รักแร้ กับวิธีการดูแลสุขภาพใต้วงแขน

รักแร้เป็นพื้นที่ผิวใต้วงแขนที่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล เพราะบริเวณรักแร้มีเส้นเลือด รูขุมขน และต่อมเหงื่ออยู่ใต้ผิวหนังมากมาย มีความร้อนสูงและยังเสี่ยงต่อการอับชื้นจนเกิดปัญหาสุขภาพได้ คนทั่วไปควรศึกษาปัญหาใต้วงแขนที่อาจเกิดขึ้น และเรียนรู้วิธีการรักษาดูแลผิวใต้วงแขนอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น กลิ่นตัว การสะสมของเชื้อโรค การอักเสบของผิวหนัง เป็นต้น

Armpits

ปัญหาใต้วงแขน กับวิธีการดูแลรักแร้

ปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผิวบริเวณรักแร้ ซึ่งสามารถดูแลและป้องกันการเกิดอาการต่าง ๆ ได้ ดังนี้

ภาวะเหงื่อออกมาก เป็นภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกทางผิวหนังมากผิดปกติจนอาจเกิดการเจ็บป่วยได้ ซึ่งรักษาได้โดยใช้สารระงับเหงื่อ ใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ ฉีดโบท็อกซ์ ตลอดจนเข้ารับการผ่าตัดหรือการจี้ปมประสาท เป็นต้น

นอกจากนี้ หากกำลังเผชิญภาวะเหงื่อออกมาก อาจมีแนวทางดูแลสุขภาพรักแร้ ดังนี้

  • อาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน แล้วเช็ดรักแร้ให้แห้งเสมอ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่ผสมสารลดเหงื่อจำพวกอะลูมิเนียมคลอไรด์ทั้งกลางวันและก่อนนอน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยระบายเหงื่อได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มร้อนอย่างชาและกาแฟ รวมทั้งแอลกอฮอล์และอาหารรสเผ็ด เพราะอาจกระตุ้นการหลั่งเหงื่อได้
  • ฝึกสมาธิให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย รวมถึงช่วยลดความเครียดซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้หลั่งเหงื่อ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน

รูขุมขนอักเสบ รูขุมขนบริเวณรักแร้อาจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มักเป็นเพียงการอักเสบที่ไม่รุนแรงและหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่อาจดูแลอาการได้โดยล้างทำความสะอาดรักแร้ด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย 2 ครั้ง/วัน ใช้ผ้าเช็ดตัวและสวมเสื้อผ้าที่สะอาดเสมอ หากอาการไม่ดีขึ้นก็อาจต้องไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อแบคทีเรียและยาต้านเชื้อราชนิดยาทาผิวหนัง รวมถึงยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมของรูขุมขนด้วย

ส่วนการป้องกันการเกิดรูขุมขนอักเสบบริเวณรักแร้ อาจทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือเนื้อผ้าที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว เช่น ไม่สวมผ้ายืดใยสังเคราะห์ ไม่สวมถุงมือยาง เป็นต้น

ติ่งเนื้อที่รักแร้ เป็นก้อนเนื้อเยื่อเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นและไม่เป็นอันตราย แต่อาจเกิดการระคายเคืองได้หากติ่งเนื้อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้าและเครื่องประดับ โดยอาจไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนรักษาติ่งเนื้อด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตัดติ่งเนื้อออกด้วยกรรไกรแพทย์ ผ่าตัดด้วยความเย็นซึ่งเป็นการใช้ไนโตรเจนเหลวตัดเนื้อเยื่อออก หรือใช้เครื่องมือไฟฟ้าจี้ตัดติ่งเนื้อออกไป เป็นต้น

ผื่น อาจเป็นผื่นขรุขระสีแดงหรือผื่นเป็นเกล็ดสีขาวบริเวณผิวรักแร้ ซึ่งอาจสังเกตได้ว่าเป็นผื่นเมื่อมีอาการคันหรือระคายเคืองเกิดขึ้นแล้ว โดยอาจเกิดไม่กี่ชั่วโมงหรือนานเป็นเดือน และการรักษาผื่นที่รักแร้ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นด้วย เช่น การติดเชื้อรา การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ หรือต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันซีบัมออกมามากเกินไป เป็นต้น

โดยทั่วไป อาจรักษาและป้องกันผื่นลุกลามไปยังบริเวณอื่นได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ไม่เกาตามผิวหนังที่เกิดผื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแพร่กระจาย
  • รับประทานยาแก้แพ้
  • ทาครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือโลชั่นคาลาไมน์ เพื่อลดอาการคันระคายเคืองและการอักเสบของผิวหนัง

ส่วนการป้องกันการเกิดผื่นบริเวณรักแร้ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และไม่อยู่ในบริเวณที่มีสารที่ตนแพ้
  • อาบน้ำรักษาความสะอาดรักแร้ให้ดี อาจปล่อยให้รักแร้แห้งเองแทนการเช็ดถูด้วยผ้าขนหนู
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีอย่างผ้าฝ้าย และแต่งกายด้วยเสื้อหลวม ๆ ไม่ให้แขนเสื้อรัดรักแร้มากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอากาศร้อน อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศหากภายในที่พักอาศัยมีอากาศร้อน

นอกจากนี้ แม้ขนรักแร้ที่งอกขึ้นมาอาจมีหน้าที่ปกป้องผิวหนังอ่อนนุ่มใต้วงแขน แต่ขนเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความอับชื้นและสิ่งสกปรกหมักหมมได้ ดังนั้น หากต้องการกำจัดขนรักแร้ อาจทำได้โดยการโกน การถอน การเลเซอร์ หรือการแว็กซ์ขน ซึ่งแต่ละวิธีล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป จึงควรศึกษาให้ดีก่อนลงมือกำจัดขนรักแร้เสมอ และนอกเหนือจากภาวะข้างต้นแล้ว อาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้รักแร้เกิดอาการแพ้หรือมีอาการต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งหากพบอาการผิดปกติบริเวณรักแร้แล้วอาการไม่ทุเลาลงหลังดูแลรักษาอาการด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป