ยาลดไขมันในเลือด สิ่งที่ควรรู้และวิธีรับประทานให้ปลอดภัยและเห็นผล

ยาลดไขมันในเลือด คือยาที่ช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ มักนำมาใช้รักษาผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาลดไขมันในเลือดอาจแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะช่วยลดไขมันในเลือด รวมถึงเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดอีกด้วย

ภาวะไขมันในเลือดสูงคือภาวะที่ร่างกายมีไขมันบางชนิดสะสมในเลือดสูงผิดปกติ เช่น ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และคอเลสเตอรอล (Cholesterol) เมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาจรับประทานยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

Lipid Lowering Drugs

ไขมันในเลือดอาจแบ่งออกได้ 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ซึ่งคอเลสเตอรอลอาจแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิด คือ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งเป็นไขมันที่อาจสะสมตามผนังหลอดเลือดและอาจทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ อีกหนึ่งชนิดคือคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดด้วยการนำคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมอยู่บริเวณหลอดเลือดไปทำลายที่ตับ

ประเภทของยาลดไขมันในเลือด

ยาลดไขมันในเลือดมีหลากหลายชนิด โดยมักเป็นยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เช่น

1. กลุ่มยาสแตติน (Statins) 

กลุ่มยาสแตตินเป็นยาลดไขมันในเลือดที่แพทย์ใช้บ่อย โดยยาจะออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่ตับใช้เพื่อผลิตคอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยลดไขมันในเลือด อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย โดยยาในกลุ่มยาสแตตินที่ใช้บ่อยอาจมีหลายชนิด เช่น

  • ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin
  • ยาฟลูวาสแตติน (Fluvastatin)
  • ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) 
  • ยาโลวาสแตติน (Lovastatin)
  • ยาพิทาวาสแตติน (Pitavastatin)

2. ไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile acid sequestrants)

ยาลดไขมันในเลือดไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ เป็นกลุ่มยาที่จะเข้าไปจับตัวกับกรดน้ำดีในลำไส้เล็ก และลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในอาหารกลับเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะช่วยลดไขมันในเลือดได้ โดยยาในกลุ่มยาไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์มีหลายชนิด เช่น ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ยาโคลเซเวแลม (Colesevelam)

3. กลุ่มยาไฟเบรต (Fibrates) 

กลุ่มยาไฟเบรตเป็นยาลดไขมันในเลือด โดยยาจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่ร่างกายสร้างขึ้นจากตับหรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป นอกจากนี้ กลุ่มยาไฟเบรตยังอาจช่วยกระตุ้นการสร้างไขมันดีได้อีกด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มยาไฟเบรต เช่น ยาฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) ยาเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil)

นอกจากนี้ ยังมียาลดไขมันในเลือดอื่น ๆ อีกที่สามารถนำมาใช้ลดระดับไขมันในเลือดได้ เช่น สารยับยั้ง PCSK9 (PCSK9 inhibitors) กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid)

วิธีรับประทานยาลดไขมันในเลือดให้ปลอดภัยและได้ผล

วิธีรับประทานยาและปริมาณยาลดไขมันในเลือดอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของยา ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และแนวทางการรักษาที่แพทย์พิจารณาว่าเหมาะสมต่อผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงในแต่ละราย 

ตัวอย่างการรับประทานยาลดไขมันในเลือด เช่น การรับประทานยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) เพื่อลดไขมันในเลือดในผู้ใหญ่ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปริมาณ 10 หรือ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง แต่ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจให้รับประทานยา 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง แต่ไม่ควรเกินวันละ 80 มิลลิกรัมต่อวัน

ทั้งนี้ ยาลดไขมันในเลือดมักอยู่ในรูปยาเม็ดสำหรับรับประทาน และอาจมีปริมาณยาที่แตกต่างกันไป เช่น ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) มีหลายขนาด ได้แก่ ยาปริมาณ 10 20 40 และ 80 มิลลิกรัม 

นอกจากนี้ ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) ปริมาณ 40–80 มิลลิกรัมอาจเป็นยาสแตตินที่มีประสิทธิภาพสูง (High intensity statin) ซึ่งสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ถึง 50% จากระดับตั้งต้น

นอกจากการรู้จักวิธีรับประทานยาลดไขมันในเลือดแล้ว ยังอาจมีข้อปฏิบัติหรือข้อควรรู้อื่น ๆ ที่จะช่วยให้รับประทานยาลดไขมันในเลือดได้อย่างปลอดภัยและได้ผล เช่น

  • แจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเสมอ หากเคยมีประวัติแพ้ยาใด ๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาลดไขมันในเลือด รวมถึงประวัติการป่วยเป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยากับยาลดไขมันในเลือดได้
  • ควรใช้ยาลดไขมันในเลือดตามปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น และไม่ควรหยุดกินยาลดไขมันในเลือดด้วยตนเอง
  • ยาลดไขมันในเลือดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ไม่ควรหยุดยาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
  • หากลืมรับประทานยาลดไขมันในเลือด ให้รับประทานยาทันที แต่ถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งถัดไป ให้รับประทานยาตามปริมาณปกติและไม่ต้องรับประทานยาเม็ดที่ลืมกินเพิ่ม
  • ควรเก็บยาลดไขมันในเลือดให้พ้นมือเด็ก และเก็บในสถานที่ที่มิดชิด ไม่โดนแสง ความเย็น และความชื้นเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ

ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยให้การรับประทานยาลดไขมันในเลือดมีประสิทธิภาพและช่วยคุมระดับไขมันในเลือดให้เป็นปกติ เช่น รับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันหรือมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอดหรืออาหารมัน งดดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 12 กันยายน 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD