ยาสอด หรือยาเหน็บ คือยาที่ใช้สอดเข้าไปในทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ โดยเป็นรูปแบบการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง นิยมใช้ในกรณีที่ไม่อาจรักษาด้วยยารับประทานหรือการรักษารูปแบบอื่น
ลักษณะของยาสอดหรือยาเหน็บโดยทั่วไปมีทั้งชนิดเม็ดและน้ำ แต่ส่วนใหญ่เป็นยาชนิดเม็ด ยาสอดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาชนิดรับประทาน เนื่องจากยาจะละลายอย่างรวดเร็วและซึมเข้าสู่กระแสเลือดบริเวณใกล้เคียงได้โดยไม่ต้องผ่านกระเพาะอาหาร
ยาสอดที่มีใช้ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ยาสอดทวารหนัก (Rectal Suppositories) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายาเหน็บทวารหนัก เป็นยาสอดที่ใช้กับทวารหนักโดยเฉพาะ อาจมีลักษณะกลมหรือคล้ายลูกกระสุน ใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรควิตกกังวล โรคหอบหืด อาการท้องผูก ไข้ แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาการเจ็บหรือคันที่ทวารหนัก โรคจิตเภท ไบโพลาร์ ริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น
- ยาสอดช่องคลอด (Vaginal Suppositories หรือ Pessaries) หรือยาเหน็บช่องคลอด มีลักษณะเป็นรูปไข่ นิยมใช้รักษาอาการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ภาวะช่องคลอดแห้ง หรือใช้คุมกำเนิด
- ยาสอดท่อปัสสาวะ (Urethral Suppositories) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อย ยามีขนาดประมาณเมล็ดข้าว ใช้กับชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ
ทำไมต้องใช้ยาสอด ?
ยาสอดเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการใช้ยา โดยอาจนำมาใช้ในกรณีดังต่อไปนี้
- ยาเม็ดหรือยาน้ำที่ใช้ สลายตัวในระบบย่อยอาหารเร็วเกินไป
- ผู้ป่วยกลืนยาเองไม่ได้
- ผู้ป่วยอาเจียนจนรับประทานยาไม่ได้
- ยามีรสชาติแย่เกินกว่าจะรับประทานได้ หรือผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาเอง
ข้อดีและข้อเสียของการใช้ยาสอด
เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ ยาสอดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีของการใช้ยาสอดคือ
- ตัวยาถูกดูดซึมได้ง่ายและออกฤทธิ์เร็วกว่ายาชนิดรับประทาน เพราะยาเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง
- เป็นยาใช้รักษาเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบริเวณทวารหนัก ช่องคลอด หรือระบบสืบพันธุ์ในเพศชาย
- เป็นยาทางเลือกที่ดี ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาเองไม่ได้
ส่วนข้อเสียของการใช้ยาสอดนั้น ได้แก่
- ขั้นตอนการสอดยาค่อนข้างยุ่งยาก ผู้ป่วยอาจสอดยาเองไม่ได้ และยาอาจละลายหรือรั่วไหลออกมาจากบริเวณช่องคลอดหรือทวารหนักจนเปื้อนกางเกงชั้นใน
- ยานี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณทวารหนักหรือช่องคลอด เคยได้รับการรักษาด้วยรังสีบริเวณช่องคลอด เคยผ่าตัดต่อมลูกหมาก เป็นต้น
วิธีใช้ยาสอดที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีสอดยาที่ถูกต้อง เพราะหากทำผิดวิธี อาจส่งผลให้ยารั่วไหลออกมาหรือยาเสียหายจนใช้การไม่ได้ โดยวิธีสอดยาที่เหมาะสม มีขั้นตอนดังนี้
วิธีใช้ยาสอดทวารหนัก
- ตรวจสภาพของยาด้วยการบีบเบา ๆ ยาสอดที่ใช้ได้ต้องมีลักษณะแข็ง หากยาไม่แข็งควรนำไปแช่เย็นสักครู่ โดยแช่ทั้งบรรจุภัณฑ์และอย่าให้ยาถูกความชื้น
- ควรขับถ่ายให้เรียบร้อยก่อนสอดยา
- ล้างมือด้วยสบู่ แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
- ถอดกางเกงออกเพื่อความสะดวกในการสอดยา จากนั้นแกะยาออกจากบรรจุภัณฑ์ หากต้องตัดบรรจุภัณฑ์ควรใช้ใบมีดโกนที่มีคมด้านเดียว และหลังจากใช้แล้วควรทิ้งทันที ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ
- ชโลมเจลหล่อลื่นที่ส่วนปลายของยาสอด แต่หากไม่มีเจลหล่อลื่น ให้ชโลมน้ำเล็กน้อยบริเวณทวารหนัก
- เริ่มสอดยาโดยวางเท้าข้างหนึ่งบนเก้าอี้หรือบนชักโครก หากไม่สะดวกอาจนอนตะแคงให้ขาข้างที่อยู่ด้านบนงอขึ้นเล็กน้อย ส่วนขาด้านล่างเหยียดตรงไว้
- ค่อย ๆ สอดยาเข้าไปในรูทวารหนัก ขณะสอดผู้ป่วยควรผ่อนคลาย เพื่อให้ยาเข้าไปได้ง่ายขึ้น และสอดให้ลึกพอสมควร หากเป็นผู้ใหญ่ควรสอดยาลึกประมาณ 0.5-1 นิ้ว ส่วนทารกนั้นควรสอดยาลึกประมาณ 0.5 นิ้ว
- นั่งลง หรือนอนในท่าเดิมอย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้ยาเริ่มออกฤทธิ์
- ทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วลงในถังขยะ และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
วิธีใช้ยาสอดช่องคลอด
- ล้างทำความสะอาดบริเวณช่องคลอด และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน ๆ จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง
- อยู่ในท่าเตรียมพร้อมสอดยาด้วยการนอนหงาย งอเข่าขึ้น และแยกเท้าออกจากกันเล็กน้อย
- ค่อย ๆ สอดเม็ดยาเข้าไปในช่องคลอด และใช้นิ้วดันยาให้ลึกเข้าไป เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการสอดยา
วิธีใช้ยาสอดท่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนใช้ยา
- ใส่ยาเข้าไปในอุปกรณ์ช่วยสอดยา
- จับอวัยวะเพศชายให้ยืดตรง เพื่อให้ช่องทางปัสสาวะเปิดออก จากนั้นใส่อุปกรณ์ช่วยสอดยาเข้าไปภายในท่อปัสสาวะ
- ดันส่วนปลายของแท่งสอดยาเข้าไปจนสุดแล้วค้างไว้ประมาณ 5 วินาที
- สะบัดแท่งสอดยาเพื่อให้ยาเข้าไปภายในท่อปัสสาวะจนหมด
- นำที่ช่วยสอดยาออก เมื่อแน่ใจว่าไม่มียาตกค้างอยู่แล้ว แล้วนวดบริเวณอวัยวะเพศอย่างน้อย 10 วินาที เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีขึ้น
ปัญหาจากการใช้ยาสอด
แม้การใช้ยาสอดจะค่อนข้างปลอดภัย แต่บางครั้งก็อาจพบปัญหาเล็ก ๆ น้อยได้เช่นกัน โดยตัวยาอาจรั่วไหลออกมาจากบริเวณช่องคลอดหรือทวารหนักจนเปื้อนกางเกงหรือที่นอนได้ ผู้ป่วยอาจต้องใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือใช้ผ้ายางรองการรั่วไหลของยา
ทั้งนี้ การใช้ยาสอดอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะผู้ป่วยบางรายมีการดูดซึมยาบริเวณทวารหนัก ช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะไม่ดีพอ ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยารูปแบบอื่นแทน เช่น ยารับประทาน ยาฉีด เป็นต้น นอกจากนี้ ตัวยายังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่สอดยาเข้าไป หากรู้สึกเจ็บบริเวณที่ต้องสอดยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสอด
เนื่องจากยาสอดนั้นเข้าสู่ร่างกายโดยตรงและเกิดการดูดซึมทันที จึงอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ โดยยาสอดแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ยาสอดทวารหนัก อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนบริเวณทวารหนัก รวมถึงอาการปวดเกร็งท้องหรืออึดอัดท้อง ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจปวดท้องอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อุจจาระเป็นเลือด เลือดออกทางทวารหนัก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หากมีอาการรุนแรงเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- ยาสอดช่องคลอด อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณช่องคลอด และรู้สึกระคายเคือง รวมถึงอาการปวดท้องหรือคลื่นไส้ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันที
- ยาสอดท่อปัสสาวะ การใช้ยานี้อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณขา ซึ่งหากเป็นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง ควรไปพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนี้ หากมีเพศสัมพันธ์ขณะยังมียาตกค้างอยู่ อาจทำให้ฝ่ายหญิงเกิดการระคายเคืองภายในช่องคลอด แต่กรณีนี้อาจป้องกันได้ด้วยการใช้เจลหล่อลื่น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้ยาชนิดนี้ แต่มักพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม หากมีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คัน ใบหน้า ลิ้น และคอบวม เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สตรีมีครรภ์ใช้ยาสอดได้หรือไม่ ?
แพทย์จะใช้ยาสอดกับหญิงตั้งครรภ์ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาใด ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูง โดยอาจพิจารณาให้ใช้ยาสอดในกรณีต่อไปนี้
- รักษาอาการท้องผูก หากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสอดระหว่างตั้งครรภ์ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- เร่งการคลอด คุณแม่บางรายอาจต้องใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยเร่งการคลอด โดยการใช้ยาสอดเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ ทั้งนี้ แพทย์จะตัดสินใจใช้ยาสอดเพื่อเร่งการคลอดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแม่และเด็กเป็นสำคัญ