หลังจากที่แพทย์มีความเห็นว่ามะเร็งระยะสุดท้ายของผู้ป่วยนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือควบคุมได้ และมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตภายในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้กระบวนการรักษาหรือการบำบัดบางอย่างต้องสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยยังคงต้องดำเนินต่อไป ดังนั้น การเรียนรู้วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ถูกต้องจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนที่คุณรักได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต
มะเร็งระยะสุดท้ายเป็นอย่างไร ?
มะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวมากกว่าปกติจนเกิดก้อนเนื้อขึ้นที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ต่อมาเนื้อร้ายนี้จะลุกลามไปบริเวณอื่นหากไม่ได้รับการรักษา โดยอาการจะแตกต่างกันไปตามชนิด บริเวณที่ตรวจพบ และความเร็วในการเจริญเติบโตของมะเร็ง
มะเร็งระยะสุดท้าย คือ ระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเซลล์มะเร็งจะขยายตัวใช้พื้นที่และแย่งสารอาหารที่จำเป็นต่ออวัยวะในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำงานตามปกติเป็นอย่างมาก การรักษาโดยมุ่งกำจัดมะเร็งไม่ได้ผล และมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- มีอาการเมื่อยล้าและอ่อนแรง โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
- มีอาการเจ็บปวดทางร่างกาย ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติอยู่จะสามารถบอกได้ว่ารู้สึกปวดที่บริเวณใด แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ ผู้ดูแลอาจสังเกตอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอก เช่น หายใจเสียงดัง ขยับตัวไปมาเพื่อหาตำแหน่งที่สบายตัวขึ้น กระสับกระส่าย และมีการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง เป็นต้น
- ความอยากอาหารลดลง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อย และน้ำหนักตัวลดลง
- พบปัญหาในการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม และหายใจช้าหรือเร็วผิดปกติ เป็นต้น
- ระบบไหลเวียนโลหิตและอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ โดยอาจรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสที่บริเวณขาหรือแขนของผู้ป่วย และผิวหนังของผู้ป่วยอาจเย็น แห้ง หรือชื้น
- พบปัญหาในการขับถ่าย เช่น ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ เป็นต้น
- รู้สึกสับสนเกี่ยวกับเวลา สถานที่ รวมถึงการจดจำบุคคลใกล้ชิด
- มีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึม นอนหลับบ่อยขึ้น หลับๆ ตื่นๆ หรือรู้สึกสับสนขณะเพิ่งตื่นนอน
- แยกตัวออกจากครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน และขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ออกซิเจนในสมองลดลง การไหลเวียนโลหิตลดลง ความอ่อนเพลียมากขึ้น หรือการเตรียมสภาพจิตใจก่อนเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้น เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูก เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งมักรู้สึกกลัวอาการเจ็บปวดมากกว่าสิ่งอื่นใด เนื่องจากอาการปวดอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ มีความอยากอาหารที่ลดลง และไม่มีสมาธิ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจว่าอาการเจ็บปวดสามารถควบคุมบรรเทาได้ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดใด ๆ ที่เกิดขึ้นและให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดต่าง ๆ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
หลังจากที่ผู้ป่วยทราบว่าเหลือเวลาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกจำกัดเนื่องจากมะเร็งลุกลามไปมากแล้ว คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลควรเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจ และเรียนรู้วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เป็นการดูแลเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ รวมถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากมะเร็งโดยที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากมะเร็ง แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณโดยมุ่งเน้นไปที่ตัวตนของผู้ป่วยและครอบครัวมากกว่าโรค
ซึ่งวิธีที่ใช้รักษาเพื่อบรรเทาอาการอาจรวมถึงการบำบัดด้วยรังสี เคมีบำบัด การผ่าตัด หรือการใช้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
-
การดูแลทางด้านร่างกาย
ผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียพลังงานมากจนเกินไป รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บปวดและสอบถามอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ และควรให้ผู้ป่วยรับประทานยา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรืออาการทางร่างกายอื่น ๆ เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ และหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น
-
การให้ความช่วยเหลือเรื่องการรับประทานอาหาร
แม้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอาจจะมีความอยากอาหารลดลง และรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มได้น้อย แต่ผู้ดูแลก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เลือกว่าอยากรับประทานอะไรหรือเมื่อใด ซึ่งผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวหรือไม่แข็งมากอย่างไอศกรีมหรือมิลค์เชค เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาในการเคี้ยวอาหาร จึงไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แข็งจนเกินไป
-
การดูแลเรื่องการใช้ยา
แพทย์อาจบรรเทาความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยด้วยการให้ยาระงับอาการปวด ซึ่งผู้ดูแลควรใส่ใจเรื่องการรับประทานยาของผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ และควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับยาและปริมาณการใช้ยาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบปัญหาในการกลืนยา ผู้ดูแลอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์เกี่ยวกับยาระงับอาการปวดชนิดน้ำ หรือชนิดแผ่นแปะ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ เช่น การนวด การประคบ และการใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น
-
การดูแลทางด้านจิตใจ
เนื่องจากกำลังใจถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดควรให้กำลังใจให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ โดยคุณอาจพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่านหนังสือให้ฟัง หรืออยู่เคียงข้างผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแม้ในขณะนอนหลับ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูดสิ่งที่มีค่ามีความหมายในชีวิตหรือแสดงความรู้สึกในเรื่องที่ผู้ป่วยรู้สึกเป็นกังวล
รวมถึงให้คำยืนยันว่าจะทำตามความต้องการของผู้ป่วยในเรื่องต่าง ๆ อย่างเรื่องพินัยกรรม หรือสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการแต่ยังค้างคาอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจรับรู้ได้แม้จะไม่สามารถตอบสนองได้ก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจนำวัตถุหรือสิ่งของที่มีความหมายกับผู้ป่วยมาไว้ใกล้ผู้ป่วย หรืออาจเชิญให้นักบวชตามศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือเลื่อมใสมาพบปะสนทนาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากยิ่งขึ้น
-
การดูแลเมื่อผู้ป่วยต้องนอนบนเตียง
ผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยต้องนอนบนเตียงตามลักษณะของอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การใช้ผ้ารองนอนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด การช่วยปรับท่าทางของผู้ป่วยโดยอาจใช้หมอนรองศีรษะหรือปรับระดับของเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในการพลิกตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงเมื่อผู้ป่วยต้องนอนบนเตียง การห่มผ้าเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น เป็นต้น
ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อใด ?
ผู้ดูแลควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหากสังเกตว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้
- มีอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเกิดอาการที่เคยควบคุมได้กลับเป็นมากขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกสับสน วิตกกังวล กระส่ายกระสับ เป็นต้น
- แสดงอาการที่บ่งบอกถึงความไม่สบายตัวอย่างการแสดงสีหน้า หรือเสียงร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดอย่างรุนแรง
- ยังคงมีอาการเจ็บปวดหลังจากการใช้ยาระงับอาการปวด
- มีอาการหายใจลำบาก
- ไม่สามารถปัสสาวะหรืออุจจาระตามปกติได้
- มีอาการซึมเศร้าและพูดถึงการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หากประสบปัญหาใด ๆ ในระหว่างการดูแลผู้ป่วย เช่น ไม่สามารถให้ยาผู้ป่วยได้หรือมีความยากลำบากในการให้ยา รู้สึกเศร้าเกินไป รู้สึกกลัวที่จะอยู่ใกล้ผู้ป่วย หรือไม่ทราบว่าจะรับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร เป็นต้น