มะกรูด สมุนไพรกลิ่นหอม เสริมสุขภาพและบำรุงความงาม

มะกรูด สมุนไพรพื้นบ้านกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่ได้รับความนิิยมในการนำมาใช้ประกอบอาหาร มีสรรพคุณตามตำรายาไทยหลายประการ เช่น ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาโรค เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง  บำรุงความงามด้านต่าง ๆ เป็นต้น

มะกรูด

นอกจากการปรุงรสเครื่องแกง หรือประกอบอาหารไทยหลากหลายเมนู ผล ใบ และผิวเปลือกของมะกรูดยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน (β-Carotene) ซิโทรเนลลาล (Citronellal) เบต้าไพนีน (β-Pinene) และลิโมนีน (Limonene) เป็นต้น คนจึงนิยมนำมะกรูดไปใช้ประโยชน์ เช่น สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยประกอบผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ทำยากันยุง หรือยาไล่แมลง โดยมีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนพิสูจน์สรรพคุณของมะกรูดด้านต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

ดีต่อสุขภาพเหงือกและฟัน

แบคทีเรียในช่องปากเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของโรคเหงือกและฟัน มะกรูดมีสารซิโทรเนลาล (Citronellal) ที่อาจมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบสำคัญ จึงมีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์สรรพคุณของมะกรูดในการต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งนำน้ำมันสกัดจากใบมะกรูดมาทดสอบในห้องทดลอง เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการยับยั้งการก่อตัวของไบโอฟิล์มและเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ผลพบว่าน้ำมันสกัดจากใบมะกรูดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการก่อตัวของไบโอฟิล์มซึ่งเป็นคราบแบคทีเรียในช่องปากได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ โดยทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ชั้นนอกของแบคทีเรีย จึงคาดว่าอาจนำน้ำมันจากใบมะกรูดไปพัฒนาเป็นส่วนประกอบสำคัญร่วมกับสารฆ่าเชื้อตัวอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากอย่างน้ำยาบ้วนปากได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากมะกรูดและสมุนไพรไทยชนิดอื่น ๆ โดยพบว่าน้ำมันดังกล่าวมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุและลดการสะสมคราบจุลินทรีย์บนพื้นผิวฟันได้เช่นกัน แต่มะกรูดจะมีฤทธิ์อ่อนกว่าเปลือกอบเชยและใบโหระพา  

การวิจัยข้างต้นแสดงถึงคุณสมบัติของมะกรูดในการต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งช่วยป้องกันโรคเหงือกและฟันได้ แต่ควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมและทดลองใช้มะกรูดและสารสกัดในรูปแบบต่าง ๆ กับคน เพื่อทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยให้แน่ชัดก่อนนำไปประยุกต์ใช้รักษาสุขภาพเหงือกและฟันต่อไป

ต้านการอักเสบ

การอักเสบมักก่อให้เกิดอาการปวด บวมแดง และส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ ทำงานไม่เต็มที่ สมุนไพรไทยอย่างมะกรูดมีสารพฤกษเคมีโพลีฟีนอลที่เชื่อว่าอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบจากโรคต่าง ๆ ได้

จากงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเข้ารับการนวดแผนไทยหรือใช้ลูกประคบสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของมะกรูด ไพล และขมิ้นชันร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ สัปดาห์ละ 3 วัน แล้วเปรียบเทียบกับการรับประทานยาต้านการอักเสบไอบูโพรเฟน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลานาน 3 สัปดาห์เช่นกัน ผลพบว่าผู้ป่วยทุกกลุ่มมีอาการดีขึ้น แต่เห็นผลได้อย่างชัดเจนในกลุ่มที่ใช้การประคบสมุนไพร จึงคาดว่าอาจใช้มะกรูดเป็นส่วนประกอบในการรักษาทางเลือกได้ เพื่อช่วยบรรเทาการอักเสบจากโรคข้อต่ออักเสบอย่างข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของมะกรูด ไพล กระทือ ผักกาดน้ำ และว่านสาวหลงโดยวิธีสกัดด้วยความร้อน พบว่าน้ำสมุนไพรดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงงานค้นคว้าในห้องทดลองและศึกษาโดยใช้สมุนไพรหลายชนิดผสมกัน จึงควรค้นคว้าสรรพคุณต้านการอักเสบของมะกรูดเพิ่มเติมโดยทดลองในคนและใช้ทดลองโดยใช้มะกรูดเพียงอย่างเดียว เพื่อหาแนวทางในการพัฒนายาหรือผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการอักเสบจากมะกรูดในอนาคต

