ความหมาย มะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดี คือ ภาวะที่เซลล์ในท่อน้ำดีมีการเปลี่ยนแปลงหรือเจริญเติบโตผิดไปจากปกติ ซึ่งอาจเติบโตเป็นเนื้องอกหรือเนื้อร้าย และทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ส่วนใหญ่มักเริ่มเป็นจากเซลล์เยื่อบุผิวของท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มเป็นที่บริเวณใด ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดีในตับ (Intrahepatic Bile Duct Cancer) และมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ (Extrahepatic Bile Duct Cancer) ซึ่งมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทได้ดังนี้
- มะเร็งท่อน้ำดีที่อยู่บริเวณขั้วตับ (Perihilar Bile Duct Cancer) บริเวณขั้วตับเป็นที่ที่มักเกิดมะเร็งท่อน้ำดีขึ้น มะเร็งท่อน้ำดีเกิดขึ้นบริเวณนี้ถึง 50%
- มะเร็งท่อน้ำดีส่วนปลาย (Distal Bile Duct Cancer) อัตราการเกิดมะเร็งบริเวณนี้สูงเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนปลายของท่อน้ำดีที่อยู่ใกล้ ๆ กับลำไส้เล็ก
หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนมากผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อปรากฏอาการรุนแรง เช่น ตัวเหลือง ซึ่งทำให้รักษาได้ยาก และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
อาการของมะเร็งท่อน้ำดี
ในตอนแรกผู้ป่วยอาจยังไม่แสดงอาการจนกว่าเนื้อร้ายนั้นจะเจริญเติบโตไปปิดกั้นท่อน้ำดี อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยคือ อาการดีซ่าน ผิวและตาขาวเป็นสีเหลือง ดีซ่านเกิดจากบิลิรูบิน (Bilirubin) สารเคมีสีเหลืองเขียวในน้ำดีเพิ่มขึ้นเพราะไม่สามารถไหลผ่านไปยังลำไส้เล็กและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัสสาวะสีเหลืองเข้ม มีอุจจาระสีเหมือนดินหรือซีดและร่างกายไม่สามารถย่อยไขมันจากอาหารได้ แต่ละอาการอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดของเนื้อร้าย ผู้ป่วยอาจแสดงอาการอื่น ๆ เช่น
- มีไข้สูงมากกว่าหรือเทียบเท่า 38 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- อ่อนเพลียตลอดเวลาและรู้สึกไม่สบายตัว
- น้ำหนักลด
- ปวดท้อง บางคนอาจรู้สึกปวดตื้อบริวเวณท้องด้านขวาบน
- คันผิวหนัง
สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี
มะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากเซลล์ของท่อน้ำดีภายในตับหรือนอกตับเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงขึ้นจนกลายเป็นเนื้อร้าย แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีนั้นเกิดจากอะไร ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีอาจมาจากสารเคมี พฤติกรรม หรือสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย หรือจากการอักเสบระยะยาวจากโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งขั้นปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis)
- นิ่วในท่อน้ำดี
- โรคท่อน้ำดีโป่งพอง (Choledochal Cyst)
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับชนิด Ophisthorchis Viverrini
- ความผิดปกติบริเวณท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนเชื่อมต่อกัน
- โรคตับแข็ง
มะเร็งท่อน้ำดีอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีความเป็นไปได้เช่น
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- ไวรัสตับอักเสบ
- บุหรี่
- การบริโภคแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเสมอไป หลายคนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่เคยเป็นโรคมะเร็ง ในขณะที่คนเป็นมะเร็งอาจมีปัจจัยเสี่ยงเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
การวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดี
ในเบื้องต้นแพทย์อาจซักถามอาการและปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้ของผู้ป่วย ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอาจแสดงอาการคล้าย ๆ กับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์จึงอาจต้องใช้เวลาในการวินิจฉัย และแพทย์อาจต้องตรวจซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อหาระยะและการแพร่กระจายของมะเร็ง ในบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญและทดสอบมะเร็งท่อน้ำดีเพิ่มเติม กระบวนการวินิจฉัยมีดังนี้คือ
-
การตรวจร่างกาย
แพทย์อาจคลำช่วงท้องเพื่อหาอาการตับโต อาการกดเจ็บ ของเหลวที่จับตัวเป็นก้อน หรือลักษณะของก้อนอื่น ๆ และประเมินภาวะดีซ่าน -
อัลตราซาวด์
เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ง่ายและไม่ต้องใช้รังสี ใช้เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับและถุงน้ำดี และใช้ระบุว่าเนื้องอกนั้นเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ -
การทำซีทีสแกน
