หลังถูกยุงกัด คุณจะพบตุ่มนูนเป็นเนื้อแข็งสีขาวหรือสีแดงและมีอาการคันปรากฏขึ้นบนผิวหนัง โดยตุ่มนั้นจะคงอยู่ประมาณ 1 วัน หรือนานกว่านั้น แล้วจะค่อย ๆ จางหายไป ในบางครั้งจะพบตุ่มพองใสเป็นจุดเล็ก ๆ แทนตุ่มนูนบวม หรืออาจมีจุดสีเข้มคล้ายจ้ำเลือดปรากฏขึ้นบนผิวหนังแทน
แต่ในบางกรณี ผู้ที่ถูกยุงกัดอาจมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า เนื่องจากไม่เคยถูกยุงชนิดนั้นกัดมาก่อน หรืออาจป่วยด้วยโรคความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และอาการที่ปรากฏในเด็กมักรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากอาการที่ปรากฏดังต่อไปนี้รุนแรงขึ้นหรือไม่ทุเลาลง ควรติดต่อแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เช่น
- มีตุ่มบวมแดงขนาดใหญ่
- มีไข้ต่ำตามมา
- เป็นลมพิษ
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
แม้ตุ่มยุงกัดและอาการทั่วไปจะค่อย ๆ จางหายไปในเวลาไม่นาน แต่ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังถูกยุงกัด และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที หากผู้ป่วยพบอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น
ยุงกัด อันตรายอย่างไร ?
แม้จะมีวงจรชีวิตที่สั้น แต่ยุงเป็นพาหะนำโรคภัยต่าง ๆ มาแพร่กระจายสู่คนได้ เนื่องจากยุงตัวเมียจะใช้ปากเจาะลงไปบนผิวหนังของสัตว์เลือดอุ่นรวมทั้งมนุษย์ เพื่อดูดกินเลือดและนำโปรตีนในเลือดมาใช้ในกระบวนการสืบพันธุ์ขยายพันธุ์ ในขณะที่ยุงตัวผู้จะไม่กัดและดูดเลือด เพราะไม่จำเป็นต้องวางไข่แพร่ขยายพันธุ์ดังเช่นยุงตัวเมีย
จากการดูดเลือดจากคนสู่คนหรือสัตว์มาสู่คน ยุงจึงอาจนำเชื้อโรคและไวรัสต่าง ๆ มาแพร่สู่คนจนเกิดการเจ็บป่วยและโรคระบาดต่าง ๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะโรคที่ระบาดในประเทศไทยและแถบเอเชีย เช่น
ไข้เลือดออก (Dengue Fever)
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลาย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคเป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน ชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น จากการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ไข้เลือดออกจึงเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจ และประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง
มาลาเรีย (Malaria)
เกิดจากเชื้อโปรโตซัวแพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงก้นปล่อง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงและหนาวสั่น อาการของมาลาเรียมักจะไม่รุนแรง และระบุโรคได้ยาก เพราะมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้สูงหรือมีอาการของมาลาเรียอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis: JE)
เกิดจากเชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงรำคาญ โดยยุงมักไปกัดสัตว์ที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกาย เช่น หมู หรือนกเป็ดน้ำ แล้วมาแพร่สู่คน ผู้ที่ได้รับเชื้อมักแสดงอาการน้อยมาก ผู้ป่วยเพียงประมาณ 1 ใน 250 รายเท่านั้นที่จะมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท
โดยไข้สมองอักเสบ เจอี เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และกระจายการระบาดมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน หากผู้ป่วยติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือทันท่วงที อาจทำให้เกิดความพิการทางระบบประสาท หรือถึงแก่ชีวิตได้
ชิคุนกุนยา (Chikungunya)
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดโดยมียุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) และยุงลายสวน (Aedes Albopictus) ซึ่งเป็นยุงที่มักออกหากินในเวลากลางวันเป็นพาหะนำโรค โดยมีอาการป่วยที่คล้ายกับไข้เลือดออกและไวรัสซิกา ทำให้อาจเสี่ยงต่อการวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อนได้ โดยอาการสำคัญของผู้ป่วยที่ติดเชื้อคือ มีไข้ ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อต่ออย่างรุนแรง
โรคไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ มีผดผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง อาการต่าง ๆ มักปรากฏขึ้นหลังถูกยุงกัดและได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3-12 วัน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วยจนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสซิกาในผู้ที่ตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ คนทั่วไปจึงควรระมัดระวังในการเดินทางหรืออยู่อาศัยในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้
ไข้เหลือง (Yellow Fever)
เกิดจากการติดเชื้อฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ที่มียุงลายและยุงป่าชนิด Haemogogus เป็นพาหะนำโรค ไวรัสชนิดนี้มักพบได้มากในประเทศแถบอเมริกาใต้และแอฟริกา โดยอาจแพร่ระบาดจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศในแถบนั้น ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหัว ปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน และอาการจะดีขึ้นจนหายดีใน 3–4 วัน
แต่ในบางรายที่มีอาการกำเริบสู่ภาวะเป็นพิษ ผู้ป่วยจะกลับมามีไข้สูง มีอาการภาวะดีซ่าน หรือตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้อง อาเจียนมีเลือดปน การทำงานของไตเสื่อมสมรรถภาพลง ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะนี้อาจถึงแก่ชีวิต หรืออาจฟื้นตัวกลับมาพร้อมกับความเสียหายในอวัยวะในระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อถูกยุงกัด การเกาบริเวณตุ่มที่คันจากยุงกัดอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลและการติดเชื้อได้เช่นกัน
กลวิธีการรักษาดูแลอาการหลังถูกยุงกัด
หลังถูกยุงกัดควรดูแลอาการด้วยวิธีต่อไปนี้
- ล้างทำความสะอาด ผิวหนังบริเวณที่ถูกยุงกัดด้วยสบู่และน้ำอุ่น
- ทายา ที่เป็นเนื้อครีมหรือโลชั่นซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปลงบนผิวบริเวณที่ถูกยุงกัด เช่น คาลาไมน์ (Calamine) และไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อลดอาการคัน หรือป้ายผิวหนังบริเวณนั้นด้วยเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำ แล้วทาครีมเหล่านี้ซ้ำวันละหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป
- ประคบเย็น ไปบนผิวหนังบริเวณที่ถูกยุงกัด อาจใช้ถุงน้ำแข็ง หรือผ้าเปียกชุบน้ำเย็นประคบเป็นเวลา 2–3 นาที เพื่อบรรเทาอาการ
- รับประทานยา หากมีอาการรุนแรงพอสมควร ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวด หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
- ตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการเกาตุ่มที่ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการเกิดแผลและการติดเชื้อ
เคล็ดลับการป้องกันยุงกัด
แม้การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเลยจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะยุงเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก และมีการแพร่ขยายพันธุ์ได้ทั่วไป แต่คนทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหายุงกัดและการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มียุงเป็นพาหะได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำนิ่งที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านหากไม่จำเป็น ทายากันยุงเมื่ออยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด
- คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในภาชนะของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้มีน้ำขังในภาชนะใด ๆ ที่อยู่ในบริเวณบ้าน
- ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำ อย่างแจกันดอกไม้ โดยใช้ทรายในอัตราส่วนประมาณ 1 กรัม/น้ำ 10 ลิตร
- กำจัดยางรถยนต์หรือภาชนะที่อาจทำให้มีน้ำท่วมขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้
- ตัดหรือถางหญ้าให้สั้นและโล่งเตียน เพื่อป้องกันแหล่งที่มียุงอยู่ชุกชุม
- ไม่เปิดหน้าต่างหรือประตูบ้านทิ้งไว้ และติดมุ้งลวดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงเล็ดลอดเข้ามาภายในบ้าน โดยควรหมั่นตรวจตราให้ประตูหน้าต่างและมุ้งลวดเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- หากต้องนอนในบริเวณที่มียุงอาศัยอยู่ ควรกางมุ้งก่อนนอนเสมอ
- ฉีดพ่นยากันยุงบริเวณตัวบ้านเป็นระยะ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ เนื่องจากเป็นสารเคมีอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้หากใช้อย่างผิดวิธีหรือไม่ระมัดระวัง
- หากต้องเดินทางเข้าป่า ไปยังบริเวณที่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น หรืออยู่ในบริเวณที่มืดและอับชื้น เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง ควรแต่งกายให้มิดชิดด้วยเสื้อผ้าแขนยาวขายาว สวมถุงเท้า สวมหมวกคลุมใบหน้าและลำคอที่มีผ้าตาข่ายป้องกันยุง
- หากต้องเดินทางไปต่างประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคและเชื้อไวรัสต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนการเดินทาง เช่น วัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย
- หากเป็นผู้ที่มีอาการแพ้ยุงกัดอย่างรุนแรงหรือผู้ที่มีกลุ่มอาการสกีตเตอร์ซินโดรม (Skeeter Syndrome) ควรรับประทานยาต้านฮิสตามีนก่อน เมื่อทราบว่ากำลังต้องไปอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด