อาการมือบวม เป็นภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณมือในปริมาณมาก ซึ่งการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีเกลือสูง หรือโรคบางชนิด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มือบวมได้ โดยภาวะนี้สร้างความรำคาญและความอึดอัดให้กับผู้ประสบปัญหาได้ไม่มากก็น้อย แม้ส่วนใหญ่แล้วมือบวมมักไม่มีอะไรน่ากังวล แต่บางครั้งกลับเป็นสัญญาณเตือนของการเจ็บป่วยบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาก่อนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
มือบวมเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
มือบวมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ พฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน และยังรวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างสภาพอากาศอีกด้วย
โดยตัวอย่างสาเหตุของอาการมือบวมมีดังต่อไปนี้
มือบวมจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพอากาศ
- การรับประทานเกลือมากเกินไป อาจทำให้ไตกำจัดของเหลวที่ร่างกายไม่ต้องการไปยังกระเพาะปัสสาวะได้ยากยิ่งขึ้น ทำให้ของเหลวนั้นสะสมค้างอยู่ภายในอวัยวะบางอย่าง รวมถึงมือด้วย
- การนอนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่นอนทับมือและทิ้งน้ำหนักลงบนมือมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการบวมที่มือในตอนเช้าได้
- การออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ ปอดและกล้ามเนื้อ และยังลดการไหลเวียนของเลือดไปยังปลายแขนและขา ส่งผลให้เกิดอาการมือและเท้าเย็น ในบางครั้งหลอดเลือดจึงป้องกันภาวะดังกล่าวโดยการขยายหลอดเลือดจนทำให้หลังออกกำลังกายมือบวมได้
- อากาศร้อน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ร่างกายอาจเริ่มกระบวนการที่ช่วยลดอุณหภูมิลงโดยการขับเหงื่อออกมาตามผิวหนัง แต่ในวันที่มีอากาศร้อนชื้นมาก ร่างกายอาจขับเหงื่อไม่ได้เต็มที่ ทำให้ของเหลวนั้นคั่งค้างอยู่ใต้ผิวหนังแทนที่จะถูกขับออกมา จนทำให้เกิดอาการมือบวมนั่นเอง
มือบวมจากโรคหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ
- ภาวะบวมน้ำเหลือง เกิดจากการคั่งค้างของน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง พบได้ในผู้ที่ถูกตัดต่อมน้ำเหลืองออกในระหว่างการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ถูกตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะนี้ที่บริเวณมือหลังทำการรักษาไปแล้วเป็นเดือนหรือเป็นปี ๆ
- ข้ออักเสบ การอักเสบของข้อต่ออาจก่อให้เกิดการบวมของมือและนิ้วในตอนเช้าได้ โดยประเภทของโรคข้ออักเสบที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมือบวม ได้แก่ ข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
- โรคหนังแข็ง เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ผิวหนังหนาและแข็งขึ้น ซึ่งอาจสังเกตได้ในระยะเริ่มแรกว่ามือและนิ้วบวมในตอนเช้า
- กลุ่มอาการประสาทมือชา ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นกลุ่มอาการประสาทมือชา ข้อมืออาจถูกกดทับในขณะที่นอนหลับ และส่งผลให้เกิดอาการบวมที่มือในตอนเช้าได้
- ปัญหาเกี่ยวกับไต เนื่องจากไตมีหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินของร่างกาย หากกระบวนการทำงานของไตมีความผิดปกติอาจทำให้เกิดการคั่งน้ำ และส่งผลให้มือบวมได้ แต่มักจะมีอาการบวมบริเวณอื่นของร่างกายด้วย
- ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นและทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ เกิดขึ้นได้หลังคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตแม่และเด็กได้ ทั้งนี้ ภาวะนี้ทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการบวมเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่มือและเท้า
วิธีจัดการกับมือบวม
การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะเกิดขึ้นได้ หากจัดการที่สาเหตุของอาการมือบวม ดังนั้น หากมือบวมมาก หรือไม่หายไปเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยให้ถี่ถ้วนเสียก่อน อย่างไรก็ตาม อาการมือบวมเพียงเล็กน้อยอาจหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่การปฎิบัติดังต่อไปนี้อาจมีส่วนช่วยในการลดและป้องกันอาการดังกล่าวได้
- หมั่นขยับมือข้างที่บวม หรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายนำของเหลวส่วนเกินกลับสู่หัวใจ
- ยกมือข้างที่มีอาการบวมให้อยู่เหนือระดับหัวใจวันละหลาย ๆ ครั้ง
- นวดมือเบา ๆ เป็นประจำ อาจช่วยกระจายของเหลวส่วนเกินออกจากบริเวณที่บวมได้
- สวมถุงมือที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดยางยืด เพื่อกระชับเนื้อเยื่อบริเวณมือป้องกันการกักเก็บของเหลวไว้ภายใน
- รักษาความสะอาดและคงความชุ่มชื้นมือที่มีอาการบวม รวมถึงระมัดระวังการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ เนื่องจากผิวที่แห้ง แตก หรือมีรอยข่วนและรอยบาดบนมือที่บวมอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- งดการรับประทานอาหารที่มีเกลือสูง เพราะอาจไปเพิ่มการคั่งน้ำและทำให้อาการบวมแย่ลง
สัญญาณอาการที่ควรไปพบแพทย์
ผิวหนังบวม แดง แตกลาย มีลักษณะเป็นมันวาว หรือกดแล้วเป็นรอยบุ๋มลึก เป็นสัญญาณอาการที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยหายใจไม่อิ่ม หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก ร่วมกับมีอาการบวมที่ขา ควรไปพบแพทย์โดยทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของน้ำท่วมปอด ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเร่งด่วน