ยาเลื่อนประจำเดือน คือ ยาสำหรับการชะลอรอบเดือนให้มาช้ากว่าปกติ เนื่องจากมีความจำเป็นในการทำงาน การเรียน นัดหมายสำคัญ หรือต้องเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุด การเลื่อนประจำเดือนออกไปจะอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมดังกล่าว สามารถทำได้โดยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมตามวิธีเฉพาะสำหรับการเลื่อนประจำเดือน และอีกวิธี คือ การรับประทานยานอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone)
การเลื่อนประจำเดือนด้วยยาเม็ดคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ผู้ที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนสามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แบบ 28 เม็ด โดยปกติยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้จะมีฮอร์โมนอยู่ในตัวยา 21 เม็ดแรก และอีก 7 เม็ดหลังจะเป็นเม็ดยาหลอก และประจำเดือนจะมาในช่วง 7 วันที่รับประทานยาหลอกนี้เช่นกัน ดังนั้น การเลื่อนประจำเดือนทำได้โดยการข้ามยาหลอกทั้ง 7 เม็ดไป แล้วรับประทานยาแผงใหม่ต่อทันที และประจำเดือนจะมาในรอบเดือนถัดไปแทน
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แบบ 21 เม็ด ส่วนวิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด จากปกติที่ประจำเดือนจะมาในวันหลังจากยาเม็ดสุดท้ายหมด และผู้หญิงต้องหยุดรับประทานยาไป 7 วันในระหว่างที่มีประจำเดือน การเลื่อนประจำเดือนทำได้โดยการเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแผงใหม่ต่อได้ทันทีหลังรับประทานยาแผงแรกหมด
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสโตเจนตัวเดียว
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่สามารถใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือนได้ หากต้องการเลื่อนประจำเดือน สามารถเปลี่ยนไปรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแทนได้ โดยควรศึกษาวิธีการใช้ยาให้รอบคอบ ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยา ประวัติการแพ้ยาหรือฮอร์โมน ข้อดีข้อเสียของการใช้ยาแต่ละชนิดก่อนเปลี่ยนยา
การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมตามวิธีข้างต้น นอกจากจะสามารถเลื่อนประจำเดือนออกไปได้แล้ว ยังสามารถส่งผลต่อการคุมกำเนิดได้ตามปกติอีกด้วย
ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 2 แผงติดต่อกันโดยไม่หยุดพักให้ประจำเดือนมาตามปกติ
การทำงานของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ส่งผลต่อการเลื่อนประจำเดือน
โดยปกติ ในขณะที่ผู้ใช้ยารับประทานยาเม็ดหลอก (แผง 28 เม็ด) หรือหยุดใช้ยา (แผง 21 เม็ด) ในช่วง 7 วัน ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะลดลง กระตุ้นให้ผนังมดลูกลอกตัวและไหลออกมาเป็นเลือดประจำเดือน หากรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง ประจำเดือนจะถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ข้อจำกัดและผลข้างเคียงจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อเลื่อนประจำเดือน
ผู้ที่จะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้ควรศึกษาหรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงวิธีการใช้ยา ผลข้างเคียงจากยา และความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของตนก่อนการใช้ยา
แม้การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อเลื่อนประจำเดือนจะส่งผลในทางคุมกำเนิดได้ด้วย แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่ใช้ยาควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเสมอ
อย่างไรก็ดี การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้เพื่อเลื่อนประจำเดือนไม่เหมาะกับผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ปวดหัวไมเกรน ภาวะเลือดไหลออกจากช่องคลอดโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง
ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ ได้แก่
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ปวดท้อง
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อย ซึ่งเป็นเลือดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิวโพรงมดลูกเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
การเลื่อนประจำเดือนด้วยยานอร์เอทีสเตอโรน
สำหรับผู้ที่ไม่อยากหรือไม่สามารถรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อเลื่อนประจำเดือน สามารถรับประทานยานอร์เอทีสเตอโรน (norethisterone) แทนได้ โดยเป็นการรับประทานยาเม็ด 5 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน ก่อนหน้าวันที่จะมีประจำเดือน 3 วัน และรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนประจำเดือนอีกต่อไป
การเลื่อนประจำเดือนด้วยยาชนิดนี้อาจสามารถใช้ได้ต่อเนื่อง 3-4 สัปดาห์หากมีความจำเป็น แต่ไม่ควรใช้วิธีการดังกล่าวเป็นประจำ ควรเลื่อนประจำเดือนหากมีโอกาสพิเศษหรือมีความจำเป็นเท่านั้น
การทำงานของยานอร์เอทีสเตอโรนที่ส่งผลต่อการเลื่อนประจำเดือน
ยานอร์เอทีสเตอโรนมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศโปรเจสโตเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยไม่ให้เกิดการหลุดลอกของผนังมดลูกเมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม โดยผนังมดลูกจะลอกออกและไหลเป็นเลือดประจำเดือนเมื่อระดับฮอร์โมนโปรเจสโตเจนลดลงเมื่อหยุดใช้ยา
ข้อจำกัดและผลข้างเคียงจากการใช้ยานอร์เอทีสเตอโรนเพื่อเลื่อนประจำเดือน
ยานอร์เอทีสเตอโรนไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และไม่มีผลในทางคุมกำเนิด ประสิทธิผลของยาในการเลื่อนประจำเดือนและผลข้างเคียงจากการใช้ยา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- เจ็บเต้านม
- คลื่นไส้เวียนหัว
- ปวดหัว
- มีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ และความต้องการทางเพศ
ประโยชน์จากการเลื่อนประจำเดือน
เมื่ออยู่ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน อาจเอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อตัวบุคคลในด้านสภาพร่างกาย จิตใจ การเรียน การทำงานต่าง ๆ เช่น
- มีสภาพร่างกายหรือจิตใจที่ไม่พร้อม ไม่สามารถ หรือไม่สะดวกในการใช้ผ้าอนามัย
- การมีประจำเดือนอาจทำให้อาการป่วยในช่วงนั้นทรุดหนักลง เช่น กำลังป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง หอบหืด ไมเกรน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือโรคลมชัก เป็นต้น
- เจ็บหน้าอก แน่นท้อง ท้องอืด หรือมีอารมณ์แปรปรวนอย่างมากในช่วง 7-10 วัน ก่อนมีประจำเดือน
- ปวดหัวหรือมีกลุ่มอาการประจำเดือนที่รุนแรงในระหว่างช่วง 7 วันที่หยุดรับประทานยาคุม หรือรับประทานยาคุมเม็ดหลอก เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
- ประจำเดือนมาปริมาณมาก เป็นเวลานาน มาบ่อยกว่าปกติ หรือมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก
- มีนัดหมายหรือกำหนดการสำคัญ เช่น การสอบ การประกวดแข่งขัน การเดินทางไกล การไปท่องเที่ยวพักผ่อน การแต่งงาน หรือโอกาสพิเศษอื่น ๆ
การเลื่อนประจำเดือน ปลอดภัยหรือไม่
การเลื่อนประจำเดือนด้วยการใช้ยาอาจมีความเสี่ยงจากการใช้ยาดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนเสมอ และใช้ยาตามวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวบุคคลเอง
ความเสี่ยงจากการเลื่อนประจำเดือน
ในบางครั้ง หากใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเล็กน้อย แล้วจะค่อย ๆ ลดปริมาณลงเมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้
อย่างไรก็ตาม หากบุคคลใดใช้วิธีเลื่อนประจำเดือนเป็นประจำ อาจทำให้สังเกตได้ยากว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ดังนั้น เมื่อพบอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก หรืออ่อนล้าหมดแรงผิดปกติ ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาการตั้งครรภ์ต่อไป