ปัญหาฟันห่างหรือมีช่องว่างระหว่างฟันเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกบริเวณ แต่จุดที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนและมักสร้างความไม่มั่นใจให้ใครหลายคนคือบริเวณฟันหน้า โดยฟันห่างสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน พันธุกรรม และโรคทางช่องปาก เช่น โรคเหงือก
ปัญหาของผู้ที่มีฟันห่างส่วนมากคือรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องยิ้มหรือพูดคุย ส่วนด้านปัญหาสุขภาพช่องปากนั้น หากมีฟันหน้าห่างมากในวัยเด็กอาจส่งผลให้ฟันซี่ถัดไปไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ตามปกติ จนอาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการกัดและเคี้ยวอาหารได้
ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลายวิธีที่ช่วยปิดหรือลดช่องว่างระหว่างฟันได้ โดยทันตแพทย์จะเลือกวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ ดังนั้น มาดูกันดีกว่าว่าปัญหาฟันห่างเกิดจากอะไรได้บ้าง และมีวิธีอะไรบ้างที่ทันตแพทย์มักใช้ในการรักษา
ฟันห่างมีสาเหตุมาจากอะไร
ฟันห่างเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับช่องปากและฟัน โรคเหงือก รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างที่ทำจนเคยชิน โดยสาเหตุของปัญหาฟันห่างที่มักพบได้ เช่น
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นช่องปากด้านล่าง หรือเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ริมฝีปากบนกับเหงือก เนื้อเยื่อเหล่านี้มีลักษณะเป็นเส้น มีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างช่องปากตั้งแต่ร่างกายยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา โดยผู้ที่เนื้อเยื่อบริเวณนี้ยึดติดมากกว่าปกติอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟันห่างได้
- ขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของฟันไม่สัมพันธ์กับขนาดของขากรรไกร ขนาดของฟันที่เล็กเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของขากรรไกร อาจส่งผลให้ฟันเรียงตัวห่างจากกันเพื่อเติมเต็มพื้นที่ขากรรไกร ซึ่งขนาดของฟันและขากรรไกรจะถูกกำหนดโดยปัจจัยทางพันธุกรรม เด็กที่คุณพ่อคุณแม่มีฟันห่างจึงอาจมีโอกาสเกิดฟันห่างได้มากขึ้น
- เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณขอบฟันหน้าส่วนบนเจริญเติบโตมากเกินไป ปัญหานี้อาจส่งผลให้ฟันได้รับแรงดันจนเกิดการแยกออกจากกัน ทำให้เกิดช่องที่ห่างมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ภาวะลิ้นดันฟัน ปัญหานี้เกิดขึ้นในผู้ที่มักใช้ลิ้นดันฟันหน้าขณะกลืน โดยแทนที่ลิ้นจะแตะบริเวณเพดานปากขณะกลืน แต่ลิ้นกลับไปดันฟันหน้า ฟันหน้าที่ได้รับแรงดันบ่อย ๆ จึงอาจเริ่มเคลื่อนตัวห่างออกจากกัน
- โรคเหงือก การติดเชื้อจนเกิดโรคเหงือกอาจส่งผลให้เหงือกและเนื้อเยื่อที่รองรับฟันเกิดการอักเสบจนนำไปสู่ปัญหาฟันโยกและเกิดช่องว่างระหว่างฟันได้ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจสังเกตได้จากอาการเหงือกบวมแดง กระดูกฟันเสียหาย ฟันโยก และมีเลือดออกตามไรฟัน
- ฟันหลุดหรือถอนฟัน การมีฟันไม่ครบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฟันหลุดไปตามธรรมชาติหรือการถอนฟัน อาจนำมาซึ่งปัญหาฟันห่างได้
- มีฟันเกินงอกขึ้นมา ผู้ที่มีฟันเกินในบริเวณกระดูกขากรรไกรอาจส่งผลให้ฟันซี่อื่น ๆ ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ และนำไปสู่การเกิดช่องว่างระหว่างฟัน
- ติดนิสัยดูดนิ้ว เด็กที่ชอบดูดนิ้วอาจมีฟันหน้าห่างเนื่องจากแรงดันจากการดูดนิ้ว
ทั้งนี้ ปัญหาฟันห่างไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่กล่าวมาเสมอไป เนื่องจากโดยปกติแล้ว เด็กหลายคนมักมีฟันห่างในช่วงที่ร่างกายกำลังเติบโตหรือมีฟันน้ำนม ซึ่งถือเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของร่างกายในช่วงวัยเด็ก เมื่อช่องปากของเด็กเจริญเติบโตขึ้น ฟันแท้ซึ่งขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมที่หลุดออกไปจะเติมช่องว่างระหว่างฟันนั้นเอง
นอกจากนี้ ปัญหาฟันห่างในบางคนยังอาจค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป เช่น เด็กที่มีปัญหาเนื้อเยื่อระหว่างลิ้นกับพื้นช่องปากยึดติดกันมากเกินไปในระยะที่ฟันเริ่มงอก อาจพบว่าเนื้อเยื่อนี้ค่อย ๆ สั้นลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกรณีของผู้ที่มีฟันหน้าห่าง เมื่อเวลาผ่านไปอาจพบว่าช่องว่างนั้นหายไป เนื่องจากมีฟันกรามขึ้นมาในภายหลังและช่วยดันให้ฟันเข้ามาชิดกันได้เอง
