ทำความเข้าใจกับปัญหาพูดติดอ่าง และวิธีรับมือที่เหมาะสม

พูดติดอ่าง (Stuttering) เป็นภาวะผิดปกติทางการพูดที่เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือสมองบางส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดทำงานผิดปกติไป โดยลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือ อาการพูดซ้ำคำหรือลากคำ

ปัญหาพูดติดอ่างเป็นปัญหาที่มักพบในกลุ่มเด็กช่วงอายุที่กำลังหัดพูด ซึ่งโดยทั่วไป ปัญหานี้มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ปัญหานี้ไม่หายไปเมื่อเด็กโตขึ้น หรือผู้ใหญ่บางคนที่เกิดปัญหาติดอ่างในภายหลังจากสาเหตุบางอย่าง ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

ทำความเข้าใจกับปัญหาพูดติดอ่าง และวิธีรับมือที่เหมาะสม

อาการแบบไหนที่เรียกว่าพูดติดอ่าง

ตัวอย่างอาการที่เข้าข่ายภาวะพูดติดอ่าง เช่น

  • การพูดซ้ำคำ หรือลากคำ โดยเฉพาะคำขึ้นต้นประโยค
  • มักมีช่วงหยุดพูดไปชั่วขณะระหว่างประโยค
  • มักหลีกเลี่ยงคำพูดบางคำที่พูดยาก
  • อาจมีอาการแสดงออกทางสีหน้าหรือท่าทางบางอย่างขณะพูดร่วมด้วย เช่น กะพริบตาถี่ ๆ กำมือแน่น หรือปากสั่น 

สาเหตุของปัญหาพูดติดอ่าง

ปัญหาพูดติดอ่างเกิดจากการที่กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูดทำงานผิดปกติไป อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้กลไกดังกล่าว แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างสมองในส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ขณะพูด
  • พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวพูดติดอ่างอาจมีโอกาสพูดติดอ่างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ปัญหาพูดติดอ่างเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน อย่างผู้ใหญ่ที่เกิดปัญหาพูดติดอ่างในภายหลัง โดยผู้ที่มีปัญหาติดอ่างกลุ่มนี้มักมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคใด ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง การได้รับแรงกระทบกระเทือนบริเวณสมอง หรืออาจเป็นผลมาจากการได้รับการกระทบเทือนทางจิตใจแต่เป็นในกรณีที่พบได้น้อย

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพูดติดอ่างได้ เช่น ผู้ที่มีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติในวัยเด็ก หรือผู้ที่มีความเครียด

จัดการกับปัญหาพูดติดอ่างอย่างไรดี

ก่อนอื่นควรเข้าใจก่อนว่า กระบวนการรักษาปัญหาพูดติดอ่างเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ซึ่งระยะเวลาและผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปได้ในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การทำตามคำแนะนำของแพทย์ และการไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 

โดยขั้นตอนการรักษา ในเบื้องต้นแพทย์จะประเมินอาการและหาสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาและส่งตรวจกับแพทย์ที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์มักส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษากับนักแก้ไขการพูด ซึ่งนักแก้ไขการพูดก็จะออกแบบการรักษาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วย เช่น อาจช่วยฝึกการหายใจ หรือการควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการพูด

นอกจากนี้ หากจำเป็น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์อาจใช้ เช่น

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavioral Therapy ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดทางจิตชนิดหนึ่งที่ช่วยรักษากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเครียด ซึมเศร้า หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคมร่วมด้วย
  • การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดที่ช่วยกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือปาก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพูดได้ง่ายขึ้น

นอกจากวิธีการรักษาโดยแพทย์แล้ว การดูแลจากคนรอบข้างก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยในกรณีเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการดุด่าเด็กที่มีปัญหาพูดติดอ่าง พยายามฟังขณะเด็กกำลังพูดโดยไม่พูดแทรก พยายามพูดช้า ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็ก

และที่สำคัญ ทั้งกรณีเด็กและผู้ใหญ่ ควรรอบข้างควรหลีกเลี่ยงการล้อเลียนผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดความเครียดหรือซึมเศร้า ซึ่งอาจยิ่งทำให้ปัญหาพูดติดอ่างแย่ลง และกระทบต่อขั้นตอนการรักษาจากแพทย์ได้

ทั้งนี้ การได้รับการรักษาจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาปัญหาพูดติดอ่าง เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสในการรักษาปัญหาพูดติดอ่างให้ได้ผลที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 3 ปี–3 ปี 6 เดือน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกมีปัญหาพูดติดอ่าง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