มือชาตอนกลางคืน สัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง

อาการมือชาตอนกลางคืน หรือความรู้สึกเสียวแปลบที่มือขณะนอนหลับ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็อาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับได้อีกด้วย เช่น ทำให้ตื่นกลางดึกและส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงควรหาวิธีรับมืออย่างเหมาะสม หรือไปพบแพทย์หากอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ

อาการมือชาตอนกลางคืนอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การนอนผิดท่า การนอนทับแขน หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบประสาทและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน หากคุณรู้สาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการมือชาตอนกลางคืน คุณก็จะสามารถรับมือหรือหาวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

มือชาตอนกลางคืน

7 สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการมือชาตอนกลางคืน

อาการมือชาตอนกลางคืนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

1. การนอนผิดท่า

การนอนทับมือหรือทับแขนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทบริเวณแขนหรือมือ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และส่งผลให้เกิดอาการชาตามมาได้ รวมถึงการนอนงอแขน ข้อศอก ข้อมือ หรือการนอนยกแขนไว้เหนือศีรษะเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท หรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และเกิดอาการมือชาตอนกลางคืนได้

นอกจากนี้ ผู้ที่นอนเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่ต่ำมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการมือชาตอนกลางคืนได้เช่นกัน

2. การขาดวิตามินบางชนิด

วิตามินบี 12 มีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและเส้นประสาทต่าง ๆ ภายในร่างกาย การได้รับวิตามินบี 12 จากอาหารไม่เพียงพอ หรือการที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ก็อาจส่งผลให้อาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง หรือเกิดอาการชาตามมือและแขนในขณะนอนหลับได้

3. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง 

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคความดันโลหิต ยาต้านชัก หรือยาเคมีบำบัด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือมีอาการมือชาตอนกลางคืนได้ รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยเช่น รู้สึกเสียวแปลบหรือแสบร้อน สูญเสียสมดุล อ่อนล้า หรืออ่อนแรง หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการหยุดใช้ยาหรือปรับยา

4. ผลข้างเคียงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการมือชาตอนกลางคืนได้ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปจะทำลายเส้นประสาท และส่งผลให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบตามมา รวมถึงอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อกระตุกร่วมด้วย

5. ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด 

ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเมื่อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้เกิดอาการชาตามมา ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนของเลือดได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดอักเสบ การมีคราบจุลินทรีย์สะสมในหลอดเลือดแดง หรือโรคเรเนาด์ (Raynaud Disease)

6. ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบประสาท 

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบประสาทอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการมือชาตอนกลางคืนได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome) โรคปลายประสาทอักเสบทั่วไป หรือโรคปลายประสาทอักเสบที่เกิดจากโรคเบาหวาน มักทำให้เส้นประสาทเกิดการเสียหาย และเกิดอาการชา เสียวแปลบ แสบร้อน หรือเจ็บปวดตามมือหรือแขนได้

7. อาการบาดเจ็บหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ 

การบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บที่ข้อมือ การบาดเจ็บที่ข้อศอกจากการหกล้ม การประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) โรคข้ออักเสบที่คอ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ สามารถทำให้เกิดการเสียหายของเส้นประสาท และส่งผลให้เกิดอาการชาตามมือหรือแขนได้เช่นกัน

วิธีเบื้องต้นในการรับมือกับอาการมือชาตอนกลางคืน

อาการมือชาตอนกลางคืนอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่หากคุณรู้สาเหตุ คุณก็จะสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการ ซึ่งวิธีเบื้องต้นในการรับมือกับอาการมือชาตอนกลางคืนมีหลายวิธี ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการนอนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนคว่ำ การนอนสอดแขนไว้ใต้หมอน การนอนหนุนแขนตัวเอง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการนอนยกแขนไว้เหนือศีรษะด้วย
  • นวดบริเวณมือและแขนเบา ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รวมถึงออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณมือและแขนให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น ไข่ ตับ หรือปลาที่มีกรดไขมันดีอย่างปลาแซลมอน รวมถึงอาจรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 12 ก็ได้เช่นกัน
  • ในกรณีของผู้ที่ต้องทำงานที่ใช้ข้อมือมาก หรือต้องเคลื่อนไหวข้อมือในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจสวมเฝือกอ่อนหรือสายรัดข้อมือในขณะที่กำลังทำงาน เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ
  • ในกรณีของผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาทบริเวณมือหรือแขนร่วมด้วย อาจรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
  • ในกรณีของผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการชาตามร่างกาย ควรรับประทานยารักษาปัญหาสุขภาพตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยควบคุมอาการของโรค
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนยาที่กำลังรับประทาน หากยามีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการชาตามร่างกาย
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของร่างกาย และเพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากอาการมือชาตอนกลางคืนเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รุนแรง ต่อเนื่อง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาการชาลามไปยังบริเวณอื่น ๆ รู้สึกปวดบริเวณมือ แขน หรือคอ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรืออ่อนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้ตามปกติ วิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน ไม่มีสติ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตราย