พังผืดใต้ลิ้นเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดและทารก เด็กที่มีภาวะนี้จะพบว่าใต้ลิ้นมีพังผืดที่สั้นหรือหนาผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถยกลิ้นหรือยกลิ้นได้เพียงเล็กน้อย หากภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ เช่น การดูดนมแม่ ความสะอาดในช่องปาก การรับประทาน การพูด และการกลืนอาหารเมื่อโตขึ้น
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดพังผืดใต้ลิ้นที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและมักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยปกติแล้วแพทย์สามารถตรวจพบภาวะนี้ได้ภายหลังทารกคลอดออกมา แต่หากอาการยังไม่เด่นชัดหรือการตรวจทำได้ยาก ก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาพังผืดใต้ลิ้นในภายหลังได้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีพังผืดใต้ลิ้น
ในช่วงที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ลิ้นของทารกจะยังเชื่อมติดกับพื้นใต้ลิ้น และค่อย ๆ เริ่มแยกออกมาเองเมื่อเริ่มทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้น จนเหลือเพียงเนื้อเยื่อบาง ๆ ใต้ลิ้นที่ยึดติดระหว่างลิ้นกับพื้นใต้ลิ้นเมื่อคลอดออกมา แต่ทารกที่มีพังผืดใต้ลิ้น เนื้อเยื่อใต้ลิ้นที่ควรจะหดเล็กลงจะยังคงมีความหนาอยู่ จึงทำให้ขยับลิ้นได้เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถยกลิ้นหรือกระดกลิ้นได้ดี
โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตดูว่าลูกน้อยมีพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่จากลักษณะอาการต่อไปนี้
- เด็กไม่สามารถยื่นลิ้นออกมาเกินฟันล่างด้านหน้าได้
- ลิ้นของเด็กมีรูปร่างคล้ายหัวใจขณะพยายามยื่นลิ้น
- เด็กกินนมน้อย หรืออาจหยุดกินนมเป็นช่วง ๆ ขณะให้นม เพราะลิ้นติดทำให้ดูดนมเองได้ยาก
- เด็กดูดนมเสียงดัง
- เด็กหิวบ่อย งอแงบ่อย
- น้ำหนักตัวเด็กไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นช้า
นอกจากการสังเกตอาการของลูกน้อยแล้ว คุณแม่อาจสังเกตตัวเองร่วมด้วยได้ โดยคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้ลูกดูดนมจากเต้าอาจจะมีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตกมากขึ้นกว่าคุณแม่ทั่วไป มีน้ำนมน้อยผิดปกติ และอาจส่งผลให้เต้านมอักเสบ
ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาในตอนเด็ก ภาวะพังผืดใต้ลิ้นอาจส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาอื่นในตอนที่เริ่มโต เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการออกเสียงบางคำ มีปัญหาเกี่ยวกับการขยับลิ้น และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน
พังผืดใต้ลิ้นในเด็ก รักษาได้อย่างไร
อาการพังผืดใต้ลิ้นในเด็กบางคนอาจค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น หรือหากเด็กมีพังผืดใต้ลิ้นเพียงเล็กน้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อการกินนม แพทย์อาจนัดมาตรวจและติดตามอาการเท่านั้น ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษา แพทย์จะผ่าตัดเนื้อเยื่อใต้ลิ้นออก โดยเด็กสามารถกลับไปดื่มนมแม่ได้ตามปกติหลังการผ่าตัด
ฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยอาจมีพังผืดใต้ลิ้น ควรพาลูกไปให้แพทย์ประเมิน โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาในการดื่มนม หรือเด็กโตที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและออกเสียง เพื่อให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียดและขอคำแนะนำในการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม