ฟันกรามแตกเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อฟันกรามได้รับความเสียหาย และทำให้ฟันกรามแตกหรือมีรอยแยกเกิดขึ้น โดยฟันกรามแตกเป็นอาการที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะฟันกรามแตกอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดฟัน เสียวฟัน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา เช่น การติดเชื้อ ฝีที่ฟัน
ฟันกรามเป็นฟันที่อยู่บริเวณท้ายแถวฟัน และมีหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้กลืนง่ายขึ้น โดยฟันกรามมีขนาดใหญ่ที่สุดในปาก มีความแข็งแรงและความคงทนต่อการกัด การบด และการเคี้ยวสูง อย่างไรก็ตาม หากฟันกรามได้รับความเสียหายเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้ฟันกรามแตกได้
สาเหตุที่ทำให้ฟันกรามแตก
ฟันกรามแตกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยอาจมีดังนี้
- การกัดหรือบดเคี้ยวอาหารหรือสิ่งของที่มีความแข็งมาก
- การปล่อยฟันกรามผุทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษา
- การมีอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ฟันมีความแข็งแรงลดลง
- การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในช่องปากอย่างกะทันหัน เช่น การรับประทานอาหารร้อนและตามด้วยการดื่มน้ำเย็นจัด
- การนอนกัดฟัน (Bruxism) ซึ่งสาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียด การเรียงตัวของฟัน
นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ก็อาจทำให้ฟันกรามแตกได้ แต่อาจพบได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากอาการบาดเจ็บต่าง ๆ มักส่งผลให้เกิดฟันหน้าแตกมากกว่าฟันกรามแตก
วิธีรับมือกับฟันกรามแตกอย่างถูกต้อง
หากมีฟันกรามแตก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันกรามที่แตกได้รับความเสียหายเพิ่มเติม และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ ฝีที่ฟัน หรือเส้นประสาทเสียหาย โดยผู้ที่มีฟันกรามแตกอาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยการรับประทานยาแก้ปวด บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อทำความสะอาดฟันและช่องปาก ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม และหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารด้วยฟันกรามที่แตก
โดยการรักษาฟันกรามแตกจากทันตแพทย์จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น
- การอุดฟัน หากฟันกรามแตกเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจอุดฟันตามรอยแตกเพื่อให้ผิวฟันกลับมาเป็นปกติ
- การครอบฟัน หากส่วนที่แตกมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจกรอฟันส่วนที่เสียหายออก และครอบฟันด้วยอุปกรณ์สำหรับครอบฟันเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ฟันกรามที่ยังคงอยู่และเพื่อความสวยงามของฟัน
- การรักษารากฟัน หากฟันกรามแตกจนเห็นชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) หรือชั้นโพรงประสาทฟันเกิดการติดเชื้อ แพทย์จะทำการรักษารากฟันโดยการนำเนื้อเยื่อที่เสียหายออก ทำความสะอาด และอุดคลองรากฟัน จากนั้นแพทย์รักษาด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันเพื่อให้ผิวฟันกลับมาเป็นปกติ
- การถอนฟัน หากฟันกรามแตกไม่สามารถรักษาได้ แพทย์อาจแนะนำให้ถอนฟันซี่นั้นออก และรักษาตามอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
โดยหลังจากการรักษาฟันกรามแตก ผู้ที่เข้ารับการรักษาอาจมีอาการปวดแผลหลังจากที่ยาชาหมดฤทธิ์ แต่อาการปวดอาจค่อย ๆ ดีขึ้น หากอาการปวดยังคงไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบทันตแพทย์อีกครั้งเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้