดเจ็บต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและร่างกายได้ ดังนั้น การได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการผ่าตัดสมองอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงจนอาจเป็นอันตรายได้

Brain Surgery

ทำความรู้จักวิธีการผ่าตัดสมอง

ผ่าตัดสมองเป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจใช้ในการรักษาตามโรคหรือปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไป เช่น

การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy)

การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเป็นวิธีการผ่าตัดสมองชนิดหนึ่งที่มักนำมาใช้เพื่อตรวจสอบเนื้องอกในสมองว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กและสอดเข็มเข้าไปเพื่อทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อภายในสมอง จากนั้นจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งและวางแผนการรักษาต่อไป

การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Craniotomy)

การผ่าตัดสมองด้วยวิธีการเปิดกะโหลกศีรษะมักนำมาใช้ในการรักษาหลายชนิด เช่น การรักษาเนื้องอกในสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง โดยแพทย์จะผ่าเปิดกะโหลกศีรษะ ทำการรักษาภายในบริเวณสมอง และปิดกะโหลกศีรษะกลับเข้าที่เดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพบางชนิด แพทย์อาจเปิดกะโหลกศีรษะทิ้งไว้เพื่อลดความดันภายในกะโหลกศีรษะ จากนั้นจะปิดกะโหลกศีรษะกลับเข้าที่เดิมในการผ่าตัดครั้งถัดไป

การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation: DBS) 

การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึกเป็นการผ่าตัดที่สมองที่นำมารักษาโรคพาร์กินสัน โรคสั่น รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่าง ๆ โดยแพทย์จะฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ที่บริเวณสมองส่วนลึก จากนั้นจะเชื่อมต่อเข้ากับแบตเตอรี่ที่ติดตั้งไว้บริเวณหน้าอก โดยกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจะช่วยให้สมองทำงานเป็นปกติและช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้

การผ่าตัดสมองผ่านการส่องกล้อง (Neuroendoscopic)

แพทย์จะสอดท่อที่มีปลายท่อเป็นกล้องขนาดเล็กเข้าสู่โพรงจมูกหรือปากเพื่อตัดเนื้องอกในสมอง หรือใช้ในการรักษาโรคอื่น ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเจาะหรือเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อทำการรักษา

ในการผ่าตัดสมองบางครั้ง ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องรู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด โดยแพทย์และวิสัญญีแพทย์จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจขอให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทำท่าทาง เคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน หรือให้ทำสิ่งต่าง ๆ ขณะที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้แพทย์ระบุตำแหน่งและรักษาสมองส่วนที่เสียหายให้กลับมาเป็นปกติ

โดยการผ่าตัดสมองแต่ละวิธีมักใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 2–6 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัดและอาการของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองอาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเพียงอย่างเดียว เช่น โรคลมชัก ซึ่งแพทย์อาจรักษาโรคลมชักด้วยการจ่ายยาต้านชักเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือโรคลมชักไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดสมองเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดสมอง

แพทย์จะแจ้งข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงวิธีการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดสมอง ซึ่งในเบื้องต้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือการตรวจอื่น ๆ เช่น เอ็มอาร์ไอ (MRIs) ซีที สแกน (CT scans) เพื่อตรวจดูความพร้อมในการเข้าผ่าตัดสมองและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองสามารถเตรียมตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อระยะเวลาในการฟื้นฟูบาดแผลอีกด้วย
  • หยุดยาบางชนิดล่วงหน้าตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบต่าง ๆ เนื่องจากยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการผ่าตัดสมองได้
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หากรู้สึกเหมือนจะไม่สบาย มีไข้ หรือไอ ใกล้วันที่ต้องเข้าผ่าตัด ควรรีบโทรหาโรงพยาบาลเพื่อสอบถามว่าสามารถเข้าผ่าตัดได้หรือไม่ หากไม่ได้ ทางโรงพยาบาลอาจเลื่อนนัดไปวันอื่นจนกว่าอาการไม่สบายจะดีขึ้น
  • เตรียมเอกสารสำคัญสำหรับการนอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัวผ่าตัดสมอง เช่น บัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย รวมไปถึงของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างการนอนโรงพยาบาล เช่น หวี สบู่ ยาสระผม แว่นตา ผ้าอนามัย 
  • งดกินอาหารหรือน้ำดื่มก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักหรืออาเจียนระหว่างการผ่าตัด
  • แจ้งกำหนดการการผ่าตัดให้เพื่อนและครอบครัวทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะวันที่ออกจากโรงพยาบาล เพราะหลังพักฟื้นจากการผ่าตัดสมองในโรงพยาบาล ร่างกายอาจยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ จึงควรมีเพื่อนหรือครอบครัวมารับกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น แพ้ยาสลบ การติดเชื้อ มีเลือดออกในสมอง สมองบวม ภาวะโคม่า ความผิดปกติด้านการพูด การมองเห็น การได้ยิน หรือการทรงตัว ชัก 

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดต้องนอนพักฟื้นเพื่อดูอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้น แพทย์จะอนุญาตให้รักษาตัวต่อที่บ้านเมื่ออาการเริ่มดีขึ้น โดยผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจดูแผลและอาการต่าง ๆ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกายจากการผ่าตัดสมองอาจเร็วหรือช้าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล