ภาวะขาดน้ำในเด็กกับสัญญาณเตือนที่พ่อแม่ควรระวัง

หากเจ้าตัวน้อยมีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือเสียเหงื่อมากหลังจากเล่นซนมาหมาด ๆ สิ่งที่ผู้ปกครองควรระวังอีกหนึ่งอย่าง คือ ภาวะขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำอย่างรุนแรนอาจส่งผลต่อกระบวนการทำงานในร่างกาย และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

เนื่องจากทารกและเด็กเล็กมักสื่อสารกับพ่อแม่ได้ยาก และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทำให้เสี่ยงต่อการขาดน้ำได้ง่าย จึงนับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของลูกรัก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสัญญาณเตือนของภาวะขาดน้ำที่มักเกิดในเด็กมาฝากกัน 

ภาวะขาดน้ำในเด็ก

สัญญาณของภาวะขาดน้ำในเด็ก 

โดยปกติ คนเราจะสูญเสียน้ำในร่างกายทุกวันในรูปแบบของเหงื่อ น้ำตา ปัสสาวะ และอุจจาระ อีกทั้งยังระเหยออกมาจากผิวหนังหรือลมหายใจ ดังนั้น ในวันที่อากาศร้อน ระหว่างออกกำลังกาย หรือเล่นสนุก หากลูกน้อยมีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือมีเหงื่อออกมาก ผู้ปกครองควรสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ดังนี้

  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ อาจสังเกตได้ว่าเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกไม่เกิน 6 ชิ้นต่อวัน 
  • มีน้ำตาออกมาน้อยหรือไม่มีน้ำตาเลยขณะร้องไห้
  • ผิวเย็นและแห้ง
  • ฉุนเฉียวง่าย 
  • ง่วงซึม หรือเวียนศีรษะ
  • ตาโหลหรือตาลึก
  • ทารกหรือเด็กวัยหัดเดินอาจมีกระหม่อมบุ๋ม
  • เล่นน้อยกว่าปกติ
  • เด็กที่ขาดน้ำจากอาการท้องเสียอาจมีอุจจาระเหลว 
  • เด็กที่ขาดน้ำจากการอาเจียนหรือดื่มน้ำน้อยอาจถ่ายอุจจาระน้อยลง

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เด็กอาจจะมีอาการหงุดหงิดมาก ตาโหล รู้สึกง่วงซึมมาก มือเท้าเย็นและเปลี่ยนสีไปจากปกติ ผิวหนังเหี่ยวย่น และปัสสาวะเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น หากลูกน้อยมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

วิธีจัดการกับภาวะขาดน้ำในเด็ก

การรับมือกับภาวะขาดน้ำในเด็กที่ดีที่สุด คือ การชดเชยปริมาณของเหลวและเกลือแร่ในร่างกายที่สูญเสียไป โดยเด็กเล็กและทารกที่ขาดน้ำจากอาการท้องเสีย อาเจียน หรือเป็นไข้ ควรดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS) โดยให้จิบครั้งละ 5-10 มิลลิลิตร หรือ 1-2 ช้อนชา ทุก ๆ 2-3 นาที นอกจากนี้ อาจใช้ไซริงค์ป้อนยาเพื่อช่วยป้อนน้ำผสมผงเกลือแร่ให้เด็กได้ สำหรับทารกที่ยังไม่หย่านมแม่ คุณแม่ควรป้อนน้ำเกลือแร่ในระหว่างการให้นม แต่หากเด็กรับประทานนมผง ควรรอให้อาการดีขึ้นหลังดื่มน้ำเกลือแร่ก่อน จึงค่อยกลับมาให้ดื่มนมอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ห้ามให้เด็กที่มีภาวะขาดน้ำดื่มโซดา น้ำขิง ชา น้ำผลไม้ ของหวานที่มีส่วนผสมของเจลาติน หรือซุปไก่สกัด เพราะเครื่องดื่มและของกินเหล่านี้มีสัดส่วนน้ำตาลและเกลือที่ไม่เหมาะกับร่างกาย จึงอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง ทั้งนี้ หากดูแลรักษาด้วยตนเองที่บ้านแล้ว อาการของลูกยังไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลงกว่าเดิม หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการและรักษาอย่างเร่งด่วน