หากต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางร่างกายและการดูถูกเหยียดหยามจากคนอื่น คุณจะรู้สึกอย่างไร หลายคนอาจรู้สึกอับอาย โกรธแค้น เสียใจ และหดหู่ แต่บางคนอาจรู้สึกดีเมื่อได้สัมผัสกับความเจ็บปวดและการลดทอนคุณค่าเหล่านี้ หรือแม้แต่เกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งเราอาจเรียกผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลในความเจ็บปวดนี้ว่า มาโซคิสม์ (Masochist)
มาโซคิสม์อาจแบ่งแบบไม่เป็นทางการได้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือผู้ที่ชื่นชอบความเจ็บปวดในลักษณะที่เป็นรสนิยมส่วนตัว อีกรูปแบบจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีอาการความผิดปกติทางเพศ (Paraphilia) ซึ่งมาโซคิสม์นั้นจัดเป็นขั้วตรงข้ามกับซาดิสม์ (Sadist) หรือผู้ที่ชอบสร้างความเจ็บปวด แต่ไม่ว่าจะเป็นมาโซคิสม์ในรูปแบบไหนก็อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจได้เช่นกัน
พฤติกรรมแบบไหนเรียกว่ามาโซคิสม์ ?
มาโซคิสม์เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ชื่นชอบและพึงพอใจในความเจ็บปวดของตนเอง โดยลักษณะทั่วไปของคนที่เป็นมาโซคิสม์ คือ บุคคลนั้นมีความรู้สึกพึงพอใจ ตื่นเต้น และเกิดอารมณ์ทางเพศอย่างรุนแรงเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือถูกลิดรอนสิทธิบางอย่าง เช่น ถูกทุบตี ถูกกักขัง ถูกลามหรือมัด ถูกด่าทอ ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม หรือถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อร่างกายและจิตใจ
อย่างที่ได้กล่าวไปว่ามาโซคิสม์อาจแบ่งได้ 2 รูปแบบด้วยกัน แต่ละรูปแบบมีลักษณะที่ต่างกันดังนี้
มาโซคิสม์ BDSM
มาโซคิสม์ในรูปแบบของรสนิยมจัดอยู่ในกลุ่ม BDSM (ฺBondage-Discipline, Dominance-Submission, Sadism-Masochism) BDSM จัดเป็นไลฟ์สไตล์ทางเพศรูปแบบหนึ่งที่มีการสวมบทบาทเป็นผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ มักมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศระหว่างคู่นอน โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย คำพูด และพฤติกรรม จะเป็นการยินยอมตกลงกันอย่างถูกต้องของทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มกิจกรรม
ในทางวิทยาศาสตร์มีการศึกษาชี้ว่าผู้ที่มีไลฟ์สไตล์แบบ BDSM และการเป็นมาโซคิสม์ในรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางจิตเสมอไป ในอีกแง่หนึ่งผลการศึกษาพบว่าการปลดปล่อยตัวเองด้วยไลฟ์สไตล์แบบ BDSM อาจช่วยลดความเครียดและเสริมสุขภาพจิตบางรูปแบบได้อีกด้วย
มาโซคิสม์จากความผิดปกติทางทางเพศ
มาโซคิสม์ในรูปแบบของความผิดปกติทางเพศมักเป็นพฤติกรรมที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองทางอารมณ์ต่อความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ผู้ที่เป็นมาโซคิสม์รูปแบบนี้อาจไม่สามารถควบคุมความต้องการหรืออารมณ์ของตนเองได้ รู้สึกหมกมุ่นกับการถูกทรมานและเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยด้วยความผิดปกตินี้มักเกิดอาการทางจิตใจและอารมณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความเครียด ความรู้สึกผิด ความละอายต่อพฤติกรรมที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ โดยจิตแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกตินี้หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน
นอกจากการตอบสนองต่อความรุนแรงแล้ว มาโซคิสม์รูปแบบนี้อาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ตนเกิดความทุกข์ เช่น
- รับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ เพื่อทรมานตนเอง
- ทำให้สถานการณ์บางอย่างของตนเองแย่ลง
- ยินยอมต่อการถูกคุกคามหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบ
- เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับคนที่ไม่เป็นมิตร อย่างชอบทำร้ายร่างกาย พูดจาไม่ดี หรือไม่ให้เกียรติคนอื่น
- วิพากษ์วิจารณ์และด่าทอตนเองอย่างรุนแรง
- ติดแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมาโซคิสม์ในรูปแบบนี้ แต่คาดว่าอาจเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ความรุนแรงและเพศในอดีต เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ความผิดปกตินี้มักเริ่มในช่วงวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ก็อาจพบในช่วงวัยอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
มาโซคิสม์ ความสัมพันธ์รักที่เสี่ยงอันตราย
แม้ว่ามาโซคิสม์ในรูปแบบไลฟ์สไตล์มักจะไม่เป็นอันตรายและอาจมีผลดีต่อสภาวะจิตใจเฉพาะบางรูปแบบ แต่เมื่อมีความรุนแรงมาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงตามมาได้ เช่น การบาดเจ็บทางร่างกาย การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด การถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือเหตุการณ์อื่น ๆ เมื่ออีกฝ่ายทำเกินขอบเขตที่ตกลงไว้ เป็นต้น
ผู้ที่ชื่นชอบในความเจ็บปวดไม่ว่าจะเป็นมาโซคิสม์หรือซาดิสม์มักมีรูปแบบกิจกรรมที่ต่างออกไปจากคนกลุ่มอื่น หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ Asphyxiaphilia หรือการจำกัดการหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้ผ้าปิดปาก ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ หรือวิธีการอื่นเพื่อทำให้มาโซคิสม์หายใจได้น้อยลง ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดก็อาจทำให้ขาดอากาศหายใจ พิการ และเสียชีวิตได้
นอกจากนี้มาโซคิสม์ในรูปแบบของความผิดปกติทางความต้องการทางเพศที่ไม่สามารถแยกแยะความรู้สึก ความต้องการ และพฤติกรรมของตนเองกับการใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา เช่น การถูกไล่ออกจากงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาชีวิตด้านอื่น ๆ
มาโซคิสม์ รักษาได้ไหม ?
ผู้ที่เป็นมาโซคิสม์แบบไลฟ์สไตล์อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ตราบใดที่รสนิยมและความรู้สึกดังกล่าวไม่ส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิต แต่สำหรับมาโซคิสม์ที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ และการเสียชีวิต
เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาและผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีความผิดปกติในรูปแบบดังกล่าวจริง จิตแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน
ตั้งแต่การใช้ยาในการปรับสมดุลสารเคมีภายในสมองและร่างกายเพื่อควบคุมความรู้สึกที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และอาจแนะนำให้เข้ารับการบำบัดด้านอื่น ๆ อย่างการบำบัดความคิด การบำบัดพฤติกรรม และการบำบัดกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ ตระหนัก และเข้าใจถึงความรู้สึก ความคิด พฤติกรรมของตนเอง ตลอดจนผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์มักต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนรอบตัว แม้ตัวผู้ป่วยเองอาจไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น แต่เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย หากพบว่าคนใกล้ตัวมีสัญญาณหรือมีพฤติกรรมของมาโซคิสม์ ควรโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม