มะระ กับสรรพคุณทางการแพทย์

มะระ เป็นผักรสขมที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์เป็นยารักษาโรค นิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย โดยเชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยสมานแผล หรือแม้แต่อาจต้านเชื้อเอชไอวี

มะระ

ในประเทศไทย มีมะระอยู่ 2 สายพันธุ์ที่คุ้นเคยกันดี คือ มะระจีน มีผลขนาดใหญ่ สีเขียว ผิวขรุขระ นิยมนำมาทำต้มจืด อีกสายพันธุ์หนึ่งคือมะระขี้นก มีขนาดเล็กกว่ามะระจีน รสชาติขมกว่า แต่ก็ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่ต่างกัน

แต่คำกล่าวอ้างถึงสรรพคุณของมะระนั้น จะจริงหรือเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ของมะระไว้ ดังนี้

มะระกับการรักษาโรคเบาหวาน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นวิธีการรักษาโรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หลายคนคงเคยได้ยินมาว่ามะระช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ อาจเป็นเพราะในมะระมีสารเคมีบางอย่างทำหน้าที่เหมือนอินซูลิน ซึ่งมีรายงานการศึกษาบางชิ้นระบุว่า การรับประทานมะระอาจช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ และอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ด้วย แต่ในขณะเดียวกันมีการศึกษาบางส่วนที่แสดงผลแตกต่างออกไป โดยพบว่ามะระไม่ได้ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งหลักฐานทางการแพทย์ก็ยังมีไม่เพียงพอจะสรุปว่ามะระมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 จริง จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของมะระในด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไป

มะระกับคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เซลล์ร่างกายเกิดความเสียหาย และอาจทำให้เสี่ยงเผชิญโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอัลไซเมอร์ โดยหลายคนเชื่อว่ามะระอาจเป็นผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ เนื่องจากมะระประกอบไปด้วยสารฟีนอลหลายชนิด เช่น กรดแกลลิก (Gallic Acid) กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) และคาเทชิน (Catechin) ซึ่งเป็นสารพฤษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ใบมะระขี้นกมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยป้องกันจุดด่างดำตามผิวหนังได้ แต่การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

มะระกับการบรรเทากลุ่มอาการอ้วนลงพุง

อาการอ้วนลงพุงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เป็นต้น ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ป้องกันหรือรักษากลุ่มอาการอ้วนลงพุง ซึ่งมะระขี้นกเป็นพืชที่หลายคนเชื่อว่าอาจช่วยลดน้ำหนักได้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของมะระขี้นก โดยพบว่าหลังรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ไปแล้ว 3 เดือน กลุ่มทดลองมีขนาดรอบเอวเล็กลงไปจนถึงสิ้นเดือนที่ 4 แต่ประสิทธิภาพของอาหารเสริมมะระขี้นกกลับเริ่มลดลงในช่วงเดือนที่ 5 และ 6 จากผลการวิจัยจึงอาจกล่าวได้ว่า มะระขี้นกอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุงในระยะแรก ๆ

อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในเบื้องต้น ศึกษากับกลุ่มทดลองบางกลุ่ม และมีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวนน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะระในด้านนี้ต่อไป

มะระกับการสมานแผล

บาดแผลเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดความเสียหาย หรือมีเลือดไหลซึมออกมา ระยะเวลาในการสมานแผลขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผล และในบางครั้งบาดแผลอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นได้ด้วย เช่น แผลเบาหวาน ซึ่งเป็นบาดแผลที่อาจสมานตัวช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ในอดีตเชื่อกันว่าพืชบางชนิด เช่น มะระ อาจมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลได้ และเคยมีการศึกษาประสิทธิภาพของมะระในการสมานแผลด้วยการทดลองกับผิวหนังของกระต่ายที่มีแผลฉีกขาด พบว่าครีมที่มีส่วนผสมของมะระอาจช่วยเร่งให้แผลหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของสารสกัดจากมะระที่ส่งผลดีและทำให้แผลเบาหวานในหนูทดลองหายเร็วขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่ามะระมีประโยชน์ต่อการสมานแผล รวมถึงแผลเบาหวาน แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของมะระต่อการสมานแผลในมนุษย์ รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้มะระให้ชัดเจนต่อไป

มะระกับคุณสมบัติต้านเชื้อเอชไอวี

การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อเอชไอวี และในปัจจุบันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแต่ยาที่ยับยั้งการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสเท่านั้น หลายคนจึงมีความหวังในการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคนี้ และมะระก็เป็นหนึ่งในพืชผักที่เชื่อกันว่าอาจช่วยต้านเชื้อเอชไอวีได้ และมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการชิ้นหนึ่งพบว่า โปรตีนบางชนิดที่สกัดได้จากมะระอาจมีคุณสมบัติยั้บยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการค้นคว้าจะแสดงถึงแนวโน้มที่ดี แต่จำเป็นต้องศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของมะระก่อนนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

รับประทานมะระอย่างไรให้ปลอดภัย

การรับประทานมะระทั้งแบบดิบหรือปรุงสุกแล้วค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ หากรับประทานติดต่อกันในระยะสั้น ๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยหากรับประทานมะระติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน รวมถึงการรับประทานส่วนอื่น ๆ ของมะระ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมะระทาบริเวณผิวหนัง และในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะระบุปริมาณในการรับประทานมะระที่เหมาะสม นอกจากนั้น ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ของตนด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยก่อนรับประทานมะระหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากมะระ

ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานมะระเป็นพิเศษ

  • หญิงตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานมะระ เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีในผลหรือเมล็ดมะระอาจทำให้มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ และอาจเป็นสาเหตุให้แท้งได้ รวมถึงยังมีข้อมูลความปลอดภัยไม่เพียงพอหากรับประทานมะระในช่วงให้นมบุตร
  • เด็ก ห้ามรับประทานเยื่อหุ้มเมล็ดของมะระที่มีสีแดง เพราะอาจเป็นพิษต่อร่างกาย
  • ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน ไกลพิไซด์ โทลบูตาไมด์ ไกลเบนคาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น ควรระมัดระวังในการรับประทานมะระ เนื่องจากมะระอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานมะระ เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานมะระอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะมะระอาจรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ไม่ควรรับประทานเมล็ดมะระ เพราะอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ เช่น โลหิตจาง ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ และอาจมีภาวะโคม่าได้ในบางราย