รังสีกับผลกระทบต่อสุขภาพที่ควรรู้

รังสีคือพลังงานที่ถูกปล่อยออกมาจากตัววัตถุในรูปแบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พบได้ในธรรมชาติอย่างดินหรือน้ำ ในร่างกายของคน จากอวกาศอย่างพระอาทิตย์ หรือจากแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น รังสีมีประโยชน์ทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมหลายประเภท แต่หากได้รับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 

รังสีนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ ชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionizing radiation) มักไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย เช่น รังสีความร้อน คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือแสงสว่าง และชนิดก่อไอออน (Ionizing radiation) ที่อาจส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น รังสีแอลฟา รังสีเบต้า รังสีแกรมมา และรังสีเอกซ์ โดยในบทความนี้จะพูดถึงอันตรายของรังสีชนิดก่อไอออนเป็นหลัก

รังสีกับผลกระทบต่อสุขภาพที่ควรรู้

รังสีกับผลกระทบต่อสุขภาพ

รังสีสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของเซลล์และทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ในร่างกายของคนเรา และยังเพิ่มปริมาณสารอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งให้สูงขึ้นได้ด้วย 

ปกติร่างกายจะมีกระบวนการฟื้นฟูหรือซ่อมแซมตนเองอยู่แล้ว เมื่อได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณต่ำจึงมักไม่กระทบต่อสุขภาพมากนัก แต่หากร่างกายไม่ได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกต้องก็อาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ได้รับรังสีในปริมาณมากจนเซลล์ในร่างกายถูกทำลายอาจเสี่ยงต่ออวัยวะล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้  

ผลกระทบหรืออันตรายจากรังสีนั้นจะต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชนิดของรังสี ปริมาณของรังสี ระยะเวลาที่ได้รับรังสี วิธีการที่ได้รับรังสี สภาพร่างกายของผู้ได้รับรังสี โดยตัวอย่างผลกระทบจากการได้รับรังสีจะมีดังนี้

อันตรายจากการได้รับรังสีในระยะสั้น

การได้รับรังสีในปริมาณมากอย่างเฉียบพลันนั้นพบได้ยาก มักมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่รุนแรงและก่อให้เกิดรังสีในปริมาณมาก เช่น การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด หรืออุบัติเหตุทางรังสีที่ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจากภาชนะหรือเครื่องมือ  

ผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณสูงมากอย่างเฉียบพลันอาจมีปัญหาอวัยวะหรือเนื้อเยื่อทำงานบกพร่อง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวแดง ผมร่วง หรือมีแผลไหม้จากรังสีภายในเวลาไม่นานหลังรังสีเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากนี้ ยังอาจเผชิญกับกลุ่มอาการเฉียบพลันจากรังสี (Acute Radiation Syndrome: ARS) ในรายที่ได้รับรังสีทั่วทั้งร่างกายหรือเกือบทั้งร่างกาย ส่งผลให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด

อันตรายจากการได้รับรังสีในระยะยาว

ผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการพัฒนาโรคมะเร็งบางชนิดในระยะยาว หากได้รับรังสีปริมาณต่ำจากในธรรมชาติรอบตัวเรานั้นอาจไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในทันที แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้เล็กน้อย 

เนื่องจากรังสีถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ผู้ที่รักษาด้วยรังสีอย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงอาจพบผลข้างเคียงอย่างอาการอ่อนเพลีย ผิวแดง ผมร่วง หรือเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งทุติยภูมิ ไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับสมองและกระดูก 

แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะเริ่มก็ต่อเมื่อแพทย์เล็งเห็นประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ซึ่งในระหว่างนี้แพทย์จะดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด   

ยิ่งไปกว่านั้น อาการป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากรังสียังอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ด้วย เช่น รู้สึกเครียด หวาดกลัว ซึมเศร้า กังวล ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือสิ้นหวังในชีวิต  

อันตรายจากรังสี ป้องกันได้อย่างไร

รังสีในธรรมชาติมักมีระดับต่ำและไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ควรระวังรังสีบางชนิดโดยเฉพาะเรดอน (Radon) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งปอด เรดอนจะอยู่ในรูปแก๊สสีใส ไม่มีกลิ่น พบได้ในดิน หิน และทรายที่อาจนำมาใช้สร้างบ้านหรืออาคารที่อยู่อาศัย  

หากผู้อยู่อาศัยมีความกังวลหรือต้องการตรวจวัดปริมาณเรดอนในบริเวณที่อาศัยอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือที่มีการกระจายตัวของแก๊สอยู่มาก สามารถขอคำปรึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติที่เบอร์ 0-2401-9889

สำหรับรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นและพบได้บ่อยจะเป็นรังสีที่ใช้ในขั้นตอนการรักษาหรือวินิจฉัยโรค เช่น การฉายรังสี การเอกซเรย์ (X-Ray) การทำซีทีสแกน (CT Scan) หรือการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำก่อนเข้ารับการตรวจหรือรักษาเสมอ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของร่างกาย

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้รังสี ควรติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่อาจแนะนำให้หลบอยู่ภายในตัวบ้าน ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เนื่องจากบ้านจะเป็นเสมือนหลุมหลบภัยที่สามารถป้องกันรังสีจากภายนอกได้ หรืออาจแนะนำให้อพยพออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์