การมีรอบเดือนเกิน 35 วันหรือมีรอบเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งต่อปี ถือเป็นประจำเดือนที่ผิดปกติ (Oligomenorrhea) โดยสาเหตุอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงในชีวิต ปัญหาสุขภาพและยาบางชนิด นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สิวขึ้น ปวดท้อง ร้อนวูบวาบ ตกขาว และมีขนขึ้นตามใบหน้าและลำตัวเยอะผิดปกติ
ประจำเดือนหรือรอบเดือนคือเลือดและเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาทุกเดือนเมื่อไม่เกิดการตั้งครรภ์ โดยรอบเดือนปกติมักมาประมาณ 4–7 วันและห่างกัน 21–35 วัน ทั้งนี้ รอบเดือนที่ผิดปกติหรือรอบเดือนเกิน 35 วันอาจก่อให้เกิดความสับสนกับรอบเดือนไม่มาเนื่องจากการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ควรตรวจการตั้งครรภ์ หากผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันมาแล้ว 21 วันและรอบเดือนไม่มาตามปกติ
สาเหตุที่ทำให้มีรอบเดือนเกิน 35 วัน
รอบเดือนเกิน 35 วันมักเป็นอาการผิดปกติที่อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
รอบเดือนเกิน 35 วันอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยฮอร์โมนในร่างกายมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ หากฮอร์โมนเกิดความไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดการทำงานบางอย่างของร่างกายเปลี่ยนไป ซึ่งรวมไปถึงการมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติ
2. ความเครียด
ความเครียดเอาจเกิดจากความกังวลในเรื่องต่าง ๆ พักผ่อนไม่เพียงพอหรือร่างกายเหนื่อยล้า เมื่อร่างกายเกิดความเครียด อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้รอบเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มา รอบเดือนมาเร็วหรือมาช้ากว่าปกติ ซึ่งรวมถึงการมีรอบเดือนเกิน 35 วัน
3. การเปลี่ยนแปลงในชีวิต
การมีรอบเดือนที่เปลี่ยนไปจากเดิมอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต เช่น การตั้งครรภ์ ช่วงหลังคลอดบุตรและการให้นมบุตร โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ระดับฮอร์โมนมักผันผวนและส่งผลให้รอบเดือนผิดปกติหรือมีรอบเดือนเกิน 35 วันได้
4. การมีประจำเดือนครั้งแรก
การมีประจำเดือนครั้งแรกอาจทำให้มีรอบเดือนเกิน 35 วัน เนื่องจากการมีประจำเดือนครั้งแรกของผู้หญิงอาจต้องใช้เวลาในการปรับฮอร์โมนและระยะห่างของรอบเดือนให้คงที่ โดยในช่วงแรกของการมีรอบเดือนจะมีความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาแบบเฉียบพลัน ประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เองเมื่อฮอร์โมนเริ่มคงที่
5. เข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน
รอบเดือนเกิน 35 วันอาจเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (Menopause) โดยช่วงวัยนี้ ฮอร์โมนมักเกิดการเปลี่ยนแปลงและอาจนำไปสู่การมีรอบเดือนเร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าปกติ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนวันที่เป็นประจำเดือนและปริมาณของเลือดประจำเดือนในแต่ละรอบ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจนกระทั่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างสมบูรณ์
6. ออกกำลังกายหนักเกินไป
ถึงแม้การออกกำลังกายอาจทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่การออกกำลังกายหนักเกินไป อาจทำให้ร่างกายมีพลังงานไม่เพียงพอที่จะสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาน้อยและรอบเดือนมาช้าเกิน 35 วัน
7. ผลข้างเคียงของยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้มีรอบเดือนเกิน 35 วันได้ โดยเฉพาะการใช้ยาคุมกำเนิดและวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด และยาฝังคุมกำเนิด การใช้ยาและวิธีการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการมีรอบเดือนที่ผิดปกติ เช่น รอบเดือนมาบ่อยหรือช้ากว่าปกติ และประจำเดือนมามากหรือมาน้อยกว่าปกติ
นอกจากนี้ การใช้ยาต้านอาการทางจิตและยาต้านชักอาจส่งผลให้ผู้หญิงมีรอบเดือนเกิน 35 วันได้เช่นกัน
8. กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่อาจส่งผลให้รอบเดือนนานเกิน 35 วัน เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจน (Androgen) เยอะผิดปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุลและอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาน้อยได้ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น สิวขึ้น ปวดอุ้งเชิงกราน ขนขึ้นเยอะบริเวณหน้าอก หลังหรือหน้าท้อง
9. ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency)
รอบเดือนเกิน 35 วันอาจเป็นสัญญาณของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดหรืออาการที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งช่วยให้รอบเดือนมาเป็นปกติ สัญญาณหรืออาการของภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอื่น ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์ทางเพศลดลง เหงื่อออกตอนกลางคืน และภาวะมีบุตรยาก
10. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
รอบเดือนเกิน 35 วันอาจเกิดจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ซึ่งอาการนี้อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาเยอะผิดปกติ แต่ในบางรายอาจมีรอบเดือนช้าได้เช่นกัน
11. โรคการกินผิดปกติ (Eating disorder)
พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ (Eating disorder) เช่น โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia nervosa) โรคบูลิเมีย (Bulimia nervosa) และโรคกินไม่หยุด (Binge eating) อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จึงอาจทำให้รอบเดือนมาช้าหรือรอบเดือนเกิน 35 วันได้
นอกจากนี้ รอบเดือนเกิน 35 วันอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไตแต่กำเนิด (Congenital Adrenal Hyperplasia) เนื้องอกโปรแลคติโนมา(Prolactinoma) ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และโรคเบาหวาน
การรักษารอบเดือนเกิน 35 วัน
หากมีรอบเดือนเกิน 35 วันหรือรอบเดือนที่ผิดปกติไปจากเดิม ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเข้ารับการหาตรวจสาเหตุและรับการรักษา โดยการรักษามักขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ซึ่งอาจรักษาได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจช่วยให้รอบเดือนผิดปกติมีอาการดีขึ้น เช่น
- หากรอบเดือนเกิน 35 วันเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีน้ำหนักเยอะหรือน้อยเกินไป ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและออกกำลังกายให้เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
- หากสาเหตุเกิดจากความเครียด อาจลองหาวิธีจัดการความเครียด เช่น พักผ่อน ทำงานอดิเรกที่ชอบ ปรับเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต ฝึกสมาธิ หรืออาจปรึกษาจิตแพทย์
ฮอร์โมนบำบัด
รอบเดือนเกิน 35 วันอาจใช้วิธีการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนอื่น ๆ เพื่อใช้รักษาอาการฮอร์โมนขาดความสมดุล โดยวิธีนี้มีความปลอดภัย แต่อาจเหมาะสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์
การผ่าตัด
หากรอบเดือนเกิน 35 วันเกิดจากเนื้องอก แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดนำเนื้องอกออก เพื่อรักษาอาการเนื้องอก และอาจช่วยให้อาการรอบเดือนผิดปกติดีขึ้นตามลำดับ
หากมีรอบเดือนเกิน 35 วันและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะมีบุตรยาก โรคกระดูกพรุน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติทางระบบประสาท เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก