ยาคุม และข้อดีข้อเสียของวิธีคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ

ในปัจจุบัน มีวิธีคุมกำเนิดให้เลือกหลากหลาย ทั้งการใช้ยาคุมและการคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ การเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมนับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อสุขภาพหรือการวางแผนครอบครัวในอนาคต ทั้งนี้ ควรพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งระยะเวลาในการคุมกำเนิด ข้อดีและข้อเสียของการคุมกำเนิดแต่ละวิธี และความสะดวกในการเลือกวิธีคุมกำเนิด  

BirthControlPills

การเลือกใช้ยาคุมหรือการคุมกำเนิดแต่ละวิธี อาจพิจารณาจากคุณสมบัติและข้อดีข้อเสีย ดังต่อไปนี้

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ทำหน้าที่ยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกช่องคลอดข้นขึ้น ป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวผ่านปากมดลูก และทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัว

  • ข้อดี เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ไม่ชอบวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องใส่หรือฝังภายในร่างกาย และช่วยบรรเทาความรุนแรงของกลุ่มอาการประจำเดือนได้ด้วย
  • ข้อเสีย จำเป็นต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตรงเวลาและเป็นประจำทุกวัน หากลืมรับประทานยา ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นร่วมด้วย และอาจมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความดันโลหิตสูง น้ำหนักขึ้น แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่อาจเสี่ยงเกิดลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีอายุ 35 ปีขึ้นไป อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้มากขึ้น
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 92 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้ถูกวิธีและใช้อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยคุมกำเนิดได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว โดยยาคุมชนิดนี้จะส่งผลต่อการตกไข่ ช่วยให้มูกช่องคลอดข้นขึ้น ป้องกันห้อสุจิเคลื่อนตัวผ่านปากมดลูก และทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัว

  • ข้อดี เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น วิธีที่ต้องใส่หรือฝังภายในร่างกาย
  • ข้อเสีย มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จำเป็นต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน หากลืมรับประทานต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่นร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก น้ำหนักขึ้น เป็นต้น
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 90-97 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้ถูกวิธีและใช้อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยคุมกำเนิดได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์  

มีการศึกษาค้นคว้าที่แนะนำว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทั้ง 2 แบบ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งรังไข่ได้เล็กน้อย แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับได้เล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นอกจากยาคุมกำเนิดเหล่านี้ อาจมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ทำให้เกิดมะเร็งได้

ยาคุมฉุกเฉิน เป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ถุงยางรั่ว ถูกข่มขืน หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามปกติ เป็นต้น แม้จะเป็นการคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่ง แต่อาจมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับวิธีการอื่น ๆ โดยยาคุมฉุกเฉินมี 2 ชนิด คือ ลีโวนอร์เจสเตรล 1.5 มิลลิกรัม และอัลลิพริสตัล อซิเตท 30 มิลลิกรัม ซึ่งอาจป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการยับยั้งการตกไข่ชั่วคราว ป้องกันการปฏิสนธิ หรือไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวในมดลูก

  • ข้อดี ยาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรลสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และออกฤทธิ์ป้องกันได้สูงสุด 3 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่วนยาคุมฉุกเฉินอัลลิพริสตัล อซิเตท ออกฤทธิ์ป้องกันได้สูงสุด 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ข้อเสีย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดท้อง เมื่อยล้าเป็นระยะ หรือประจำเดือนมาไม่ปกติประมาณ 1-2 รอบเดือน
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการใช้ยาหลังมีเพศสัมพันธ์

ยาคุมแบบฉีด แพทย์จะฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินให้ทุก ๆ 3 เดือน ยาฉีดคุมกำเนิดจะส่งผลต่อการตกไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก และเพิ่มความข้นให้แก่มูกช่องคลอด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

  • ข้อดี ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงไปตามกำหนดที่แพทย์นัดหมาย อาจช่วยคุมกำเนิดได้สูงสุด 1 ปี นับจากการฉีดยาคุมกำเนิดครั้งสุดท้าย ขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมกำเนิดที่ใช้
  • ข้อเสีย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ รู้สึกซึมเศร้า โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่อาจพบผลข้างเคียงได้มากขึ้น หากใช้ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจส่งผลลบต่อความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 97 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้ถูกวิธีและใช้อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยคุมกำเนิดได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์  

ยาฝังคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นหลอดยาขนาดเล็ก ภายในบรรจุฮอร์โมนโปรเจสตินไว้ ใช้ฝังเข้าไปใต้ผิวหนัง โดยยาฝังคุมกำเนิดจะส่งผลต่อการตกไข่และเพิ่มความข้นให้กับมูกช่องคลอด เพื่อขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิเข้าสู่มดลูก

  • ข้อดี เป็นวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์นานสูงสุด 3 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุมกำเนิดที่ใช้ และถอดออกได้เมื่อต้องการ
  • ข้อเสีย อาจไม่สะดวกเหมือนวิธีการอื่น ๆ เพราะการใส่และถอดยาที่ฝังต้องทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอก เป็นต้น
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย มีลักษณะบาง ทำจากยางหรือวัสดุอื่น ๆ ใช้สวมที่อวัยวะเพศชายขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปในช่องคลอดจนเกิดการตั้งครรภ์

  • ข้อดี ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่ง นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่าย มีขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป
  • ข้อเสีย บางคนเชื่อว่าการใช้ถุงยางอนามัยอาจทำให้ความรู้สึกในขณะร่วมเพศลดลง หรือถุงยางอาจรั่ว แตก และอาจเกิดอาการแพ้จากวัสดุที่ใช้ผลิตถุงยางอนามัยได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 85 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้ถูกวิธี อาจช่วยคุมกำเนิดได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์  

ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง มีลักษณะบาง ทำจากยางหรือวัสดุอื่น ๆ คล้ายกับถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย แต่มีวงแหวน 2 ด้าน ใส่ด้านที่เป็นวงแหวนปลายปิดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไป

  • ข้อดี อาจช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ สวมใส่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง
  • ข้อเสีย หาซื้อได้ไม่สะดวกเท่าถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย อีกทั้งผู้ใช้บางส่วนเชื่อว่าการใช้ถุงยางอนามัยอาจทำให้ความรู้สึกในขณะร่วมเพศลดลง ถุงยางอาจรั่ว แตก หรือทำให้เกิดอาการแพ้จากวัสดุที่ใช้ผลิตถุงยางอนามัยได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 79 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้ถูกวิธี อาจช่วยคุมกำเนิดได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์  

ฟองน้ำคุมกำเนิด เป็นฟองน้ำทรงกลม ทำจากพลาสติกอาบด้วยน้ำยาฆ่าอสุจิ ใส่ภายในช่องคลอด เพื่อป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปยังมดลูก

  • ข้อดี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด 24 ชั่วโมง แม้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง
  • ข้อเสีย หากใช้งานเกินกว่า 24 ชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) แม้จะพบได้น้อยแต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งน้ำยาฆ่าอสุจิอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางราย และหากใช้บ่อยครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 76-88 เปอร์เซ็นต์

หมวกครอบปากมดลูก มีลักษณะคล้ายหมวก อาบด้วยน้ำยาฆ่าอสุจิ ใช้ครอบบริเวณปากมดลูก เพื่อป้องกันอสุจิเคลื่อนตัวผ่านไปยังมดลูก

  • ข้อดี เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ยาฝัง รวมถึงแผ่นแปะคุมกำเนิด โดยวิธีนี้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด 48 ชั่วโมง แม้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง
  • ข้อเสีย หากใช้งานเกินกว่า 48 ชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาการระคายเคืองช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่น และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก ซึ่งอาจพบได้น้อยแต่เสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งน้ำยาฆ่าอสุจิอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ใช้บางราย และหากใช้บ่อยครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 80 เปอร์เซ็นต์

ฝาครอบปากมดลูก มีลักษณะเป็นแผ่นยืดหยุ่นได้ อาบด้วยน้ำยาฆ่าอสุจิ ใส่ปิดบริเวณปากมดลูก เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเคลื่อนตัวผ่านไปยังมดลูก

  • ข้อดี เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน เช่น ยาเม็ด ยาฉีด ยาฝัง รวมถึงแผ่นแปะคุมกำเนิด โดยช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด 24 ชั่วโมง แม้มีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง แต่ต้องเติมน้ำยาฆ่าอสุจิทุก 6 ชั่วโมง
  • ข้อเสีย หากใช้งานเกินกว่า 48 ชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด ระคายเคืองช่องคลอด และอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก ซึ่งอาจพบได้น้อยแต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งน้ำยาฆ่าอสุจิอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ใช้บางราย และหากใช้บ่อยครั้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นเดียวกัน
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 88 เปอร์เซ็นต์

ห่วงอนามัยชนิดเคลือบทองแดง มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) ขนาดเล็ก แพทย์จะใส่ห่วงอนามัยบริเวณมดลูก เพื่อไม่ให้ไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้วฝังตัวในมดลูกได้

  • ข้อดี การใส่ห่วงอนามัยในแต่ละครั้งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดประมาณ 10 ปี  
  • ข้อเสีย อาจไม่สะดวกเหมือนวิธีอื่น ๆ เพราะการใส่และถอดห่วงอนามัยต้องทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นตะคริวในช่วงแรกของการใส่ห่วงอนามัยหรือในระหว่างมีประจำเดือน มีกลุ่มอาการก่อนประจำเดือนรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนี้ แม้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ห่วงอนามัยอาจหลุดออกหรือทะลุเข้าไปยังผนังมดลูก และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด  99 เปอร์เซ็นต์

ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) ขนาดเล็ก เหมือนชนิดเคลือบทองแดง แพทย์จะใส่ห่วงอนามัยบริเวณมดลูก จากนั้น ห่วงอนามัยจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินออกมา ส่งผลต่อการตกไข่และเพิ่มความข้นให้แก่มูกช่องคลอด เพื่อขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิเข้าสู่มดลูก

  • ข้อดี การใส่ห่วงอนามัยในแต่ละครั้งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดประมาณ 3-5 ปี
  • ข้อเสีย อาจไม่สะดวกเหมือนวิธีการอื่น ๆ เพราะการใส่และถอดห่วงอนามัยต้องทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น รวมทั้งอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดซีสต์รังไข่ นอกจากนี้ แม้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ห่วงอนามัยอาจหลุดออกหรือทะลุเข้าไปยังผนังมดลูก และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์

แผ่นแปะคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดประมาณ 2 ตารางนิ้ว แปะลงบนผิวหนัง โดยแผ่นแปะคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินออกมา ส่งผลต่อการตกไข่และประสิทธิภาพในการฝังตัวของไข่ รวมถึงทำให้มูกช่องคลอดข้นขึ้นจนอสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปได้ยาก ผู้ใช้ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดใหม่ทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องนาน 3 สัปดาห์ และหยุดใช้แผ่นแปะ 1 สัปดาห์ ในระหว่างที่ประจำเดือนมา

  • ข้อดี ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด แต่ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดใหม่ทุกสัปดาห์
  • ข้อเสีย แม้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่พบผลข้างเคียง แต่อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความดันโลหิตสูง น้ำหนักขึ้น นอกจากนี้ แม้มีโอกาสไม่มาก แต่อาจเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีอายุ 35 ปีขึ้นไป อาจเสี่ยงพบผลข้างเคียงได้มากขึ้น และประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิดอาจลดลง หากผู้ใช้มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 89 กิโลกรัมขึ้นไป
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่และยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่เพียงพอ มีเพียงการศึกษาที่พบว่า แผ่นแปะคุมกำเนิดอาจมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

วงแหวนคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นห่วงยืดหยุ่นได้ มีขนาดประมาณ 2 นิ้ว ใส่ได้ด้วยตนเองบริเวณอวัยวะเพศหญิง โดยวงแหวนคุมกำเนิดจะปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินออกมา ส่งผลต่อการตกไข่และเยื่อบุมดลูก ทำให้มูกมดลูกข้นขึ้น เพื่อไม่ให้อสุจิเคลื่อนตัวเข้าสู่มดลูก หากต้องการให้ประจำเดือนมาตามปกติ ต้องถอดวงแหวนคุมกำเนิดออกล่วงหน้าเป็นเวลา 1 สัปดาห์

  • ข้อดี การใส่วงแหวนคุมกำเนิดในแต่ละครั้งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดประมาณ 3 สัปดาห์ อาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง และทำให้ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรงน้อยลงด้วยเช่นกัน
  • ข้อเสีย มีรายงานถึงผลข้างเคียงจากการใช้วงแหวนคุมกำเนิด เช่น เจ็บหน้าอก และปวดศีรษะ
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด เนื่องจากเป็นการคุมกำเนิดรูปแบบใหม่ และยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่เพียงพอ แต่มีการศึกษาพบว่า วงแหวนคุมกำเนิดอาจมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

การนับระยะปลอดภัย หรือวิธีหน้า 7 หลัง 7 ป็นการนับวันเพื่อให้ทราบว่าช่วงเวลาใดของเดือนที่มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยที่สุด

  • ข้อดี เป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดใด ๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
  • ข้อเสีย ยากที่จะทราบได้แน่นอนว่าเมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ มีประสิทธิภาพน้อยกว่าวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ต้องอาศัยความแม่นยำ และเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 75 เปอร์เซ็นต์ แต่หากนับระยะปลอดภัยได้ถูกวิธี อาจช่วยคุมกำเนิดได้ถึง 91 เปอร์เซ็นต์  

การทำหมันชาย เป็นการตัดและผูกท่อนำอสุจิ เพื่อไม่ให้อสุจิถูกปล่อยออกมาเมื่อมีการหลั่ง

  • ข้อดี เป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง หลังการผ่าตัดแล้วกลับบ้านได้ทันทีไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • ข้อเสีย ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน และต้องให้แพทย์ตรวจสอบก่อนว่าไม่มีอสุจิเล็ดรอดออกมาเมื่อมีการหลั่ง อาจรู้สึกปวดในช่วงฟักฟื้น หรืออาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด 97-98 เปอร์เซ็นต์ หากยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากแพทย์ว่ามีอสุจิเล็ดรอดออกมาหรือไม่ แต่อาจช่วยคุมกำเนิดได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ หลังผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน

การทำหมันหญิง เป็นการผูกท่อนำไข่ ทำให้อสุจิไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่มดลูกได้

  • ข้อดี เป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสตินในร่างกาย เมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ยังคงมีอารมณ์ทางเพศได้เหมือนเดิม อารมณ์ไม่แปรปรวน และประจำเดือนยังคงมาตามปกติ
  • ข้อเสีย เนื่องจากเป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร จึงต้องตัดสินใจให้ดีก่อน เมื่อทำหมันไปแล้ว หากเปลี่ยนใจอาจต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดเพื่อเปิดท่อนำไข่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอัตราความสำเร็จในการผ่าตัดเปิดท่อรังไข่ยังขึ้นอยู่กับอายุและระยะเวลาที่ทำหมันไปแล้ว แม้จะเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่ปลอดภัย แต่บางครั้งอาจเสี่ยงมีเลือดออกหรือเกิดการบาดเจ็บที่หลอดเลือด ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะได้
  • ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์