แพทย์ใช้เพื่อตรวจหามะเร็งท่อน้ำดี แต่จะไม่สามารถมองเห็นได้หากมะเร็งนั้นมีขนาดเล็ก ซีทีสแกนจึงนิยมนำมาใช้เพื่อประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง ตับ โครงสร้างในช่องท้อง หรืออวัยวะอื่น ๆ เป็นต้น -
การทำเอ็มอาร์ไอ
ผลภาพสามมิติจากเอ็มอาร์ไอช่วยให้แพทย์เห็นถึงการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะหรือโครงสร้างอื่น ๆ และใช้เพื่อตรวจหาขนาดและระยะของมะเร็งท่อน้ำดี แพทย์อาจใช้เอ็มอาร์ไอชนิดพิเศษที่เรียกว่าเอ็มอาร์ซีพี (Magnetic Resonance Cholangio Pancreatography: MRCP) ทำให้ได้รายละเอียดชัดเจนมากขึ้น -
การตรวจสารเคมีในเลือด
เป็นการตรวจหาค่าสารต่าง ๆ ในเลือด เพราะค่าสารบิลิรูบิน อัลคาไล ฟอสฟาเทส (Alkaline phosphatase: ALK) อะลานิน อะมิโนทรานส์เฟอเรส (Alanine Aminotransferase: ALT)และแอสพาร์เทต อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aspartate Aminotransferase: AST) จะสูงขึ้นเวลาผู้ป่วยมีปัญหากับถุงน้ำดี ท่อน้ำดีหรือตับ -
การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง
โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักใช้การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเพื่อหาว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ แต่ในบางครั้งก็นำมาใช้เพื่อวินิจฉัยมะเร็งในผู้ป่วยที่มีอาการดีซ่าน ได้แก่ CA19-9 และ CEA -
การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นถึงการปิดกั้นของเนื้องอกหรือเนื้อร้ายภายในท่อน้ำดี ช่วยแพทย์วางแผนการผ่าตัด และอาจมีการตัดเนื้อตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งในบางกรณี -
การเอกซเรย์ภาพท่อน้ำดี (PTC)
เป็นการเอกซเรย์ภาพท่อน้ำดีและตับโดยการฉีดสีเข้าทางเดินน้ำดีโดยใช้เข็มเจาะผ่านตับเพื่อให้ภาพชัดเจนมากขึ้น วิธีนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อไม่สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี ERCP ได้ -
การตัดเนื้อตรวจ (Biopsy)
แพทย์จะนำเนื้อเยื่อหรือเซลล์ตัวอย่างออกจากร่างกายเพื่อนำไปตรวจในห้องทดลอง นักพยาธิวิทยาสามารถช่วยยืนยันได้ว่าเซลล์ตัวอย่างนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ -
การส่องกล้องตรวจในช่องท้อง (Laparoscopy)
แพทยใช้เพื่อตรวจหาสัญญาณการเกิดมะเร็งในช่องท้อง หรือตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งไปสู่เยื่อบุช่องท้องและตับ -
การผ่าหน้าท้อง (Laparotomy)
การผ่าตัดช่วยให้แพทย์ตรวจอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องเพื่อประเมินว่ามะเร็งจะถูกกำจัดได้โดยการผ่าตัดหรือไม่
ระยะของมะเร็งท่อน้ำดี
- ระยะ 0
มะเร็งมีการเจริญเติบโตเฉพาะในบริเวณเนื้อเยื่อชั้นในของท่อน้ำดี และไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือบริเวณอื่น ๆ -
ระยะ 1
มีมะเร็งก้อนเดี่ยวเกิดขึ้นที่ชั้นลึกของผนังท่อน้ำดี ไม่มีการเจริญเติบโตไปยังหลอดเลือด ไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือบริเวณอื่นๆ -
ระยะ 2
มะเร็งก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนกระจายไปที่หลอดเลือด แต่ไม่ลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ -
ระยะ 3
มะเร็งเจริญเติบโตไปยังอวัยวะใกล้เคียงเช่น ผนังช่องท้อง กระบังลม ลำไส้เล็กตอนต้น ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบหลอดเลือดดำในตับ แต่ไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือบริเวณอื่น ๆ -
ระยะ 4 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
-
ระยะ 4A
มะเร็งกระจายไปทั่วตับ โดยเจริญเติบโตผ่านท่อน้ำดีในตับหรือมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่ไม่แพร่กระจายไปบริเวณอื่น -
ระยะ 4B
มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
-
ระยะ 4A
การรักษามะเร็งท่อน้ำดี
ส่วนมากผู้ป่วยจะทราบตนเองว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดีก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดการเจริญเติบโตและแพร่กระจายแล้ว หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ มะเร็งท่อน้ำดีมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ การรักษาส่วนมากเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการให้นานที่สุด อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือปี เพื่อวางแผนการรักษา แพทย์อาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น
- ตำแหน่งของมะเร็ง
- สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- ผลข้างเคียงที่อาจเป็นไปได้หลังการรักษา
- โอกาสในการกำจัดมะเร็งด้วยการผ่าตัด
- โอกาสในการหายจากการผ่าตัดรักษาโรค เพื่อลดอาการปวด หรือเพื่อยืดอายุ
หากพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี แพทย์จะรักษามะเร็งท่อน้ำดีดังนี้
