รับมือกับความโกรธอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

ความโกรธเป็นอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ เจ็บปวด หรือผิดหวัง แม้ความโกรธเป็นอารมณ์ปกติที่พบได้ทุกคน แต่เมื่อไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และคุณภาพชีวิต

ความโกรธเป็นภาวะที่มีความรุนแรงของอารมณ์แตกต่างกัน บางครั้งความโกรธอาจเป็นเรื่องดีที่ช่วยกระตุ้นให้เราคิดหาแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่หลายครั้งความโกรธอาจรุนแรงที่ควบคุมได้ยาก และนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ 

รับมือกับความโกรธอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

สาเหตุของความโกรธ

ความโกรธของแต่ละคนเกิดจากสาเหตุต่างกัน โดยทั่วไปมักเกิดจากการที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ถูกคุกคามหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และเมื่อคนอื่นไม่เคารพความรู้สึกหรือสิทธิของเรา อีกทั้งยังมีปัจจัยภายในและภายนอกอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกโกรธต่างกันไปด้วย เช่น 

  • ปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ผลการเรียนไม่ดี ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งงาน และมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน 
  • เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น รถติด รถเสียระหว่างทาง และเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกกะทันหัน
  • เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ตกงาน หย่าร้าง และการสูญเสียคนรัก 
  • ภาวะผิดปกติและโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) สมาธิสั้น (ADHD) พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder) และภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (Intermittent Explosive Disorder)
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การมีประจำเดือนที่อาจทำให้บางคนมีอาการหงุดหงิดง่ายและอารมณ์ไม่คงที่

อาการที่เกิดจากความโกรธ

แต่ละคนแสดงออกถึงอารมณ์โกรธแตกต่างกัน และอาจขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงแบบตามใจจนเกินไปทำให้แสดงอารมณ์โมโหได้ง่าย หรือถูกสอนว่าไม่ให้แสดงความไม่พอใจ จึงมีนิสัยเก็บความรู้สึกไว้เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว รวมทั้งคนที่มีประสบการณ์เลวร้ายในอดีตอาจแสดงความโกรธง่ายกว่าคนอื่น อย่างการทารุณกรรม การบูลลี่ (Bully) หรือมีปัญหาในชีวิตประจำวันมาก 

โดยทั่วไปความโกรธอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย จิตใจ และการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมดังนี้

อาการทางร่างกาย

ร่างกายตอบสนองต่อความโกรธด้วยวิธีต่อสู้หรือหนี (Fight Or Flight) ทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจถี่ขึ้น ความดันโลหิตและอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็ง แน่นหน้าอก ตัวสั่น เวียนศีรษะ รู้สึกร้อนและมีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ บางคนอาจรู้สึกมวนท้องและขาอ่อนแรง 

อาการทางจิตใจและพฤติกรรม

ความโกรธมักทำให้รู้สึกกังวลใจ เครียด หงุดหงิดง่าย ไม่สามารถผ่อนคลายได้ รู้สึกผิด รู้สึกเหมือนถูกดูหมิ่น บางคนอาจรู้สึกรำคาญหรือโมโหคนรอบข้าง จึงส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเอง เช่น เงียบขรึม ไม่อยากพูดคุยกับคนอื่น และทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือโมโหใส่คนรอบข้าง เช่น ตะโกนด่าทอ โต้เถียง และอาละวาดทำลายข้าวของ 

ความโกรธทำลายสุขภาพอย่างไร

ความโกรธจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเมื่อเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้อย่างเหมาะสม เช่น แสดงอารมณ์โมโหร้ายใส่ผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ อย่างการทะเลาะเบาะแว้งและการทำร้ายร่างกายคนรอบข้าง หรือบางคนอาจเก็บอารมณ์โกรธไว้ในใจโดยไม่ได้ระบายความรู้สึกออกมา ทำให้เกิดความเครียดสะสม และอาจนำไปสู่อาการทางร่างกายและจิตใจตามมา

หากไม่สามารถจัดการความโกรธได้อย่างเหมาะสม อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ โรคผิวหนังอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางจิต อย่างโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า 

นอกจากนี้ ความโกรธอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น และการก่ออาชญากรรมได้ด้วย

เทคนิคจัดการความโกรธให้เหมาะสม

แต่ละคนอาจมีวิธีรับมือกับความโกรธต่างกัน หากไม่รู้ว่าจะรับมือความโกรธอย่างไร เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยคุณได้

  • สังเกตอาการเมื่อโกรธ เพราะร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อความโกรธเกิดขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ การกำมือและกัดฟันแน่น การสังเกตร่างกายจะทำให้เรารู้เท่าทันและหาวิธีผ่อนคลายความโกรธได้ 
  • เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้โกรธ ควรหายใจเข้าออกลึก ๆ และนับ 1 ถึง 10 ช้า ๆ ในใจ ซึ่งอาจช่วยให้มีสติระงับความโกรธได้ดีขึ้น
  • ฝึกหายใจและนั่งสมาธิ เพื่อช่วยให้มีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ และทำให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียดและอารมณ์ที่ขุ่นมัว
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกกิจกรรมที่ชอบ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ และเล่นโยคะ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุของความโกรธ
  • ทำกิจกรรมอื่นเพื่อระงับความโกรธ เช่น อาบน้ำเย็น ฟังเพลงสนุก ๆ วาดรูป และเขียนบันทึก
  • หาสาเหตุที่กระตุ้นความโกรธและพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์นั้น
  • พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เพื่อนและคนในครอบครัว ซึ่งช่วยรับฟังและหาทางออกของปัญหา 
  • หากไม่สามารถรับมือกับความโกรธได้ และความโกรธส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษา

ความโกรธเป็นสภาวะอารมณ์ที่ทุกคนเคยเจอ ความรู้สึกโกรธไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่ต้องรู้จักควบคุมให้เหมาะสม ซึ่งนอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้ว การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น นอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด เรียนรู้วิธีจัดการความเครียดเและความกดดัน จะช่วยให้รับมือกับความโกรธได้ดีขึ้น