รับมือกับรองเท้ากัดอย่างไรให้ได้ผล

รองเท้ากัด มักเกิดแผลบริเวณข้อเท้าเพราะเป็นบริเวณที่มีแรงกดและมีการเสียดสี หากเป็นมาก แผลจะมีลักษณะเหมือนกับตุ่มพอง ผิวหนังด้านนอกแยกตัวออกมาจากผิวหนังด้านในเป็นช่องว่าง และมีน้ำเหลือง หรืออาจมีเลือดปนได้หากเส้นเลือดขนาดเล็กภายในแตก แผลรองเท้ากัดอาจส่งผลให้เดินหรือทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ลำบาก

รองเท้ากัด

สาเหตุที่ทำให้รองเท้ากัดมีดังนี้

  • เท้าร้อนหรือชื้น
  • ใส่รองเท้าที่ไม่พอดีและมักจะเสียดสีกับเท้าเวลาเดิน
  • ใส่รองเท้าโดยไม่สวมถุงเท้า
  • ใส่ถุงเท้าที่ย่นหรือยับ
  • ใส่ส้นสูง เพราะร่างกายจะถูกบังคับให้เทน้ำหนักไปบริเวณเนินปลายเท้าเพียงจุดเดียว
  • มีรูปเท้าที่ผิดปกติส่งผลให้ใส่รองเท้าไม่พอดี

แผลรองเท้ากัดอาจเพิ่มขึ้น หากยังเดินหรือวิ่งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อต้องถือของหนัก ๆ เช่น กระเป๋าเดินทาง เพราะเมื่อรองเท้าเสียดสีกับผิวมาก ๆ ร่างกายจะสร้างวิธีในการป้องกันตัวเองขึ้น เพื่อไม้ให้ผิวหนังด้านในได้รับบาดเจ็บไปมากกว่านี้ อาจต้องหยุดทำกิจกรรมที่กระทำอยู่เพื่อลดความเจ็บปวดจากการเสียดสีและแรงกดบริเวณแผล

วิธีรักษาแผลจากรองเท้ากัด

หากเป็นตุ่มพองจากแผลรองเท้ากัด ร่างกายจะทำการรักษาตนเองตามธรรมชาติ โดยผิวหนังใหม่จะถูกสร้างขึ้นภายใต้ตุ่มพอง ร่างกายจะดูดซึมของเหลวกลับเข้าไป ผิวหนังด้านหน้าจะแห้งและหลุดร่อนออกไป ทำให้แผลรองเท้ากัดส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องพึ่งการรักษาทางการแพทย์

การรักษาแผลรองเท้ากัดด้วยตนเอง

แผลรองเท้ากัดอาจมีขนาดใหญ่และทำให้รู้สึกไม่คล่องตัว การทำความสะอาดและรักษาแผลในเบื้องต้นด้วยตนเองทำได้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้เข็มปราศจากเชื้อหรือก้านสำลีชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาดเข็ม
  • ทำความสะอาดตุ่มพองด้วยยาฆ่าเชื้อโรค
  • ใช้เข็มเจาะเป็นรูขนาดเล็กเข้าไปในตุ่มพอง
  • ปล่อยให้ของเหลวไหลออกมา
  • ใช้ยาขี้ผึ้งหรือครีมต้านเชื้อแบคทีเรียทาบริเวณแผล
  • ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซ
  • ทำความสะอาดแผลด้วยครีมต้านเชื้อแบคทีเรียทุกวันจนกว่าแผลจะหายดี

หากตุ่มพองแตก ขั้นตอนการรักษาด้วยตนเองมีดังนี้

  • ค่อย ๆ ล้างแผลด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ ห้ามใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้แผลหายช้า
  • ห้ามกำจัดหนังบนตุ่มพองออก นอกจากแผลภายในสกปรกหรือมีหนองอยู่ภายใน
  • อาจปิดแผลด้วยผ้าพันแผลแบบไม่ติดแผลหรือ ผ้าพันแผลที่มีปิโตรเลียมเจลลี่ชั้นบาง ๆ เช่น วาสลีน
  • อาจเพิ่มปิโตรเลียมเจลลี่หรือเปลี่ยนผ้าพันแผลเมื่อจำเป็น

ควรเจาะแผลรองเท้ากัดไหม ?

การเจาะแผลรองเท้ากัดจะทำให้เกิดรูบนผิวหนัง ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ ในบางครั้งการเจาะตุ่มพองนั้นอาจทำให้เจ็บมากขึ้น โดยทั่วไปการเจาะแผลรองเท้ากัดจะกระทำต่อเมื่อมีขนาดตุ่มพองที่ใหญ่มาก และต้องการให้รู้สึกคล่องตัวขึ้น รู้สึกดีขึ้น

หากเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน เอชไอวี หรือโรคติดต่ออื่น ๆ เช่น โรคอีสุกอีใส ไม่ควรเจาะแผล เพราะอาจทำให้ติดเชื้อหรือเชื้อแพร่กระจายได้ และหากสังเกตเห็นว่าแผลนั้นมีลักษณะที่ค่อนข้างจะรุนแรงหรือมีอาการแดง บวม ปวดหรือมีหนองบริเวณรอบ ๆ ตุ่มพอง แผลอาจมีการติดเชื้อ อาจต้องทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที

ภาวะแทรกซ้อนจากรองเท้ากัด

แผลรองเท้ากัดส่วนใหญ่หายเร็ว แต่หากไม่ทำความสะอาดให้ดีหรือทิ้งแผลเปิดไว้ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นไปได้เช่นแผลเปื่อยหรือติดเชื้อ สัญญาณของอาการติดเชื้อมีดังนี้

  • ปวด บวม แดงหรือรู้สึกร้อนบริเวณรอบ ๆ แผลมากขึ้น
  • น้ำหนองไหล
  • มีไข้
  • บวมแดงลามออกมานอกตุ่มพองเมื่อมีการอักเสบมากขึ้น

วิธีป้องกันรองเท้ากัด

หากเป็นผู้ที่ไม่ได้มีรูปเท้าที่ผิดปกติแต่ยังต้องประสบกับปัญหารองเท้ากัด ควรพิจารณาในการเลือกรองเท้าให้มากขึ้น เพราะรองเท้าที่ใส่อยู่อาจไม่พอดีกับเท้า เช่น ใหญ่ไปหรือคับไป จนทำให้เกิดการเสียดสีขึ้น วิธีป้องกันรองเท้ากัดมีดังนี้

  • สวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะพอดีและสวมถุงเท้าที่สะอาด
  • เปลี่ยนถุงเท้าบ่อย ๆ ซึ่งป้องกันการเกิดความชื้นได้ หรือหากต้องทำกิจกรรมที่เหงื่อออกบริเวณเท้ามาก ๆ แนะนำให้ใส่ถุงเท้ากีฬาเพราะจัดการกับความชื้นได้ดีกว่า
  • แปะแผ่นป้องกันอีกชั้นระหว่างบริเวณที่รองเท้ากัดซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดตุ่มพองได้ การแปะแผ่นลดการเสียดทานที่รองเท้าจะได้ผลดีกว่าและติดทนกว่า
  • ใส่สารช่วยหล่อลื่นผิวอย่างแป้งฝุ่นภายในรองเท้า สามารถช่วยลดอาการเสียดทานในระยะสั้นได้ แต่แป้งจะดูดซึมความชื้นและส่งผลเสียหากใส่ไปนาน ๆ