รักษาสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรังที่ควรได้รับการดูแล

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด การรักษาสะเก็ดเงินให้อาการทุเลาลงจึงต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอ โดยทั่วไปอาการของสะเก็ดเงินมักทำให้เกิดผื่นแดงคันและขุยสีขาวบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า และแผ่นหลังส่วนล่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการในช่วงสั้น ๆ และหายไป จากนั้นจะเกิดซ้ำเป็นวงจรเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น

สาเหตุการเกิดสะเก็ดเงินยังไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ อาการจากโรคสะเก็ดเงินอาจสร้างความรำคาญและส่งผลต่อบุคลิกภาพ ซึ่งทำให้ผู้ที่เป็นสูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน การปรึกษาแพทย์ผิวหนังและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยควบคุมและบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงินได้ รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

Applying,An,Emollient,To,Dry,Flaky,Skin,As,In,The

วิธีดูแลตัวเองเพื่อรักษาสะเก็ดเงิน

การรักษาสะเก็ดเงินอาจแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค หากความรุนแรงน้อยจะรักษาด้วยการใช้ยาทาผิว เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อนุพันธ์วิตามินดี และเรตินอยด์ (Retinoids) ควบคู่กับการดูแลตัวเองซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้ ดังนี้

1. การดูแลผิว

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรดูแลผิวด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลหรืออาการบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น แมลงกัดต่อย รอยถลอกขีดข่วน
  • อาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และการแช่น้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันสำหรับอาบน้ำ ข้าวโอ๊ต หรือดีเกลือลงในอ่างอาบน้ำเป็นเวลา 5–15 นาทีจะช่วยลดผิวแห้งและคันได้ ควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติ 
  • ซับผิวเบา ๆ ให้แห้งพอหมาด จากนั้นทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพราะผิวที่แห้งจะยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นและทำให้ผิวหายช้าลง
  • ไม่แกะหรือเกาบริเวณแผล หากรู้สึกคันให้ประคบเย็นซึ่งจะช่วยลดอาการคันได้
  • สัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ โดยรังสียูวี (UV) อาจช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวและช่วยในการบรรเทาอาการสะเก็ดเงิน ทั้งนี้ หากแดดจ้าควรทาครีมกันแดดและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแสงแดดจัดเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ผิวไหม้แดด ซึ่งทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินรุนแรงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกายและทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้นได้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ปลาทะเล ถั่วและเต้าหู้ที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าวที่มีโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกายอาจช่วยรักษาสะเก็ดเงินให้ดีขึ้นได้ 

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อวัว เนื้อสัตว์แปรรูป ไข่ นม อาหารที่มีกลูเตน (Gluten) เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมอลต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียมสูง

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีอาการคันหรือเจ็บผิวหนังจนไม่สามารถหลับได้ อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนไม่เพียงพออาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินรุนแรงขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความเครียดและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งวิธีที่ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ได้แก่

  • การออกกำลังกายเป็นประจำ 
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรม เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากและการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน 
  • เข้านอนให้เป็นเวลาทุกคืน 
  • เลือกสวมชุดนอนที่นุ่มสบาย และทาครีมบำรุงผิวเพิ่มความชุ่มชื้นก่อนนอน ซึ่งช่วยให้รู้สึกสบายผิวและนอนหลับได้ดีขึ้น

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล ช่วยในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับผู้ป่วยสะเก็ดเงิน เช่น โรคหัวใจ และไขมันพอกตับ

5. จัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม

ความเครียดเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคซ้ำอีก การจัดการกับความเครียดจึงเป็นวิธีที่ช่วยรักษาสะเก็ดเงินได้ โดยส่วนมากผู้ป่วยมักรู้สึกเครียดเนื่องจากสะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เมื่อเกิดความเครียด ควรหาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ และฝึกการหายใจ  

นอกจากนี้ ญาติและคนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจว่าสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเครียดหรือกังวล

6. รับมือกับสภาพอากาศ

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้น ผู้ที่รักษาสะเก็ดเงินจึงต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 

หากอากาศเย็นควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น อาบน้ำอุ่น และทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เปิดเครื่องทำความชื้น (Humidifier) เมื่ออากาศแห้ง หากต้องออกนอกบ้านในวันที่อากาศร้อนควรทาครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าที่เบาสบายและระบายอากาศได้ดี และไม่ควรอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

7. ไปพบแพทย์ตามนัด

การรักษาสะเก็ดเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวเพื่อควบคุมไม่ให้อาการของโรคกำเริบขึ้นอีก ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์ผิวหนังทุกครั้งตามที่นัดหมาย และปฏิบัติตามวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะผู้ป่วยสะเก็ดเงินอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตา โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจตาปีละ 1–2 ครั้ง หากตรวจพบความผิดปกติของดวงตาได้เร็ว จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น

ทั้งนี้ การรักษาสะเก็ดเงินในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก แพทย์อาจให้รับประทานยา เช่น ยาเมทโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอาซิเทรติน (Acitretin) และยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) หรือรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy) และยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents)

แม้จะไม่สามารถรักษาสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ แต่การดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยบรรเทาอาการ ลดความถี่และความรุนแรงของโรค รวมทั้งลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวและช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง