รองเท้าส้นสูงเป็นรองเท้าที่หลายคนนิยมใส่ด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่น เพื่อเสริมบุคลิกภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ หรือเนื่องจากความชอบส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม บางคนอาจยังไม่ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกพรุนจากรองเท้าส้นสูง รวมถึงผลเสียบางอย่างทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากการสวมรองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน
กระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่ส่งผลให้กระดูกของผู้ที่ป่วยมีลักษณะเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในบทความนี้จะพูดถึงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง อย่างการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นหลัก
รู้ทันปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกพรุนจากรองเท้าส้นสูง
นอกจากอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเท้า ปวดไหล่ หรืออาการอักเสบที่ผิวหนังบริเวณเท้าจากการเคลื่อนไหวและการทรงตัวที่ผิดไปจากธรรมชาติแล้ว การสวมรองเท้าส้นสูงนาน ๆ โดยเฉพาะรองเท้าที่ส้นสูงมาก ๆ ยังอาจส่งผลให้กระดูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดปัญหาตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหากระดูกบาง แตกหักง่าย เกิดรอยร้าว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
โดยกระดูกส่วนหลัก ๆ ในร่างกายที่มักได้รับผลกระทบจากการสวมรองเท้าส้นสูงมีดังต่อนี้
เท้า
การสวมรองเท้าส้นสูงจะส่งผลให้กระดูกเท้าส่วนหน้าต้องรับน้ำหนัก แรงกด และแรงกระแทกในขณะที่เคลื่อนไหว โดยเฉพาะกระดูกฝ่าเท้าส่วนปลายที่เป็นข้อต่อยึดเอ็นกล้ามเนื้อกับกระดูกนิ้วเท้า ซึ่งหากเท้าส่วนนี้ได้รับแรงกดมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้กระดูกและเส้นประสาทบริเวณเท้าเกิดการอักเสบได้ รวมถึงยังอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กระดูกแตกได้ หากเท้าได้รับแรงกดอย่างเรื้อรัง
นอกจากนี้ การรับแรงกดและการเคลื่อนไหวอย่างผิดธรรมชาติที่เกิดจากการใส่ส้นสูงติดต่อกันนาน ๆ ยังอาจส่งผลเนื้อเยื่อและกระดูกข้อต่อนิ้วเท้าก่อตัวผิดรูปผิดร่าง จนนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น เกิดตาปลา หรือกระดูกหัวแม่เท้าโค้งงอออกมา
ข้อเท้า
การใส่ส้นสูงเป็นการบังคับให้ข้อเท้าต้องโน้มไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวเท้าจึงถูกจำกัด โดยการที่ข้อเท้าถูกจำกัดนั้น นอกจากจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดช่วงเท้าและขาติดขัดแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดข้อเท้าพลิกและอาการเคล็ดขัดยอกได้ ซึ่งในกรณีรุนแรง อาจมีการแตกหักของกระดูกจากการกระแทก หรือพัฒนาไปสู่โรคกระดูกพรุนได้
หัวเข่า
การรองรับแรงกดและความตึงภายในหัวเข่าเป็นเวลานานจากการใส่ส้นสูงเป็นประจำ อาจส่งผลให้น้ำไขข้อที่ช่วยลดแรงเสียดทานในกระดูกลดลง หรือกระดูกได้รับแรงกดและแรงเสียดทานเพิ่มขึ้น จนอาจเกิดรอยแตกและข้อเข่าเสื่อม หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
สะโพกและหลัง
เมื่อใส่ส้นสูง กระดูกสันหลังจะถูกดัดเพื่อปรับสมดุลในการยืนและการเคลื่อนไหว ด้วยการดันสะโพกและทรวงอกให้โน้มไปข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้กระดูกสันหลังส่วนเอวถูกดัดโค้งตามไปด้วย
โดยแนวการวางตัวของกระดูกสันหลัง และการทำงานที่หนักขึ้นของกล้ามเนื้อสะโพกกับเส้นเอ็น อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบอย่างเรื้อรัง เกิดอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดสะโพก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
แนวทางการลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนจากการใส่รองเท้าส้นสูง
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการใส่ส้นสูง หรือจำเป็นต้องใส่ส้นสูงในการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและบรรเทาความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้ในเบื้องต้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า โดยให้เลือกซื้อรองเท้าในช่วงบ่าย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เท้าขยายใหญ่ที่สุด เพื่อลดการเสียดสี การบีบรัด หรือการเกิดข้อเท้าพลิกและข้อเท้าแพลง
- หลีกเลี่ยงการสวมส้นสูงที่สูงเกินกว่า 2 นิ้ว และลักษณะรองเท้าไม่ลาดชันจนเกินไป เพื่อลดแรงกดที่จะเกิดกับเท้าในขณะสวมใส่
- หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูงแบบส้นเข็ม เนื่องจากการทิ้งน้ำหนักและแรงกดไปที่จุด ๆ เดียว อาจสร้างความเสียหายให้แก่เท้าได้มากกว่าการกระจายแรงกดออกไป โดยทางที่ดีควรเลือกส้นที่หนาพอดีและรับกับรูปเท้าของผู้สวมใส่
- เลือกรองเท้าที่หน้ากว้าง ไม่บีบรัดนิ้วเท้า และไม่เผยผิวเท้ามากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผล รวมถึงอาจใช้แผ่นรองส้นเพื่อเพิ่มความสบายในการสวมใส่
- ยืดกล้ามเนื้อขาและเท้าก่อนสวมใส่รองเท้าส้นสูง
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน โดยให้ถอดส้นสูงออกเพื่อพักเท้าเป็นระยะ และหมั่นนวดเท้าเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกพรุนจากรองเท้าส้นสูงแล้ว แต่อย่างที่ได้กล่าวไปว่า โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง ดังนั้น นอกจากการดูแลตัวเองจากการใส่ส้นสูงแล้ว ก็ควรดูแลกระดูกให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี รวมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายอีกด้วย