ยาละลายเสมหะ ตัวช่วยรักษาอาการไอและเสมหะที่กวนใจ

ยาละลายเสมหะเป็นยาแก้ไอที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยหายได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากตัวยาจะช่วยบรรเทาอาการไอและจัดการกับเสมหะได้โดยตรง แต่สงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดร่างกายจึงต้องผลิตเสมหะออกมา และยาละลายเสมหะมีประโยชน์อย่างไร คำตอบอยู่ในบทความนี้แล้ว

แท้จริงแล้ว เสมหะเป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายผลิตขึ้นมา เพื่อช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานอย่างเป็นปกติ โดยช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในระบบทางเดินหายใจ และดักจับสารก่อการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นควัน เชื้อโรค เป็นต้น 

Mucolytic Drugs

จะเห็นได้ว่าเสมหะนั้นเป็นส่วนสำคัญในระบบทางเดินหายใจ โดยเสมหะที่ดีจะต้องมีความเหนียวและความยืดหยุ่นที่พอดี จึงจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่ปัญหาสุขภาพบางประการอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสมหะที่ข้นเหนียว เหลวเกินไป หรือมีปริมาณมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษา

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาละลายเสมหะที่หาซื้อได้เอง

ยาละลายเสมหะมีให้เลือกใช้กันอยู่หลายชนิด โดยส่วนใหญ่แล้วจะช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะให้น้อยลง ร่างกายจึงขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ก็มียาละลายเสมหะบางชนิดที่ควบคุมกระบวนการสร้างเสมหะโดยตรง ทำให้เสมหะในร่างกายกลับมาเหนียวและยืดหยุ่นได้คล้ายปกติ จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีเสมหะทั้งเหนียวข้นมากหรือน้อยเกินไป

อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่ายาละลายเสมหะใช้สำหรับผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะโดยตรง นำไปใช้รักษาอาการไอทั้งที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ คออักเสบ และหลอดลมอักเสบ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยทั่วไปยานี้มักก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้น้อยมาก แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หากอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำก็ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกหรือแพ้ยาแบบรุนแรง

ยาละลายเสมหะ ใช้กำจัดเสมหะอย่างไรให้ปลอดภัย

เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการใช้ยาแก้ไออย่างยาละลายเสมหะ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • อ่านฉลากที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ยาก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวยานั้นเหมาะสำหรับรักษาอาการของตนเอง และไม่ใช่ตัวยาที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้มาก่อน
  • ไม่รับประทานยาแก้ไอติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมา หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรไปพบแพทย์โดยด่วน
  • รับประทานยาในปริมาณที่กำหนดบนฉลากหรือตามที่เภสัชกรแนะนำ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างสมองถูกทำลาย ชัก รวมถึงการเสียชีวิต และควรรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวัน เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพมากที่สุด 
  • เนื่องจากยาแก้ไอหลายยี่ห้อมีส่วนผสมกับตัวยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาที่ตรงกับอาการไอของตนมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลดีในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น หากใช้ยามากกว่าหนึ่งกลุ่มรวมกัน ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มเดียวกัน เพราะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นหรือยามีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นแต่อย่างใด
  • ผู้ปกครองควรเลือกใช้ยาตัวที่เหมาะกับช่วงอายุของบุตรหลาน โดยปกติไม่ควรใช้ยาแก้ไอในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี แต่บางครั้งเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจใช้ยานี้ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ยาคงประสิทธิภาพก่อนวันหมดอายุ และไม่ควรเก็บยาไว้ในห้องน้ำหรือตู้ในห้องน้ำ เนื่องจากอาจมีความร้อนและชื้นหลังการใช้ห้องน้ำได้ 

นอกจากการใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถดูแลตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการจิบน้ำบ่อย ๆ ดื่มน้ำอุ่น เครื่องดื่มผสมน้ำผึ้งและมะนาว หรือน้ำขิง กลั้วปากหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ รับประทานวิตามินซีหรือยาอมแก้ไอ หลีกเลี่ยงบุหรี่หรือสารก่อการแพ้ แต่หากลองทุกวิถีทางแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น อาการแย่ลงหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นก็ถึงเวลาที่ควรไปปรึกษาแพทย์

สุดท้ายนี้ ก่อนการใช้ยาละลายเสมหะทุกครั้งควรปรึกษาและขอคำแนะนำในการเลือกซื้อยา การใช้ยา รวมถึงความปลอดภัยในการใช้ยาจากเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไอมีเสมหะติดต่อกันนานเป็นเดือน ร่วมกับอาการไอเป็นเลือด เจ็บหน้า หายใจไม่อิ่ม และหายใจมีเสียงหวีดควรพบแพทย์เข้ารับการตรวจวินิจฉัย