เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการผ่าตัดไส้ติ่ง

ผ่าตัดไส้ติ่ง (Appendectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำไส้ติ่งออกไป เนื่องจากมีการอักเสบของไส้ติ่งจนทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณรอบสะดือลงมาถึงท้องด้านล่างขวา และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาจนไส้ติ่งที่อักเสบแตก จะทำให้มีหนองไหลเข้าสู่ช่องท้อง หรือนำไปสู่การติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การผ่าตัดไส้ติ่งถูกใช้ใน 2 กรณี คือเมื่อตรวจพบว่ามีไส้ติ่งอักเสบและบวม แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกไป ซึ่งจะเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการรักษา แต่หากไส้ติ่งมีการอักเสบมากจนแตกในช่องท้อง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินและจะมีความซับซ้อนในการรักษามากยิ่งขึ้น

การผ่าตัดไส้ติ่ง

ขั้นตอนการผ่าตัดไส้ติ่ง

การผ่าตัดไส้ติ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้ติ่ง
แพทย์จะถามประวัติ อาการ และตรวจร่างกายด้วยการกดบริเวณท้องตามจุดต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดท้อง และประเมินว่าเป็นลักษณะไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ และอาจแนะนำให้ตรวจเลือดหรือฉายภาพรังสีเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย

ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยารักษาชนิดใด กำลังเจ็บป่วยหรือรักษาอาการป่วยใดอยู่ เคยเจ็บป่วยหรือเคยได้รับการรักษาประเภทใด มีประวัติภาวะเลือดออกผิดปกติหรือไม่ มีประวัติการแพ้ยาชนิดใด เช่น แพ้ยาสลบ แพ้ลาเท็กซ์ซึ่งเป็นสารประกอบในถุงมือแพทย์ และในกรณีที่กำลังตั้งครรภ์หรือคาดว่ากำลังตั้งครรภ์ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน

หากทราบล่วงหน้าว่าต้องผ่าตัดไส้ติ่ง ควรแจ้งให้ครอบครัว เพื่อน และบุคคลใกล้ชิดทราบ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นคอยดูแลหรือขับรถรับส่งผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัด เนื่องจากนอกเหนืออาการเจ็บปวดที่แผลผ่าตัด อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมและไม่สามารถดูแลตนเองได้

นอกจากนั้น ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่ง

การผ่าตัดไส้ติ่ง
แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีการผ่าตัดตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ความรุนแรงของการอักเสบ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยมีการผ่าตัดไส้ติ่ง 2 วิธี ดังต่อไปนี้

1. การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง (Open Appendectomy) 

แพทย์จะผ่าเปิดช่องท้องบริเวณช่วงท้องด้านล่างขวาเป็นความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วตัดไส้ติ่งซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่เชื่อมติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้นออก จากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผล วิธีการนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อการทำความสะอาดเนื้อเยื่อและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงหากมีการอักเสบของไส้ติ่งจนไส้ติ่งแตก และเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดหน้าท้องมาก่อน

2. การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Appendectomy หรือ Keyhole Surgery) 

แพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดท่อขนาดเล็กที่เรียกว่า แคนนูล่า (Cannula) เข้าไปตามช่องเพื่อขยายช่องท้องด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจะสอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า แลพพาโรสโคป (Laparoscope) ซึ่งเป็นท่อบาง ๆ ที่มีความยาว มีหลอดไฟและมีกล้องความละเอียดสูงอยู่ที่ปลายท่อ ซึ่งจะคอยส่งสัญญาณภาพให้แพทย์ผ่าตัดพบบริเวณที่เป็นไส้ติ่ง

แล้วแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องเล็ก ๆ ที่ผ่าบริเวณหน้าท้อง เพื่อทำการตัดแล้วนำไส้ติ่งออกมา 

จากนั้นจึงทำความสะอาด เย็บปิด และตกแต่งบาดแผลทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม เนื่องจากวิธีนี้จะลดความเสี่ยงที่อวัยวะภายในอาจได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ทำให้เกิดแผลเล็กกว่า และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วน 

สำหรับการใช้ยาสลบและยาระงับความรู้สึกในการผ่าตัดไส้ติ่ง แพทย์จะใช้ยาสลบและยาระงับความรู้สึกบางชนิดฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวตลอดระยะเวลาที่ทำการผ่าตัด แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดบริเวณที่ต้องทำการผ่าตัดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงความเจ็บปวด แต่จะยังคงรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่าตัด

การดูแลหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง
การดูแลหลังการผ่าตัดไส้ติ่งมีดังต่อไปนี้

การพักฟื้นหลังการผ่าตัด
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายชั่วโมง 1 คืน หรือ 1–3 วัน ตามสภาพร่างกายและดุลยพินิจของแพทย์ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อรอดูอาการ สังเกตการเต้นของชีพจร การหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ 

แพทย์จะพิจารณาสภาพอาการของผู้ป่วยโดยรวม ประเภทของการผ่าตัดที่ใช้ และการตอบสนองต่อการผ่าตัดของร่างกายผู้ป่วย หากไม่พบสัญญาณที่เป็นอันตราย จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้หากไม่มีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะฟื้นตัวและหายดีเป็นปกติภายใน 4–6 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การรักษาด้วยยา
แพทย์อาจจ่ายยาดังต่อไปนี้ให้กับผู้ป่วย

  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะบางชนิดเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ยาต้านอาการอาเจียน ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วนและอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ยาแก้ปวด กลุ่มยาแก้ปวดใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด

หากมีอาการเจ็บปวดหรือต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบรับประทานยาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลทันที ไม่ควรรอจนอาการรุนแรงจึงเริ่มรับประทานยาหรือขอความช่วยเหลือ และกลุ่มยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เวียนหัวหรือง่วงนอนได้ จึงควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อขอความช่วยเหลือได้ในยามจำเป็น

การรับประทานอาหารหลังผ่าตัด
แพทย์จะพิจารณาว่าควรรับประทานอาหารได้เมื่อใด และอาจให้เริ่มรับประทานอาหารและเครื่องดื่มอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย อย่างน้ำเปล่า น้ำผลไม้ ไอศกรีม น้ำซุป และเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอออล์ หากไม่มีอาการปวดท้องหรือท้องไส้ปั่นป่วนตามมา จึงค่อย ๆ เริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ จนสามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มโดยปกติในภายหลัง

การใช้ชีวิตประจำวันหลังผ่าตัด
ควรรักษาความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ นอนพักรักษาตัวหากรู้สึกอ่อนล้า และลุกเดินออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ้างเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงหรือพละกำลังอย่างหนักจนกว่าร่างกายจะกลับสู่สภาพปกติ 

หากรู้สึกเจ็บปวดหรือต้องการความช่วยเหลือ ควรรีบขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้ดูแลทันที

การสังเกตสัญญาณการติดเชื้อ
แผลจากการผ่าตัดและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะทุเลาลงภายใน 2-3 วันหลังการพักฟื้น แต่หากมีอาการอื่นที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยอาการที่เป็นสัญญาณเหล่านั้น ได้แก่

  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ตัวหนาวสั่น
  • มีรอยแดงหรือบวมรอบแผลผ่าตัด
  • ไม่อยากอาหาร
  • อาเจียน 
  • ท้องร่วงหรือท้องผูกนานเกินกว่า 2 วัน
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง

หลังการผ่าตัดไส้ติ่ง ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงหรือความผิดปกติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ผลข้างเคียงจากใช้ยาสลบ

การใช้ยาสลบอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือในบางกรณีอาจมีลิ่มเลือดอุดตันที่ขา หากมีลิ่มเลือดไหลไปอุดตันที่ปอด จะก่อปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากหากเป็นการผ่าตัดในช่วงเวลาสั้น ๆ

ความผิดปกติบริเวณที่ไส้ติ่งอักเสบ

  • การเกิดฝีหนองบริเวณที่ผ่าเอาไส้ติ่งออกไปแล้ว
  • การติดเชื้อบริเวณที่ผ่าเอาไส้ติ่งออกไปแล้ว

ความผิดปกติบริเวณช่องท้องและอวัยวะใกล้เคียง

  • การเกิดความเสียหายที่เนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ภายในท้อง
  • การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้อง
  • การเกิดลำไส้อุดตัน 
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ภาวะเลือดออกในช่องท้อง

ความผิดปกติบริเวณแผลผ่าตัด

  • ภาวะเลือดออกที่แผลผ่าตัด
  • การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด

ความเสี่ยงอื่น ๆ

  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาหรือแขน ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมตามตามแขนขาได้ และหากลิ่มเลือดไหลไปอุดตันที่ปอด จะเกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • หากใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง จะมีความเสี่ยงจากการใช้ก๊าซเปิดช่องท้อง ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยเจ็บปวดบริเวณหน้าอกและไหล่ 1-2 วันหลังการผ่าตัดได้อีกด้วย