วิธีรักษาฟันห่าง
การมีฟันห่างอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่ร้ายแรงหรือโรคเหงือก หรือหากปัญหาฟันห่างไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากและการเคี้ยวอาหารมากนัก
แต่ในกรณีที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสวยงามของฟันจนทำให้ขาดความมั่นใจ ผู้ที่มีปัญหาฟันห่างสามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่ออุดหรือปิดช่องว่างดังกล่าวได้เช่นกัน โดยทันตแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาดังนี้
การจัดฟันเพื่อดึงฟันให้เรียงชิดกัน
วิธีนี้เป็นวิธีที่ทันตแพทย์มักใช้ ซึ่งมีทั้งการจัดฟันแบบติดลวดและการจัดฟันแบบใส โดยแบบติดลวดนั้นทันตแพทย์จะติดอุปกรณ์ลงบนผิวฟันและนำลวดมายึดติดเพื่อออกแรงดันฟันให้เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ทันตแพทย์ต้องการ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องติดอุปกรณ์เอาไว้ในช่องปากตลอดเวลาจนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น
ส่วนการจัดฟันแบบใส ทันตแพทย์จะออกแบบอุปกรณ์ให้เข้ากับรูปฟันของผู้ป่วยแต่ละคน โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะสามารถถอดอุปกรณ์ซึ่งเป็นพลาสติกใสออกได้เมื่อรับประทานอาหารและแปรงฟัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเศษอาหารติดอุปกรณ์ และช่วยให้ทำความสะอาดช่องปากและอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ด้วยความที่อุปกรณ์จัดฟันแบบใสเป็นพลาสติกใสที่ค่อนข้างสังเกตได้ยาก การจัดฟันแบบใสจึงอาจเหมาะกับผู้ที่รู้สึกไม่มั่นใจที่จะต้องใส่อุปกรณ์จัดฟัน หรือต้องทำงานที่ไม่สะดวกต่อการสวมอุปกรณ์จัดฟันแบบลวด
ทั้งนี้ ในการเลือกวิธีจัดฟันเพื่อรักษาผู้ที่มีปัญหาฟันห่าง ทันตแพทย์จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
การเคลือบผิวฟัน
นอกจากการจัดฟันแล้ว การอุดช่องว่างด้วยกระบวนการทางทันตกรรมก็อาจช่วยได้เช่นกัน เช่น การเคลือบผิวฟันหรือที่เรียกกันว่าวีเนียร์ และการอุดหรือเชื่อมช่องว่างระหว่างฟัน โดยหลักการทำงานของวิธีเหล่านี้คือการใช้วัสดุที่มีสีเหมือนกับฟันมาปิดช่องว่างหรือครอบฟันไว้
อย่างไรก็ตาม หากช่องว่างระหว่างฟันนั้นเกิดจากการสูญเสียฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขด้วยการทำสะพานฟันแทน
การผ่าตัด
ในกรณีที่มีเนื้อเยื่อขอบเหงือกลงมาแทรกระหว่างฟันมากเกินไปจนทำให้ฟันห่างจากกัน แพทย์อาจต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เกินมาออกไป เพื่อให้ฟันเรียงตัวชิดติดกันตามปกติ แต่หากมีฟันห่างมาก อาจต้องใช้วิธีการจัดฟันร่วมด้วย
การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ
หากทันตแพทย์ตรวจพบว่าปัญหาฟันห่างเกิดจากโรคเหงือก ผู้ป่วยต้องรักษาการติดเชื้อและอักเสบจากโรคเหงือกก่อนจึงจะทำการอุดหรือปิดช่องว่างระหว่างฟันต่อไป โดยเน้นที่การกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนบริเวณบนเหงือกและใต้เหงือกด้วย หากปัญหาฟันห่างเกิดจากโรคเหงือกที่รุนแรง อาจต้องรักษาด้วยการขูดหินปูนที่สะสมอยู่ลึกภายในเหงือกและเกลารากฟัน
ฟันห่าง ป้องกันได้หรือไม่
แม้สาเหตุบางประการของฟันห่างอาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่การปรับพฤติกรรมบางอย่างก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฟันห่างได้ เช่น คอยดูแลไม่ให้เด็กติดการดูดนิ้ว ปรับวิธีการกลืนโดยให้ลิ้นแตะเพดานปาก ดูแลรักษาความสะอาดของปากและฟันเพื่อป้องกันโรคเหงือกด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวัน และที่สำคัญ ควรไปตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนทุก 6 เดือน
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีฟันห่างและต้องการเข้ารับการรักษา ควรเลือกสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพช่องปากและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 23 กันยายน 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ณัฏฐ์พัชร์ ฐิติปุญญา
เอกสารอ้างอิง
- Victoria State Government Australia (2022). Betterhealth Channel. Teeth - gapped teeth.
- Cleveland (2022). Diastema.
- Higuera, V. Healthline (2018). Diastema.
- WebMD (2021). What Is Diastema?
- Kirkland, K. WebMD. 4 Possible Gapped Teeth Causes You Probably Didn't Know.
- Keller, A. WebMD. 6 Fun Facts About Gaps Between Teeth.