ยารักษาข้อเข่าเสื่อม ทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม

ยารักษาข้อเข่าเสื่อมเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น ข้อเข่าติดแข็ง ขยับได้ลำบาก มีเสียงดังในข้อเข่า และปวดเข่า การใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมเป็นวิธีที่ช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่า บรรเทาอาการปวด และช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวและการเสียดสีขณะที่ใช้ข้อเข่าในการทำกิจกรรม พบบ่อยในผู้สูงอายุ การรักษาข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกจะเริ่มจากวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก่อน เช่น การใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมควบคู่กับการปรับพฤติกรรม หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่า

Knee Osteoarthritis Drug

รู้จักกลุ่มยารักษาข้อเข่าเสื่อม

ยารักษาข้อเข่าเสื่อมมีหลายกลุ่ม จุดประสงค์ของการใช้ยาคือช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยให้ขยับข้อเข่าได้สะดวกขึ้น ยารักษาข้อเข่าเสื่อมบางประเภทสามารถหาซื้อได้เอง แต่บางประเภทต้องใช้ตามที่แพทย์สั่ง เช่น

1. ยาพาราเซตามอล

พาราเซตามอลหรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อ และอาการปวดอื่น ๆ ในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง ยาพาราเซตามอลที่วางจำหน่ายทั่วไปมีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ และมีหลายขนาดยา

โดยขนาดยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือยาขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1–2 เม็ด ทุก 4–6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 8 เม็ด โดยไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันเกิน 5 วัน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อตับได้

2. ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ไอบูโพรเฟนเป็นยารักษาข้อเสื่อมในกลุ่มยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่สามารถหาซื้อได้เอง มีทั้งชนิดเม็ด แคปซูล และยาน้ำ ช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมถึงบรรเทาอาการบวม อักเสบ และข้อต่อติดแข็งจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ 

ไอบูโพรเฟนที่วางขายทั่วไปมีหลายขนาด เช่น 200,400 มิลลิกรัม และ 600 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณการรับประทานที่แตกต่างกัน โดยทั่วไป แนะนำให้รับประทานครั้งละ 200–400 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันเกิน 10 วัน

3. ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) 

เซเลโคซิบเป็นยารักษาข้อเสื่อมอีกตัวหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มยา NSAIDs ออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบ จึงใช้ในการรักษาอาการจากโรคข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เซเลโคซิบเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ในโรงพยาบาล และสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาตามคำแนะนำของเภสัชกร มักอยู่ในรูปยาแคปซูล ซึ่งมีหลายขนาด เช่น เม็ดละ 200 และ 400 มิลลิกรัม แพทย์มักให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาเพิ่มปริมาณยาเป็นครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้ 

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง และไม่ควรรับประทานยานี้กับยากลุ่ม NSAIDs อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง

4. ยาแคปไซซินชนิดทา 

การใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมชนิดทาผิวที่มีส่วนผสมของแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากพริก จึงให้ความรู้สึกอุ่นร้อนที่ผิวหนัง ช่วยยับยั้งการทำงานของเส้นประสาทที่รับรู้ความรู้สึกปวดบริเวณผิวหนัง ส่งผลให้รู้สึกปวดลดน้อยลง

ยาแคปไซซินอาจอยู่ในรูปครีม โลชั่น หรือสเปรย์ ก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ และใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์ โดยควรใช้ยาไม่เกิน 4 ครั้งต่อวันหรือตามที่แพทย์สั่ง ระมัดระวังไม่ให้เข้าตา ปาก หรือถูกผิวหนังที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา ผิวที่มีแผล และหลังใช้ยาควรล้างมือให้สะอาดเสมอ

5. ยากลูโคซามีน (Glucosamine) 

กลูโคซามีนเป็นสารธรรมชาติที่พบได้มากที่กระดูกอ่อนที่รองรับข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย มีบทบาทช่วยหล่อลื่นข้อต่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และช่วยชะลอความเสื่อมของข้อเข่า จึงมีการนำสารกลูโคซามีนมาผลิตเป็นยาและอาหารเสริมในการรักษาข้อเข่าเสื่อม

กลูโคซามีนที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด แต่มีเพียงกลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine Sulfate) เท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นยาที่สามารถใช้รักษาข้อเข่าเสื่อมได้ โดยต้องได้รับการสั่งจ่ายและกำกับดูแลโดยแพทย์

ยากลูโคซามีนมีหลายรูปแบบ ซึ่งมีขนาดและปริมาณยาในการรับประทานที่แตกต่างกัน เช่น ยาแคปซูลที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง พร้อมมื้ออาหาร และยาผงชนิดละลายน้ำที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตซองละ 1,500 มิลลิกรัม ให้ละลายยาผง 1 ซองกับน้ำ 1 แก้ว รับประทานวันละครั้ง ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้อาหารทะเล เนื่องจากสารกลูโคซามีนสกัดจากสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็ง

ผู้ที่ใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมควรใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร มีโรคประจำตัว หรือใช้ยาอื่นอยู่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งนี้ การใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว และเวียนหัว 

ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อม เช่น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ เช่น ว่ายน้ำ เดิน โยคะ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงแก่ข้อเข่าและกล้ามเนื้อตามที่แพทย์แนะนำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และประคบร้อนหรือเย็นที่ข้อเข่า ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

หากใช้ยารักษาข้อเข่าเสื่อมข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเข่ามาก เข่าบวมแดง และรู้สึกอุ่น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือกรดไฮยาลูรอนิก เพื่อช่วยบรรเทาปวดและเพิ่มความชุ่มชื้นในข้อเข่า การทำกายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์รัดพยุงเข่า และการผ่าตัดข้อเข่า กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรง