ท้องในวัยเรียนหรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเลี้ยงดูทารกที่จะเกิดมา จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็ก การเรียน และอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา
จากสถิติของโครงการให้คำปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม สายด่วนฯ 1663 พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ได้ติดต่อขอรับคำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในปี พ.ศ 2561–พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2557–พ.ศ. 2558
ปัญหาท้องในวัยเรียนอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธและผิดหวัง แต่หากทราบว่าลูกกำลังตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดคุย ยอมรับ และดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของทั้งแม่และเด็กที่กำลังจะเกิดมา รวมทั้งการมอบความรักและให้การสนับสนุนเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางปัญหา และสามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างมีความสุข
แรงสนับสนุนจากผู้ปกครองสำคัญอย่างไรต่อลูกที่ท้องในวัยเรียน
ท้องในวัยเรียนหมายถึงการตั้งครรภ์และคลอดบุตรเมื่อมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุระหว่าง 15–19 ปี ในบางกรณีอาจพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี การตั้งครรภ์ในวัยเรียนมักเป็นผลจากการขาดวุฒิภาวะในการคิดและการตัดสินใจ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการท้องไม่พร้อมขึ้นได้ ซึ่งวัยรุ่นที่ประสบปัญหานี้มักเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองโดยไม่กล้าบอกให้คนในครอบครัวและผู้อื่นทราบ เนื่องจากกลัวการถูกดุด่าหรือถูกประณามจากสังคม
เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกกำลังตั้งครรภ์ อาจรู้สึกตกใจ ผิดหวัง โกรธ และรู้สึกผิดที่ตัวเองเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับและเห็นว่าการท้องในวัยเรียนเป็นสิ่งผิดพลาดที่ไม่ควรให้อภัย แต่ผลการวิจัยระบุว่า แรงสนับสนุนของครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตในฐานะแม่วัยรุ่น โดยวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเชื่อว่าการมีครอบครัวยอมรับและอยู่เคียงข้าง จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเลี้ยงดูทารกในครรภ์ได้ดี ขณะที่วัยรุ่นที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังมักรู้สึกวิตกกังวลและโดดเดี่ยว
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวังระหว่างการท้องในวัยเรียน
การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และเด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการความรักและดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ทั้งนี้ การไม่ได้รับการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตอ่สุขภาพของแม่และเด็กดังนี้
- ปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Pregnancy-Induced Hypertension) ภาวะโลหิตจาง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) อย่างโรคหนองในเทียม (Chlamydia) และการติดเชื้อ HIVs การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อยหรือมีความผิดปกติแต่กำเนิด
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Baby Blues) และโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ซึ่งมักทำให้แม่วัยรุ่นรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข สูญเสียคุณค่าในตัวเอง วิตกกังวล และอาจอาการแพนิค (Panic Attacks) ร่วมด้วย
วิธีดูแลสุขภาพเมื่อลูกท้องในวัยเรียน
เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกตั้งครรภ์ อันดับแรกควรพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของลูกด้วยเหตุผล ให้ลูกพูดคุยกับคนรักเพื่อร่วมกันตัดสินใจจัดการกับภาวะท้องในวัยเรียน โดยพิจารณาความพร้อมด้านสุขภาพ สภาวะจิตใจ สถานะทางการเงิน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตัดสินใจให้กำเนิดและเลี้ยงทารกเอง การให้ผู้อื่นรับเป็นบุตรบุญธรรม หรือการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายในกรณีที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
ผู้ปกครองควรติดต่อโรงเรียนที่ลูกกำลังศึกษาอยู่เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์นี้ร่วมกัน หากเด็กต้องการศึกษาต่อ โรงเรียนไม่สามารถบีบบังคับให้เด็กลาออกโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่ระบุว่าสถานศึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นตั้งครรภ์ให้ได้เรียนต่อเนื่องอย่างเหมาะสม โดยให้ศึกษาต่อภายใต้การดูแลของครูอาจารย์อย่างใกล้ชิด หรือให้ศึกษาต่อที่บ้าน เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานครบตามหลักสูตรที่เพียงพอสำหรับการยังชีพในอนาคต
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะร่างกายของแม่วัยรุ่นยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และมักมีสภาวะจิตใจที่อ่อนไหวง่าย ผู้ปกครองควรดูแลลูกที่ท้องในวัยเรียนด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- เริ่มฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ โดยแพทย์จะตรวจสุขภาพครรภ์และให้คำแนะนำในการสุขภาพของแม่และลูกในท้อง สั่งจ่ายยาและวิตามินที่จำเป็นสำหรับบำรุงครรภ์ ฉีดวัคซีนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และรักษาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
- เข้าอบรมการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ เช่น เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ พัฒนาการของทารกในครรภ์ กลไกการคลอด การให้นม และวิธีดูแลทารกหลังคลอด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยคุณแม่ท้องควรได้รับพลังงานรวมวันละ 2,000–2,300 กิโลแคลอรี่ และได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม และโฟเลตในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโตและพํฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ช่วยวางแผนการออกกำลังกายเหมาะสมกับความสามารถของคุณแม่และความปลอดภัยของทารกในครรภ์ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือการเล่นโยคะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยท่านอนที่เหมาะสมคือการนอนตะแคงและงอเข่าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้น้ำหนักมดลูกที่เพิ่มมากขึ้นกดทับและขัดขวางการไหลเวียนเลือดในร่างกาย หรือใช้หมอนสอดไว้ระหว่างขา เพื่อให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น
- ดูแลสภาพจิตใจของตนเองอยู่เสมอ โดยทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการดูแลวัยรุ่นที่ท้องในวัยเรียน โดยการมอบความรักและความเอาใจใส่ทั้งด้านสุขภาพร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ และสุขภาพจิตใจ โดยรับฟังและคอยอยู่เคียงข้างในวันที่ลูกเผชิญกับความยากจะลำบาก จะช่วยให้แม่และทารกที่กำลังจะเกิดมาสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้หากพบปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการท้องในวัยเรียน สามารถติดต่อสายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์และท้องไม่พร้อมได้ที่หมายเลข 1663 หรือหากรู้สึกเครียดและไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ อาจโทรขอคำปรึกษาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323