ป้องกันยุง

ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงส่วนใหญ่ประกอบด้วยสารป้องกันยุงมาตรฐานหรือดีอีอีที (DEET) ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ จึงมีการนำเอาสมุนไพรที่มีสารเคมีธรรมชาติที่อาจออกฤทธิ์ใกล้เคียงกันมาทดลองใช้ป้องกันยุง โดยมีงานค้นคว้าบางส่วนพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดและสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายชนิดอาจมีฤทธิ์ไล่ยุงได้

จากงานวิจัยเก่าชิ้นหนึ่งที่ศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันมะกรูดและสมุนไพรอื่น ๆ ในห้องทดลอง พบว่าน้ำมันจากมะกรูดเพียงอย่างเดียวหรือแบบผสมสารวานิลิน (Vanillin) ที่ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์สามารถป้องกันยุงได้นานสูงสุด 3 ชั่วโมง แต่มีระยะเวลาในการป้องกันยุงน้อยกว่าน้ำมันจากสมุนไพรชนิดอื่นอย่างขมิ้นชัน ใบกะเพรา ตะไคร้หอม หรือสารป้องกันยุงมาตรฐาน ซึ่งป้องกันยุงได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง

ต่อมามีงานวิจัยที่ค้นคว้าคุณสมบัติป้องกันยุงของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผิวเปลือกมะกรูดในความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 0.5-5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งแบบที่ยุงสัมผัสโดนสารทดสอบโดยตรงและยุงไม่สัมผัสโดนสารทดสอบ ผลพบว่าน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบมะกรูดมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงดีกว่าสารที่สกัดจากผิวเปลือกมะกรูดในความเข้มข้นที่เท่ากัน ยกเว้นที่ระดับความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงใกล้เคียงกัน

จากการศึกษาข้างต้นอาจแสดงถึงความเป็นไปได้ในการนำมะกรูดมาประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี แต่จำเป็นต้องค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการใช้มะกรูดป้องกันยุงสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของมะกรูด

นอกจากการรักษาหรือป้องกันโรค บางคนยังนำมะกรูดมาใช้เป็นตัวช่วยด้านความสวยความงามตามธรรมชาติด้วย แต่การวิจัยในด้านนี้ยังค่อนข้างมีจำกัด จึงควรใช้มะกรูดและผลิตภัณฑ์จากมะกรูดอย่างระมัดระวังเสมอ

ตัวอย่างการใช้มะกรูดในชีวิตประจำวัน

  • บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ มะกรูดมีเบต้าแคโรทีน (β-Carotene) สารตั้งต้นของวิตามินเอซึ่งเป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยบำรุงสุขภาพผิวหนังและเส้นผม จึงอาจใช้มะกรูดบำรุงสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะได้ด้วยการนำผลมะกรูดสดที่ผ่าครึ่งซีกมาสระผมอีกครั้งหลังใช้ยาสระผมตามปกติ โดยถูมะกรูดกับเส้นผมและหนังศีรษะ หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด หรือนำผลมะกรูดผ่าครึ่งซีกไปเผาไฟแล้วนำมาใช้สระผม ซึ่งวิธีเหล่านี้อาจช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มสลวยเงางามและมีสุขภาพดีได้
  • บำรุงผิวหน้า มะกรูดมีวิตามินซีและกรดธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผิว โดยอาจนำผลมะกรูดสดที่นำเมล็ดออกแล้วไปปั่นรวมกับไข่ขาวหรือผสมน้ำเล็กน้อยก่อนนำมาพอกหน้า แต่ไม่ควรพอกทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจระคายเคืองต่อผิวได้

ความปลอดภัยในการใช้มะกรูด

ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณและความปลอดภัยในการใช้มะกรูดเพื่อบำรุงสุขภาพและความสวยความงามค่อนข้างน้อย แม้การบริโภคมะกรูดในอาหารและการใช้มะกรูดโดยทั่วไปอาจไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อร่างกายหากใช้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม แต่ก็มีรายงานว่าน้ำมันจากผิวมะกรูดอาจก่อให้เกิดผื่นแพ้บริเวณผิวหนังในบางรายได้เมื่อร่างกายสัมผัสแสงแดด

ดังนั้น ก่อนการใช้มะกรูดหรือสมุนไพรใด ๆ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน หากต้องการใช้น้ำมันจากผิวมะกรูด อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการสกัดโดยการกลั่นแทนการคั้นโดยตรง เพราะจะช่วยขจัดสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ออกไป สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของมะกรูด ควรศึกษาฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และเริ่มใช้ในปริมาณน้อยก่อนเสมอ