7 เคล็ดลับฝึกพูด เสริมพัฒนาการเจ้าตัวน้อย

การฝึกพูดเป็นวิธีที่จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการทางด้านการสื่อสารเหมาะสมตามช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่าทารกเริ่มจดจำและเรียนรู้จากเสียงตั้งแต่อยู่ภายในครรภ์ นอกจากการฝึกพูดจะช่วยเสริมพัฒนาการแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านการสื่อสารของเด็กได้ด้วย

ในบทความนี้มีเคล็ดลับการฝึกพูดและลำดับพัฒนาการทางด้านการพูดในเด็กทารกและเด็กเล็กมาฝากกัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย โดยปกติแล้ว เด็กเล็กมักเริ่มพูดเป็นคำชัดเจนเมื่อมีอายุ 1-2 ขวบ แต่ถ้าเจ้าตัวน้อยไม่ยอมพูดหรือมีการตอบสนองต่อการสื่อสารที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น นี่อาจเป็นสัญญาณของพัฒนาการที่ผิดปกติได้ ซึ่งการศึกษาพัฒนาการทางด้านการสื่อสารของทารกและเคล็ดลับในการฝึกพูดอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผน เพื่อรับมือหรือส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ดีขึ้น

ฝึกพูด

พัฒนาการทางพูดในเด็กทารก

ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในแต่ละช่วงวัยอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่วางแผนในการฝึกพูดกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่ายขึ้นด้วย โดยพัฒนาการทางการพูดของทารก มีดังนี้

ช่วงอายุ 1-4 เดือนแรก

ทารกในช่วง 4 เดือนแรก มักสื่อสารด้วยเสียงอ้อแอ้ ใช้ปากทำเสียงต่าง ๆ ที่ไม่มีความหมาย และใช้โทนเสียงในการร้องไห้ที่ต่างกัน เพื่อแสดงความต้องการที่ต่างกัน

ช่วงอายุ 5-6 เดือน

ในช่วง 5 เดือนจนถึงครึ่งปีแรก เจ้าตัวน้อยจะสามารถตอบสนองต่อการเรียกชื่อด้วยการหันไปหาที่มาของเสียง เริ่มตอบสนองต่อของเล่นที่มีเสียงและเสียงดนตรี รู้จักการใช้น้ำเสียงที่ต่างกัน เพื่อแสดงความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ

ช่วงอายุ 9-12 เดือน

เด็กจะเริ่มสื่อสารด้วยการออกเสียงคำที่คุ้นเคยพร้อมแสดงท่าทางประกอบ เข้าใจการสื่อสารด้วยประโยคง่าย ๆ อย่างมาหาคุณแม่หน่อย รู้จักสิ่งของทั่วไป มีการเลียนแบบเสียงของคุณพ่อคุณแม่ โดยมักใช้คำที่มีพยางค์เดียว แต่การออกเสียงจะยังไม่ชัดเจนหรือสมบูรณ์

ช่วงอายุ 1-1 ขวบครึ่ง

ในช่วงปีแรก เด็กจะเริ่มพูดคำง่าย ๆ และออกเสียงได้อย่างชัดเจน สามารถจดจำชื่อของคนอื่น ๆ ในครอบครัว รู้จักอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถตอบสนองต่อคำขอหรือคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ได้

ช่วงอายุ 1 ขวบครึ่ง-2 ขวบ

การใช้คำเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น โดยคำศัพท์ที่เด็กรู้จักอาจมีประมาณ 50-80 คำ สื่อสารด้วยการใช้คำที่มีความหมายมาเรียงต่อกัน มีความเข้าใจประโยคหรือคำสั่งที่ซับซ้อนมากขึ้น

ช่วงอายุ 2-3 ขวบ

เด็กในช่วงวัยนี้จะสามารถสื่อสาร โต้ตอบ หรือร้องขอด้วยวลีหรือประโยคสั้น ๆ

การพูดช้าหรือพัฒนาการทางด้านการสื่อสารที่ช้าในเด็กทารกอาจมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม การได้ยินบกพร่อง ภาวะออทิสติก รวมทั้งขาดการฝึกพูดและการกระตุ้นอย่างเหมาะสม ดังนั้น หากเจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ อย่างการไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วง 10 เดือนแรก ไม่สามารถเข้าใจในคำสั่งหรือไม่พูดคำแรกในช่วง 15 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อหาสาเหตุ 

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ปัญหาการไม่ยอมพูดเท่านั้นที่อาจแสดงถึงความผิดปกติ แต่ยังรวมไปถึงเจ้าตัวน้อยพูดเก่งและพูดไม่หยุด แต่กลับเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันหรือคนละเรื่องในขณะนั้น นี่ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรสังเกตเช่นกัน

7 เคล็ดลับฝึกพูดสำหรับเจ้าตัวน้อย

มีหลายเคล็ดลับที่คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นทักษะการพูดของลูกน้อยได้ ดังนี้

1. เริ่มพูดคุยตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์

คุณแม่หลายคนอาจเคยลูบท้องที่กำลังโตขึ้น พร้อมสื่อสารกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในนั้น ซึ่งการพูดคุยในรูปแบบนี้อาจมีประโยชน์กว่าที่คิด เพราะเด็กทารกสามารถจดจำและเรียนรู้เสียงของคุณแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

2. ใช้น้ำเสียงให้ตรงกับสถานการณ์

โทนเสียงหรือน้ำเสียงในการสื่อสารหรือแม้แต่การเล่าเรื่องก็มีผลต่อการทำความเข้าใจในประโยคได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประโยคคำถาม ประโยคคำสั่ง รวมไปถึงการเลียนเสียงของสัตว์ชนิดต่าง ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจการออกเสียงและเรียนรู้เสียงต่าง ๆ ได้มากขึ้น

3. ตอบสนองต่อการโบกไม้โบกมือ

แม้ว่าทารกจะไม่สื่อสารด้วยการพูดเป็นคำหรือเป็นประโยคได้ แต่หลายครั้งที่เด็กพยายามแสดงสีหน้าและท่าทางต่าง ๆ กับคนรอบข้าง ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจที่เจ้าตัวน้อยสื่อสาร ก็ควรตอบสนองต่อการสื่อสารของลูกแม้ว่าเด็กจะไม่มีเสียงโต้ตอบกลับมาก็ตาม ในกรณีที่ลูกน้อยทำท่าอุ้มหรือชี้ อาจลองพูดกับลูกด้วยประโยคง่าย ๆ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีในการสื่อสารมากขึ้น เช่น อยากได้อันนี้หรอ หรืออยากให้อุ้มใช่ไหม เป็นต้น

4. เล่านิทานให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

การเล่านิทานหรือเรื่องราวต่าง ๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมจินตนาการของเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้คำและประโยคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่การเล่าธรรมดา ๆ อย่างเดียวอาจไม่พอ คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้เคล็ดลับหรือเทคนิคอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการเล่าเรื่อง เช่น การตั้งประโยคคำถามเกี่ยวกับภาพที่ปรากฏในหนังสือนิทาน อย่างเห็นนั่นไหม เด็กคนนั้นทำอะไรอยู่ เพื่อถามความคิดเห็นของลูก แม้ว่าเด็กจะไม่สามารถโต้ตอบออกมาเป็นคำได้ก็ตาม หรือใช้การอธิบายลักษณะและรายละเอียดของสิ่งของ ฉากประกอบในนิทาน อย่างขนาด สี รูปร่าง รูปทรง หรือผิวสัมผัส อาจช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจได้มากขึ้น

5. ใช้เพลงเป็นตัวช่วย

การใช้เพลงหรือดนตรีอาจช่วยให้การฝึกพูดระหว่างคุณแม่และลูกน้อยมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันมีเพลงเสริมทักษะทางด้านการพูดและฟังอยู่ไม่น้อย สามารถเข้าถึงง่าย ซึ่งเพลงและดนตรีจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เสียงหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ดนตรีและเพลงที่ผ่านสื่อตัวกลางอย่างแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์นั้นเชื่อกันว่าอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กเมื่อใช้มากเกินไป ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจกระทบต่อพัฒนาการลูกน้อยในอนาคต

6. หาเพื่อนให้เจ้าตัวน้อย

การสื่อสารกับคนใกล้ชิดอาจช่วยให้เด็กพัฒนาได้ในระดับหนึ่ง แต่การพาลูกน้อยออกไปพบเจอกับเพื่อนใหม่อาจเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางด้านการสื่อสาร รวมถึงช่วยให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้อื่น ๆ ที่ไม่ใช้คนใกล้ชิด ซึ่งอาจช่วยให้เด็กเตรียมตัวสำหรับการเข้าสังคม พร้อมพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการพูด

7. ให้คำชม

คำชมเป็นการเสริมแรงที่จะช่วยสนับสนุนลูกน้อยให้พูดได้ถูกต้องมากขึ้น และยังช่วยให้เด็กอยากพัฒนาการพูดมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรชมเชยเมื่อลูกน้อยสามารถพูดประโยคยาก ๆ หรือเวลาที่เด็กสามารถเรียงประโยคและใช้คำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเริ่มจดจำวิธีในการใช้คำที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกด้วยคำที่สั้นและง่าย พูดให้ชัดและใช้ระดับเสียงที่เหมาะสม รวมไปถึงควรเอาใจใส่เรื่องอื่น ๆ อย่างเรื่องอาหาร สุขอนามัย และพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุข 

อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการการฝึกพูดให้กับเจ้าตัวเล็กที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาปรับใช้ เพื่อเสริมพัฒนาการในการพูดของลูกได้ หากพบปัญหาหรือขาดความรู้ในการกระตุ้นพัฒนาการในเด็กอย่างเหมาะสม ก็อาจขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการในเด็กเพิ่มเติม