- การผ่าตัด เป็นการกำจัดเนื้อร้ายออกจากร่างกายของผู้ป่วย อาจรวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อกำจัดบางส่วนของท่อน้ำดี ตับอ่อนหรือตับ และเนื้อเยื่อรอบ ๆ บริเวณที่ติดเชื้อในบางกรณี
- หัตถการสำหรับระบายน้ำดี (Stent Insertion) เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น ดีซ่าน ปวดท้องและคันผิวหนัง โดยการใส่ท่อระบายน้ำดีไปในท่อน้ำดีเพื่อหยุดการปิดกั้น
- การทำเคมีบำบัด หากมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้การทำเคมีบำบัดแต่ผู้ป่วยต้องมีความพร้อมร่างกายที่ดีพอ การทำเคมีบำบัดจะช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งและอาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น ผมร่วง อ่อนเพลีย เป็นต้น
-
การทำรังสีบำบัด
ช่วยชะลอการแพร่กระจายและบรรเทาอาการต่าง ๆ ของมะเร็งท่อน้ำดี อาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยมีอาการท้องร่วงหรืออ่อนเพลีย เป็นต้น
การรักษาแบบบประคับประคอง (Supportive Care)
การรักษาแบบประคับประคองเป็นอีกการรักษาหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของโรคและปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย การรักษาแบบประคับประคองช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น
-
อาการปวด
ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการปวดเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบ ๆ เส้นประสาทและอวัยวะต่าง ๆ โดยสามารถบรรเทาได้โดยใช้ยาลดปวดหรือการฉายรังสีเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง เป็นต้น -
อาการดีซ่าน
อาการดีซ่านอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันผิวหนัง บรรเทาได้โดยยาแก้คัน ยาขับน้ำดี การสวมเสื้อหลวม ๆ ใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและทาครีมที่ทำให้ผิวชุ่มชื่นหลังอาบน้ำ -
เบื่ออาหาร
หากผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร อาจใช้ยาต้านคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารจำนวนน้อย ๆ ที่มีแคลอรี่สูง ๆ หรือกินอาหารเสริมก็สามารถช่วยได้ -
ท่อน้ำดีอักเสบ
ผู้ป่วยอาจมีไข้ หนาวหรือมีสัญญาณการติดเชื้ออื่น ๆ การติดเชื้ออาจรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ -
ฝีในตับ
ผู้ป่วยอาจมีไข้ หนาวหรือเป็นดีซ่าน แพทย์อาจต้องระบายหนองและจ่ายยาปฏิชีวนะ
หลังการรักษา
ในบางกรณีแพทย์อาจกำจัดมะเร็งได้ทั้งหมด การรักษาเสร็จสมบูรณ์ แต่ในบางกรณีผู้ป่วยยังต้องทำการรักษาเพื่อควบคุมและลดอาการต่าง ๆ จึงมักมีผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักลด หรือคลื่นไส้ที่อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือนหรือตลอดไป ผู้ป่วยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อดูแลสุขภาพขอตนเองให้ดีขึ้น เช่น หันมาออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหมจนเกินไปหรือปรึกษานักโภชนาการเพื่อเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
โอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นมะเร็งในช่วงปีแรก ๆ หลังจากการรักษานั้นสูงมาก แพทย์จึงต้องคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดโดยทั่วไปทุก ๆ 6 เดือนในช่วง 2 ปีแรก เพื่อตรวจเลือด ตรวจร่างกาย เอ็มอาร์ไอหรือซีทีสแกนหาการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง ในกรณีที่ผู้ป่วยพบว่าตนเองปรากฏอาการดีซ่านและปวดช่องท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที และหากแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง การรักษาอาจเปลี่ยนไปจากเดิม การรักษาจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษามะเร็งครั้งก่อน ตำแหน่งที่เกิดมะเร็งและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย
การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดี
เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีนั้นคืออะไร การป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว การควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ เพียงรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ จำกัดปริมาณการรับประทานเนื้อปรุงแต่งและเนื้อสด เลือกบริโภคปลา สัตว์ปีกและถั่ว เน้นอาหารจากพืชและธัญพืชไม่ขัดสี รวมไปถึงการรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 2 ถ้วยครึ่งต่อวัน
วิธีอื่น ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
- เลิกบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่
- ระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไวรัสอื่น ๆ ทางเลือดหรือทางเพศสัมพันธ์
- รักษาการติดเชื้อไวรัสตับบีและซีเพื่อป้องกันโรคตับแข็ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี
- รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงจนสุก