คุณแม่หลายคนอาจกังวลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ เพราะมะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการจะตรวจพบมะเร็งเต้านมในช่วงตั้งครรภ์อาจช้ากว่าคนทั่วไป เนื่องจากเต้านมของคุณแม่จะแน่นและโตขึ้นในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ ทำให้เซลล์มะเร็งอาจขยายตัวและจัดเป็นระยะรุนแรงแล้วเมื่อตอนตรวจพบ
อาการของมะเร็งเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ที่มักพบ ได้แก่ เจอก้อนเนื้อผิดปกติเมื่อคลำเต้านม รอบเต้านมหรือบริเวณใต้วงแขน เต้านมเป็นรอยบุ๋ม ผิวบริเวณเต้านมเหี่ยวย่น หรือมีลักษณะคล้ายเปลือกส้ม หัวนมบุ๋มเข้า รูปทรงหรือขนาดของเต้านมเปลี่ยนไป มีของเหลวใสหรือเลือดไหลออกจากหัวนม ผิวบริเวณหัวนม ฐานหัวนม หรือเต้านมเป็นสะเก็ด รอยแดง หรือบวม
การสังเกตและเฝ้าระวังความผิดปกติของเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยให้คุณแม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นการตรวจร่างกาย ร่วมกับวิธีต่าง ๆ ที่ปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
การอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
เป็นการตรวจมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์เบื้องต้นและมีความปลอดภัย แม้ว่าวิธีนี้อาจยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ แต่จะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าก้อนในเต้านมเป็นก้อนเนื้อหรือซีสต์ (Cyst) อย่างไรก็ตาม การอัลตราซาวน์จะช่วยให้เห็นการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง และการตอบสนองของโรคต่อการรักษา
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
เมมโมแกรมเป็นการตรวจโดยใช้รังสีในประมาณที่ปลอดภัย และตัวรังสีจะมุ่งไปยังเต้านมเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยให้เห็นการก่อตัวของหินปูนเต้านม (Calcification) ความหนาแน่นของเซลล์เยื่อบุผิวที่สร้างสารคัดหลั่ง ผิวและเนื้อเยื่อที่หนาขึ้นในบริเวณเต้านม และขนาดของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้มาประเมินและวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์จะสั่งให้มีการตรวจในกรณีที่สงสัยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการของโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น
การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)
เอ็มอาร์ไอเป็นการตรวจหาความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ในร่างกายที่มีความปลอดภัย เนื่องจากไม่มีรังสีที่เป็นอันตราย โดยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ยืนยันผลการตรวจได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นหลังจากตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมแล้ว แต่การทำเอ็มอาร์ไออาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก จึงมักจะใช้ตรวจในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Biopsy)
แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อที่ตรวจพบในเต้านมออกมาตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยจะฉีดยาชาในบริเวณดังกล่าวก่อนการตัดชิ้นเนื้อ ทว่าเป็นวิธีที่คุณแม่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะเลือดออกมาก และการรั่วไหลของน้ำนมในระหว่างการตรวจ
การรักษามะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยต่อแม่และเด็ก
แพทย์จะวางแผนการรักษาตามสุขภาพร่างกายโดยรวม ตำแหน่งที่เกิด ขนาดของมะเร็ง การลุกลามของโรค ชนิดของมะเร็งเต้านม และความต้องการของตัวคุณแม่เอง ตัวอย่างวิธีรักษามะเร็งเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีหลัก ได้แก่ การตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน (Breast-Conserving Surgery) เป็นการผ่าตัดที่นำเซลล์มะเร็งกับเนื้อเยื่อเต้านมรอบ ๆ บางส่วนออกไปเท่านั้น และมักต้องรักษาควบคู่กับการฉายรังสีหลังการผ่าตัด
ส่วนการผ่าตัดอีกรูปแบบคือการตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) และอาจรวมถึงต่อมน้ำเหลืองโดยรอบด้วย ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ และคุณแม่มักไม่ต้องมีการฉายรังสีหลังการผ่าตัด ซึ่งรังสีที่ใช้รักษาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจะต้องประเมินปัจจัยอื่น ๆ ก่อนการเลือกวิธีผ่าตัดด้วย ทั้งขนาดของมะเร็ง การลุกลามของมะเร็ง อายุครรภ์ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
การทำเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นวิธีที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 โดยจะใช้รักษาหลังการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมซ้ำ ซึ่งยาเคมีบำบัดบางชนิดมีความปลอดภัยต่อตัวอ่อนในครรภ์ เช่น ยากลุ่มแทกเซน (Taxane) ยาด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) หรือยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
ทั้งนี้ ช่วงเวลาในการเริ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ ความรุนแรงของอาการ และชนิดของโรคมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 35 สัปดาห์หรืออยู่ในช่วงหลังคลอดไม่เกิน 3 สัปดาห์ แพทย์จะไม่แนะนำให้รักษาด้วยเคมีบำบัดเพราะอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของทารกและร่างกายของคุณแม่ได้
การรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation Therapy)
รังสีบำบัดเหมาะกับผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน โดยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำเช่นเดียวกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
แต่การฉายรังสีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด พัฒนาการช้า เกิดมะเร็งในเด็ก หรือแท้งบุตร แพทย์จึงหลีกเลี่ยงการฉายรังสีในระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ หรือหากผู้ป่วยตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาสที่ 3 แพทย์อาจเริ่มการฉายรังสีหลังจากผู้ป่วยคลอดบุตรแล้ว
ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) หรือการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ควรใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ได้
เมื่อป่วยด้วยมะเร็งเต้านม สามารถให้นมบุตรได้หรือไม่
ผู้ที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งเต้านมไม่เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำนม แต่เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มให้นมบุตร ในกรณีที่คุณแม่วางแผนผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมแล้ว ควรหยุดให้นมบุตรเพื่อลดปริมาณการไหลเวียนของเลือดภายในเต้านม
ในกรณีที่คุณแม่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด รักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง หรือรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด ไม่ควรให้นมบุตร เนื่องจากตัวยาที่คุณแม่ใช้ในการรักษาอาจปนเปื้อนไปกับน้ำนมได้
นอกเหนือจากการสังเกตสัญญาณของมะเร็งเต้านมระหว่างตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ยังควรดูแลสุขภาพให้รอบด้าน ทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผักผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไร้มัน หรือวิตามินบำรุงครรภ์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และใช้ยาทุกชนิดอย่างระมัดระวัง
คุณแม่ควรพบแพทย์หากมีภาวะเลือดออกมาก ปวดท้อง น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือปวดหลังเรื้อรัง เพราะอาการผิดปกติเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคใดโรคหนึ่งได้