มือชาเกิดจากอะไร และคำแนะนำในการรับมือ

มือชา หรืออาการที่มือมีความรู้สึกลดน้อยลง หรืออาการที่มือรู้สึกคล้ายมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่ม น่าจะเป็นเป็นอาการที่อาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการหลายคนรู้สึกใช้ชีวิตประจำวันลำบากและเกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจไม่น้อย การเรียนรู้ว่า มือชาเกิดจากอะไร ควรจัดการอย่างไร และต้องไปพบแพทย์หรือไม่เอาไว้จึงอาจช่วยให้การรับมือกับอาการนี้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

อาการมือชาเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่มีความรุนแรงและหายไปได้เอง อย่างการนอนทับมือนาน ๆ ไปจนถึงสาเหตุที่รุนแรงหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ทางร่างกายที่ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ทันที

มือชา

มือชาเกิดจากอะไร 

ในบางครั้งอาการมือชาก็อาจเป็นผลมาจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น การนอนทับแขนหรือมือข้างใดข้างหนึ่งนาน ๆ การทิ้งน้ำหนักไปที่ข้อศอกข้างใดข้างหนึ่งนาน ๆ หรือการใช้งานแขนหรือมือที่หนักเกินไป 

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาการมือชาอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางชนิด เช่น

1. เบาหวาน

เบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากผิดปกติเนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ออกมาไม่เพียงพอ หรือร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินผิดปกติไป

โดยนอกจากอาการมือชา ผู้ที่มีภาวะเบาหวานยังอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย มองเห็นภาพซ้อน แผลหายช้า และเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณเหงือก ผิวหนัง และช่องคลอด

2. ขาดวิตามินบี 12

ภาวะขาดวิตามินบี 12 เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับปริมาณวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ หรือร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมวิตามินบี 12 โดยภาวะนี้มักพบได้ในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 โรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) และโรคพิษสุราเรื้อรัง

โดยอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น อ่อนเพลียบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เกิดแผลในปากบ่อย ผิวเหลือง มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ

3. กลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome)

กลุ่มอาการประสาทมือชาเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือได้รับแรงกดทับ โดยอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ อาการชาหรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่มที่นิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง มือไม่มีแรง และชาบริเวณปลายนิ้ว

4. ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)

ปลายประสาทอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่เส้นประสาทที่อยู่ภายนอกสมองและไขสันหลังเกิดความเสียหาย โดยอาการที่มักพบได้ก็จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นประสาทที่ได้รับความเสียหาย แต่ที่มักพบก็เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวลำบาก เหงื่อออกมากหรือน้อยผิดปกติ ท้องผูก หรือมีอาการเจ็บตามร่างกายผิดปกติ

5. ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ภาวะขาดไทรอยด์เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะนี้ก็เช่น อ่อนเพลีย ท้องผูก น้ำหนักขึ้นผิดปกติ ซึมเศร้า ผิวแห้ง ผมแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง หนาวง่ายผิดปกติ และประจำเดือนมามากผิดปกติในผู้หญิง

6. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติไปในลักษณะที่ภูมิคุ้มกันไปทำลายปลอกประสาทที่ปกคลุมใยประสาทจนส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

โดยอาการที่มักพบได้ก็จะแตกต่างกันไปตามบริเวณใยประสาทที่เกิดความเสียหาย แต่ที่มักพบได้ก็เช่น เจ็บตาหรือมองเห็นภาพเบลอที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง ทรงตัวลำบาก อ่อนเพลีย บ้านหมุน พูดลำบาก และรู้สึกเจ็บแปลบขณะหันศีรษะไปที่บางมุม

7. กระดูกทับเส้น (Herniated Disc)

โดยปกติ ในระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกคอยคั่นไว้เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีกัน โดยหมอนรองกระดูกจะเป็นเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอกที่มีลักษณะเหนียว และชั้นในที่มีลักษณะเหลว

กระดูกทับเส้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหมอนรองกระดูกชั้นในเคลื่อนตัวผ่านหมอนรองกระดูกชั้นนอกออกมาทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง โดยภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับบริเวณใดก็ได้ของกระดูกสันหลัง แต่ที่พบได้บ่อยที่เป็นสาเหตุของอาการมือชามักจะเป็นบริเวณคอ

อาการของผูป่วยกลุ่มนี้จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่หมอนรองกระดูกทับเส้น หากเป็นบริเวณคอ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดที่ไหล่และแขน ซึ่งมักรุนแรงขึ้นหรือลุกลามไปยังบริเวณขาขณะไอ จาม หรือขยับตัวบางท่า ส่วนกรณีที่หมองรองกระดูกทับเส้นเกิดที่บริเวณหลัง อาการที่มักพบมักจะเป็นอาการปวดหลัง ปวดขา ปวดสะโพก ปวดก้น หรือบางคนอาจปวดไปจนถึงเท้าได้

8. สมองขาดเลือด (Stroke)

สมองขาดเลือด หรือภาวะที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เป็นภาวะรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดที่คอยลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน หรือเกิดการแตกออก

อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบ โดยที่มักพบได้ก็เช่น ร่างกายไม่มีแรงครึ่งซีก พูดลำบาก ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มองเห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะขั้นรุนแรง รู้สึกตึงบริเวณคอ และปวดศีรษะขั้นรุนแรง

9. โรคพิษสุราเรื้อรัง

โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของตนเอง และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายเมื่อผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์ฉับพลัน

โดยอาการที่มักพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเองไม่ได้แม้จะรู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อร่างกาย เมายากขึ้น ใช้เวลาฟื้นตัวจากอาการเมานาน และเกิดอาการผิดปกติในลักษณะคลื่นไส้ เหงื่อออกมาก และสั่นตามร่างกายหากไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์

10. การติดเชื้อ

ในบางครั้ง อาการมือชาก็อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในร่างกายได้เช่นกัน โดยที่มักพบได้ก็เช่น งูสวัด (Shingles) และโรคเรื้อน (Leprosy)

โดยอาการของโรคงูสวัดก็เช่น รู้สึกเจ็บตามผิวหนัง เกิดผื่นแดงและตุ่มน้ำใสตามผิวหนัง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหนาวสั่น

ส่วนอาการของโรคเรื้อนก็เช่น เกิดรอยบนผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นรอยแดงหรือสีของผิวหนังที่จางลง โดยในผิวหนังบริเวณที่เกิดรอยมักจะสูญเสียความรู้สึกไปด้วย ขนตาร่วง ขนคิ้วร่วง เลือดกำเดาไหล และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

11. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

ในบางครั้ง การใช้ยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการมือชาได้เช่นกัน โดยตัวอย่างยาที่อาจเป็นสาเหตุก็เช่น ยาชา ยาปฏิชีวนะ ยาต้านชัก ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคหัวใจ และยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ สาเหตุของอาการมือชาที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งอาการอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน

การรับมือกับอาการมือชา

ในกรณีที่อาการมือชามีสาเหตุมาจากการนอนทับมือนาน ๆ การใช้มือหรือข้อมือหนักเกินไป อาการมือชามักจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา และมักไม่ทำให้เกิดอันตราย

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการที่เข้าข่ายโรคหรือภาวะผิดปกติอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ผู้ที่มีอาการมือชาควรจะไปพบเพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้