ในช่วงที่หลายคนกำลังเตรียมตัวไปฉีดวัคซีน หรือเพิ่งได้รับวัคซีนมาหมาด ๆ การมีสุขภาพดีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อมถอยไปตามวันเวลาที่มากขึ้น รวมถึงการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราควรดูแลและใส่ใจสุขภาพของตัวเองเป็นประจำ
อายุที่มากขึ้นอาจนำมาซึ่งภูมิคุ้มกันที่ลดลง การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเราสามารถทำได้หลายวิธีแทบทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็น การมีโภชนาการที่ดี ดื่มน้ำสะอาดให้มาก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือออกกำลังที่เหมาะสมกับช่วงวัย
ยิ่งเป็นผู้สูงอายุแล้ว อาจมีข้อจำกัดในหลายด้าน อาทิ มวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อน้อยลง หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ มีปัญหาในการมองเห็นหรือการได้ยิน หรือมีโรคประจำตัว จึงควรอาศัยการระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป โดยบทความนี้จะมาช่วยให้การมีสุขภาพดีในทุกวัน ทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องง่ายขึ้น
สุขภาพดีที่เราสร้างได้
การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมในแต่ละวันนั้นทำได้หลายวิธี และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือผู้สูงอายุสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลในการสร้างเสริมสุขภาพอย่างถูกต้องและไม่กระทบต่อร่างกายได้ ซึ่งแต่ละคนอาจมีรายละเอียด ข้อควรระวัง และวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป แต่หลักเบื้องต้นที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทั่วไป ควรใส่ใจในการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีมีดังนี้
มีโปรตีนเพียงพอเป็นทุนเดิม
โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบภูมิคุ้มกันและการเสริมสร้างสุขภาพดี โดยโปรตีนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดขาว แอนติบอดี (Antibodies) และสารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการต้านเชื้อโรค หากร่างกายขาดโปรตีนหรือรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ โปรตีนยังมีบทบาทในกระบวนการทำงานของร่างกายที่หลากหลาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของมวลกล้ามเนื้อ ประมาณการว่าโปรตีนในกล้ามเนื้อคิดเป็น 50–75%
หากเราได้รับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัยจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่มากมาย ทั้งความเสี่ยงต่อการหกล้ม ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยได้ช้า หรือติดเชื้อได้ง่าย ส่งผลให้สุขภาพแย่ลง
มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยสูงอายุที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย (มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง) จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง รวมถึงผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนและพลังงานจะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าคนทั่วไป และมีความรุนแรงของโรคมากกว่า
ผู้สูงอายุโดยส่วนมากมักมีปัญหามวลกล้ามเนื้อน้อย เนื่องจากรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอ หลังช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป ร่างกายจะค่อย ๆ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อทีละนิด และจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อรวมถึงมวลกระดูกเร็วมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 60 ปี ซึ่งอาจมาพร้อมปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหัก โรคกระดูกพรุน และอายุที่มากขึ้นอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน และโรคหัวใจตามมา
ด้วยความที่การรับประทานโปรตีนเพียงชนิดเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเท่าที่ควร จึงควรรับประทานโปรตีนจากแหล่งที่หลากหลาย เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ โปรตีนจากพืช รวมถึงโปรตีนจากนม นอกจากโปรตีนจะมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติแล้ว ยังมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ซึ่งบางยี่ห้อมีสูตรที่รวมชนิดของโปรตีนที่หลากหลายและสารอาหารสำคัญต่าง ๆ ไว้ในหนึ่งเดียว เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือผู้ป่วยบางประเภท
ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ และปรึกษาแพทย์และเภสัชกรในการรับประทานโปรตีนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนต่าง ๆ อย่างเหมาะสมทั้งในด้านปริมาณและระยะเวลา โดยหากเกิดความผิดปกติใด ๆ ภายหลังการรับประทาน ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
เสริมวิตามินและแร่ธาตุให้ร่างกาย
สิ่งสำคัญของการมีสุขภาพดีไม่ใช่เพียงแค่การรับประทานโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่เรายังควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เพื่อมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของกลไกต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุ ดังต่อไปนี้
- วิตามินซี (Vitamin C) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยในการผลิตเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกาย ช่วยสมานแผล และบรรเทาความรุนแรงของไข้หวัดได้
- วิตามินดี (Vitamin D) มีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยในการดูดซึมแคลเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของกระดูกและฟัน
- วิตามินบี (Vitamin B) อย่างวิตามินบี 6 มีส่วนช่วยในการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย และวิตามินบี 12 ช่วยในกระบวนการผลิตเม็ดเลือดและเสริมสร้างเซลล์ประสาท
