ยารักษาไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ ซึ่งการใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ดีให้ขึ้น และช่วยให้หายจากอาการไข้หวัดใหญ่ได้เร็ว
ไข้หวัดใหญ่ (Flu หรือ Influenza) คือโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจบริเวณจมูก ลำคอ และปอด เชื้อไวรัสมักแพร่กระจายผ่านการไอ จาม และการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ที่ของใช้ของผู้ป่วย ผู้ป่วยโดยส่วนมากที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักหายจากอาการไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยการดูแลตัวเองควบคู่กับใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่อย่างเหมาะสม
รู้จัก 5 กลุ่มยารักษาไข้หวัดใหญ่
ยารักษาไข้หวัดใหญ่ที่หาซื้อได้เองมีหลายกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่โดยตรง แต่จะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ ช่วยให้รู้สึกสบายตัว และช่วยให้ใช้ชีวิตประวันได้ดีขึ้น เช่น
1. ยาแก้ปวดและลดไข้
ยากลุ่มที่ช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีไข้ ผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา โดยมีตัวยาหลายชนิดและหลายขนาด แต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ เช่น
- พาราเซตามอล แนะนำให้ผู้ใหญ่รับประทานขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1–2 เม็ด ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 มิลลิกรัม/วัน
- ไอบูโพรเฟน รับประทานครั้งละ 200–400 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน
ส่วนการใช้ยาแก้ปวดและลดไข้ในเด็กจะคำนวณตามน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก โดยอ่านปริมาณการใช้ยาที่ฉลากยา หรือสอบถามเภสัชกรก่อนให้เด็กรับประทานยา ทั้งนี้ ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. ยาลดน้ำมูก
ยาลดน้ำมูกเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ที่ช่วยลดการบวมของหลอดเลือดในจมูก ลดการอักเสบ ลดอาการคัดจมูกที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น ยาลดน้ำมูกมีหลายรูปแบบ เช่น ยารับประทานในรูปแบบยาเม็ด ยาน้ำ แคปซูล รวมถึงยาพ่นจมูก ซึ่งบางชนิดสามารถหาซื้อได้เอง แต่บางชนิดต้องให้แพทย์สั่งจ่าย
ตัวอย่างยาลดน้ำมูก เช่น ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) และออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline) ตัวยาแต่ละตัวมีปริมาณและระยะเวลาที่ควรใช้แตกต่างกัน ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าที่เภสัชกรแนะนำที่ระบุบนฉลากยา เพราะอาจทำให้อาการคัดจมูกรุนแรงขึ้น หรือเกิดผลข้างเคียงอื่นได้
นอกจากนี้ ยาลดน้ำมูกบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ (Antihistamine) หรืออาจผสมยาแก้ปวด ผู้ป่วยควรระมัดระวังการรับประทานยาซ้ำซ้อน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับยาเกินขนาดได้
3. น้ำเกลือล้างจมูกหรือพ่นจมูก
การใช้น้ำเกลือในการล้างจมูกหรือพ่นจมูกจะช่วยชะล้างน้ำมูกที่เหนียวข้น จึงช่วยกำจัดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ผลิตภัณฑ์น้ำเกลือไม่มีส่วนผสมของตัวยา จึงสามารถใช้รักษาอาการคัดจมูกจากไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ผลิตภัณฑ์น้ำเกลือที่วางจำหน่ายทั่วไปมีหลายรูปแบบ เช่น แบบบรรจุขวดสำหรับใช้คู่กับไซริงค์หรือกระบอกฉีดน้ำเกลือ แบบสเปรย์ และแบบยาหยดจมูก ก่อนใช้ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์หรือปรึกษาเภสัชกร โดยเฉพาะการใช้น้ำเกลือล้างจมูกหรือพ่นจมูกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
4. ยาอมแก้เจ็บคอ และยาแก้ไอ
ยารักษาไข้หวัดใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือยาสำหรับผู้มีอาการไอและเจ็บคอ ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาอมแก้เจ็บคอและยาแก้ไอได้ตามร้านขายยา ยาอมแก้เจ็บคอมักมีตัวยาหรือสมุนไพรหลายชนิดช่วยให้รู้สึกชุ่มคอ ลดอาการเจ็บคอ คันคอ และลดอาการไอ วิธีใช้ยาโดยทั่วไปคืออมยาอมให้ละลายในปากช้า ๆ ทุก 2–3 ชั่วโมง
ส่วนยาแก้ไอมี 2 ชนิด คือยาที่ช่วยระงับอาการไอสำหรับคนที่มีอาการไอแห้ง เช่น เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ทำให้ไอน้อยลง
อีกประเภทคือยาขับหรือละลายเสมหะ ซึ่งช่วยลดเสมหะที่ข้นเหนียวและสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine) ไกวอะเฟนิซิน (Guaifenesin) และแอมบรอกซอล (Ambroxol) จึงควรเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการไอ
5. สมุนไพรและวิตามินเสริม
การรับประทานสารสกัดจากสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการเจ็บคอ และอาจช่วยลดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยรับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันหลายวัน
นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินซีและซิงค์ (Zinc) ในรูปอาหารเสริม อาจช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ออกจากร่างกาย และช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น ทั้งนี้ ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมชนิดใด ๆ
ผู้ป่วยควรใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่อย่างเหมาะสมกับอาการ ไม่รับประทานยาปริมาณมากหรือเป็นเวลานานกว่าที่ฉลากยากำหนด และไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งจ่าย เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถรักษาไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้
อีกทั้งควรดูแลตัวเองควบคู่กับการใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ เช่น พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อลดอาการเจ็บคอ ลดน้ำมูกและเสมหะ ป้องกันอาการอ่อนเพลีย และช่วยให้อาการไข้หวัดใหญ่หายเร็วขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากอาการยังไม่หายดี ใช้ทิชชู่ปิดปากเมื่อไอหรือจาม และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น
หากใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ที่หาซื้อได้เองนานกว่า 1 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลงหรือมีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือปัสสาวะน้อย ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคอ้วน โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อรักษาอาการต่อไป