มีเลือดออกจากช่องคลอด สาเหตุและสัญญาณผิดปกติที่ควรสังเกต

มีเลือดออกจากช่องคลอด (Vaginal Bleeding) หมายถึงการมีเลือดออกจากช่องคลอดที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน และภาวะผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของสุขภาพร่างกาย และผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยอาจทำให้มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงเลือดออกปริมาณมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

การดูแลรักษาอาการเลือดออกจากช่องคลอดจะแตกต่างกันตามสาเหตุ หากมีเลือดออกทางช่องคลอดจากการมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน แต่การมีเลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจสื่อถึงความผิดปกติของร่างกายที่ควรได้รับการตรวจและรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสม

มีเลือดออกจากช่องคลอด

7 สาเหตุของการมีเลือดออกจากช่องคลอด

การมีเลือดออกจากช่องคลอดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. ประจำเดือน

ประจำเดือนคือเลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในแต่ละเดือน 

การมีเลือดออกจากช่องคลอดจากประจำเดือนจึงถือเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เลือดประจำเดือนจะเกิดขึ้นทุก 21–35 วัน และในแต่ละรอบมีระยะเวลาประมาณ 3–7 วัน 

หากมีประจำเดือนติดต่อกันนานกว่า 7 วัน เลือดที่ออกมีปริมาณมากหรือน้อยผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ตรงตามรอบ หรือไม่มาติดต่อกันหลายเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา 

2. การใช้ยาคุมกำเนิด

การใช้ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบยาเม็ด ยาฝัง แผ่นแปะ หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด อาจทำให้บางคนมีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยมักมีอาการในช่วง 2–3 เดือนแรกที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิด จากนั้นอาการจะหายไปได้เอง

3. การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์

การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้ เช่น 

นอกจากการมีเลือดออกจากช่องคลอด ผู้ที่มีโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เหล่านี้มักมีตกขาวมาก มีกลิ่นเหม็น รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย มีไข้ และมีตุ่มหรือแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือตามร่างกาย ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านไวรัส

4. เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลง ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อนหรือขาดไปแล้วกลับมามีอีกในหลายเดือนต่อมา ซึ่งวัยใกล้หมดประจำเดือนจะเกิดขึ้นประมาณ 8–10 ปีก่อนที่จะเข้าสู่วัยหมดประเดือนอย่างถาวรเมื่ออายุได้ประมาณ 45–55 ปี 

5. เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง ภาวะช่องคลอดแห้ง การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกในโพรงมดลูกหรือปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยอาจมีลักษณะเป็นหยดเลือดเล็ก ๆ และอาการจะหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

แต่กรณีที่มีเลือดออกจากช่องคลอดจากการติดเชื้อ หรือมีเลือดออกหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว ควรไปพบแพทย์

6. เลือดออกจากช่องคลอดขณะตั้งครรภ์

การมีเลือดออกจากช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ ที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเลือดที่ออกมักจะสีจางกว่าปกติ และปริมาณน้อยในลักษณะกะปริดกะปรอยประมาณ 1–2 วัน แล้วหายไป ซึ่งไม่เป้นอันตรายใด ๆ

แต่คนที่ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และผู้ที่ตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะการมีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมากในช่วงไตรมาสที่ 2–3 ของการตั้งครรภ์ เช่น การท้องนอกมดลูก รกเกาะต่ำ การแท้ง มดลูกแตก และการคลอดก่อนกำหนด

7. กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่เป็นภาวะผิดปกติที่ทำให้เกิดการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่ และเกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมากในรังไข่ มักเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนและอินซูลิน อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย 

8. เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)

การมีเนื้องอกเกิดขึ้นที่มดลูก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้ เนื้องอกมดลูกมักไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็ง และบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่บางคนอาจมีประจำเดือนมามาก มาถี่ หรือนานกว่ารอบเดือนปกติ ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย และท้องน้อยมีขนาดโตขึ้น หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่

9. โรคอื่น ๆ

โรคอื่น ๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งท่อนำไข่ โรคไทรอยด์ โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีเลือดออกจากช่องคลอด

การมีเลือดออกจากช่องคลอดอาจหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่การดูแลตัวเองขณะที่มีอาการอาจช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น ซึ่งแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
  • ใช้ผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัยซึมซับเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีที่มีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4–6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
  • งดสวนล้างช่องคลอด และงดการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่มีเลือดออกจากช่องคลอด
  • ประคบร้อนบริเวณท้องน้อย เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน และโยคะ
  • ผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ
  • ใช้ยาคุมกำเนิดตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลาก หรือตามที่เภสัชกรแนะนำ
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

สัญญาณอันตรายจากการมีเลือดออกจากช่องคลอด

หากมีเลือดออกจากช่องคลอดในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา

  • ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ มีก้อนเลือดปน ประจำเดือนมาช้า มานานหลายวันผิดปกติ หรือขาดไปหลายเดือน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดมากขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2–3
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดก่อนเข้าสู่วัยรุ่น หรือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากการสวนล้างช่องคลอดหรือมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นเวลาหลายเดือนหลังเริ่มใช้ยาคุมกำเนิด
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด พร้อมกับอาการปวดท้องรุนแรง น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย เวียนหัว เป็นลม ตัวซีด มีไข้

การรักษาอาการมีเลือดออกจากช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ บางครั้งแพทย์อาจให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และลดน้ำหนัก เพื่อรักษาอาการจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล การรับประทานยา เช่น ยาปฏิชีวนะ กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด และการผ่าตัด กรณีที่มีอาการรุนแรงมาก