ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) หรือภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นภาวะที่มีอาการผิดปกติที่ดวงตา ซึ่งทำให้เกิดอาการตาแดง คันตา แสบตา น้ำตาไหล และหนังตาบวม โดยมีสาเหตุมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารบางชนิดมากผิดปกติ
ภูมิแพ้ขึ้นตาเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาการมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นอยู่ไม่น้อย โดยสารกระตุ้นที่เป็นต้นเหตุจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ ฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสรจากพืช มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รังแคจากสัตว์ เครื่องสำอางบางชนิด ยาทาผิวหนังบางชนิด และน้ำยาคอนแทคเลนส์
วิธีรับมือกับอาการภูมิแพ้ขึ้นตา
สิ่งแรกที่ควรทำคือการหลีกเลี่ยงสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยให้สวมหมวกและแว่นกันแดดขณะอยู่นอกที่พักอาศัย อาบน้ำด้วยสบู่ที่ไม่ใส่สารแต่งกลิ่นหรือน้ำหอม หมั่นทำความสะอาดที่พักอาศัย หลีกเลี่ยงการติดพรมหรือผ้าม่านในบ้าน ใช้เครื่องฟอกอากาศ รวมทั้งซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าเช็ดตัวเป็นประจำ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ขึ้นตาควรทำตามวิธีดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เนื่องจากการขยี้ตาอาจส่งผลให้ตาแดงและอักเสบได้
- ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ไปก่อน โดยอาจจะสวมแว่นสายตาแทนเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองดวงตา
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา
- งดสูบบุหรี่ และป้องกันตัวเองจากควันบุหรี่มือสอง
- ประคบเย็นบริเวณดวงตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองและการอักเสบของดวงตา
- ใช้น้ำตาเทียมหรือน้ำยาล้างดวงตา แต่ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน และไม่ควรใช้น้ำตาเทียมหรือน้ำยาล้างตาขวดเดิมนานเกิน 1 เดือน เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ผลิตภัณฑ์ได้
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสบริเวณรอบดวงตา โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับสัตว์หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารที่ก่ออาการแพ้
นอกจากวิธีในข้างต้น ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ขึ้นตาสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ โดยชนิดของยาที่แพทย์หรือเภสัชกรมักแนะนำให้ใช้มักจะเป็นยาในกลุ่มต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ทั้งชนิดเม็ดและยาหยอดตา ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการภูมิแพ้ขึ้นตาไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่เกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาแดงขั้นรุนแรง ปวดตา เปลือกตาหรือรอบดวงตาบวมแดง มองเห็นภาพเบลอ หรือดวงตาไม่สู้แสง เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้