- สังกะสี (Zinc) จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการผลิตโปรตีนในร่างกาย
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนประมาณ 7–8 ชั่วโมงต่อวัน อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยให้การทำงานต่าง ๆ ของร่างกายดำเนินไปได้อย่างปกติ ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด ช่วยเติมเรี่ยวแรง และซ่อมแซมเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่เสียหาย และหากเรานอนไม่พออาจส่งผลกระทบต่อกลไกของร่างกาย เช่น การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การควบคุมอารมณ์ ความคิด ความจำ หรือการตั้งสมาธิจดจ่อ
ในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคซึมเศร้า และยังอาจทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พึงควรระวังไม่ให้ตัวเองนอนมากจนเกินไปหรือนานกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน เพราะจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการป่วยหรือโรคต่าง ๆ มากขึ้นได้
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
เนื่องจากการออกกำลังกายนอกบ้านอาจทำได้ยากในช่วงภาวะการระบาด หลายคนจึงจำเป็นต้องหาทำกิจกรรมทำภายในบ้านอันมีพื้นที่จำกัดไปก่อน ซึ่งไม่เพียงแค่การออกกำลังกาย เช่น เดิน โยคะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เล่นเวท ยางยืดออกกำลังกาย วิดพื้น หรือซิทอัพเท่านั้น แต่การขยับและเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ เช่น การทำความสะอาดบ้านและทำสวนก็ช่วยได้บ้าง
โดยการออกกำลังจะส่งผลดีต่อร่างกายในหลายด้าน อาทิ ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดการแตกหักของกระดูก หรือช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนชี้ให้เห็นด้วยว่า หากมีสุขภาพดีและออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น
ในกรณีที่เว้นว่างจากออกกำลังกายมาเป็นเวลานาน ควรเริ่มต้นช้า ๆ แล้วค่อยไต่ระดับไปเรื่อย ๆ ให้ร่างกายได้คุ้นชินและพร้อมต่อการออกกำลังกายที่หนักขึ้น โดยก่อนออกกำลังกายต้องไม่ลืมการอบอุ่นร่างกายหรือวอร์มอัพ (Warm Up) และยืดกล้ามเนื้อหรือคูลดาวน์ (Cool Down) หลังออกกำลังกายเสร็จ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ผู้สูงอายุที่แม้จะมีโรคประจำตัวก็สามารถออกกำลังกายได้เช่นกัน แต่บางรายควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด
สุดท้ายนี้ การมีสุขภาพดีนั้นนอกจากจะอาศัยการดูแลตัวเองด้วยการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับช่วงวัย และการรับประทานอาหารมื้อหลักให้ได้สารอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานชนิดของโปรตีนที่มีความหลากหลาย เช่น เวย์ เคซีน ถั่วเหลือง เป็นต้น และการเสริมวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินซี วิตามินบี และสังกะสีแล้วนั้น เราพึงควรหยุดพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
โดยเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเองได้แล้วตั้งแต่วันนี้ หากมีความกังวลด้านสุขภาพใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะได้เข้าถึงการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักไปนาน ๆ
เอกสารอ้างอิง
- James, et al. (2021). The Role of Nutrition in COVID-19 Susceptibility and Severity of Disease: A Systematic Review. The Journal of Nutrition, 151(7), pp. 1854–1878.
- Jee, Y.S. (2020). How Much Exercise Do We Need to Improve Our Immune System?: Second Series of Scientific Evidence. Journal of Exercise Rehabilitation, 16(2), pp. 113–114
- Thalacker-Mercer, A., Riddle, E., & Barre, L. (2020). Protein and Amino Acids for Skeletal Muscle Health in Aging. Advances in Food Nutrition Research, 90, pp. 29–64
- Wang, P.Y., Li, Y., & Wang, Q. (2020). Sarcopenia: An Underlying Treatment Target During the COVID-19 Pandemic. Nutrition, 84.
- Zildzic, et al. (2020). The Importance of Nutrition in Boosting Immunity for Prevention and Treatment COVID-19. The International Journal on Biomedicine and Healthcare, 8(2), pp. 73–79
- Volpi, E., Nazemi, R., & Fujita, S. (2004). Muscle Tissue Changes with Aging. Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care, 7(4), pp. 405–410.
- Nied, R.J. & Franklin, B. (2002). Promoting and Prescribing Exercise for the Elderly. American Family Physician, 65(3), pp. 419– 427.
- Sabai Intachote. Department of Health. Bureau of Nutrition. อาหารโปรตีนสูง.
- National Institute of Health. Office of Dietary Supplements. Vitamin B 6.
- National Institute of Health. Office of Dietary Supplements. Vitamin B 12.
- National Institute of Health. Office of Dietary Supplements. Vitamin C.
- National Institute of Health. Office of Dietary Supplements. Vitamin D.
- Harvard Medical School (2021). Harvard Health Publishing. How to boost your immune system.
- Harvard T.H. Chan School of Public Health. Nutrition and Immunity.
- Cleveland Clinic (2020). Diet, Food & Fitness. Can You Exercise Before or After You’re Vaccinated for COVID-19?
- Familydoctor. Exercise and Seniors.
- Holland, K. Healthline (2019). What Do You Want to Know About Healthy Sleep?.
- Gunnars, K. Healthline (2018). Whey Protein 101: The Ultimate Beginner's Guide.
- Kubala, J. Healthline (2018). Zinc: Everything You Need to Know.