ความหมาย ริดสีดวง
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids/Piles) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ริดสีดวง เป็นโรคเกิดที่เกิดจากเส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนักเกิดอาการโป่งพอง ในบางครั้งผนังหลอดเลือดเหล่านี้อาจมีการยืดตัวจนบาง ทำให้มีหลอดเลือดโป่งหรือนูนคล้ายติ่งยื่นออกมาจากทวารหนัก อาจจะก่อให้เกิดอาการปวด เจ็บ หรือคัน รวมไปถึงนั่งถ่ายลำบากมากขึ้น
ริดสีดวงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก เมื่อเกิดขึ้นภายในทวารหนักตรงบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เชื่อมติดกับทวารหนักส่วนบนจะเรียกว่า ริดสีดวงชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids) ผู้ป่วยมักจะมองไม่เห็นหรือรู้สึกเจ็บเมื่อเกิดริดสีดวง เนื่องจากมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกบริเวณนี้น้อย แต่หากริดสีดวงเกิดขึ้นในทวารหนักส่วนล่างลงมาจะเรียกว่า ริดสีดวงชนิดภายนอก (External Hemorrhoids) มักมีการนูนของหลอดเลือดลงมานอกช่องทวารหนักจนคล้ายเป็นติ่ง โดยผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นได้ชัดกว่าชนิดแรกจากสีผิวบริเวณที่เกิด ซึ่งริดสีดวงภายนอกมักจะมีสีชมพูกว่าผิวบริเวณรอบ ๆ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายสามารถเป็นทั้งริดสีดวงชนิดภายในและภายนอกไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ริดสีดวงชนิดภายในยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น ตามระดับความรุนแรงและขนาดของริดสีดวงได้ดังนี้
- ขั้นที่ 1 ริดสีดวงมีขนาดเล็กอยู่ในช่องทวารหนักเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นจากด้านนอกหรือรู้สึกได้
- ขั้นที่ 2 ริดสีดวงเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมและยื่นออกมาเมื่อมีการเบ่งหรือถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปด้านในได้เอง
- ขั้นที่ 3 ริดสีดวงยื่นออกมาจากช่องทวารหนักเมื่อมีการเบ่งหรือขับถ่าย ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกได้ว่ามีติ่งเนื้อยื่นลงมา แต่ยังสามารถดันกลับเข้าไปในช่องทวารหนักได้
- ขั้นที่ 4 ริดสีดวงยื่นออกมาจากทวารหนักอย่างถาวร มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และไม่สามารถดันกลับเข้าไปด้านในได้
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคล้าย ๆ กัน คือ มีอาการคัน เจ็บและปวดบริเวณทวารหนัก มีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ อาการของโรคริดสีดวงทวารส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ผู้ป่วยเป็นริดสีดวงเป็นหลักและมักจะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ในรายที่อาการรุนแรงและมีอาการอื่นเกิดรวมด้วย เช่น เวียนหัว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเกิด แต่มีความเกี่ยวข้องกับแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมหรือนูนจากแรงดันที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการท้องผูก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือแม้แต่เนื้อเยื่อที่รองรับเส้นเลือดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนักเกิดการเสื่อมหรือขยายตัว
การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร
เมื่อสังเกตพบอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าจะเป็นริดสีดวง แพทย์จะมีการตรวจทวารหนักด้วยตาเปล่าว่าพบริดสีดวงชนิดภายนอกหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ทันที แต่ในกรณีที่เป็นริดสีดวงชนิดภายใน แพทย์ต้องมีการตรวจทางทวารหนักด้วยการใช้นิ้วสอดและการส่องกล้องพิเศษประเภทอื่น ๆ เพื่อหาความผิดปกติและวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ต่างกัน เช่น Anoscope, Proctoscope Sigmoidoscopy หรือแพทย์อาจจะมีการตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยกลางคนขึ้นไปที่ไม่เคยมีประวัติการตรวจโรคนี้
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารสามารถรักษาได้หลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระดับความรุนแรง และความต้องการของผู้ป่วยเอง ในกรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองที่บ้าน โดยเน้นให้มีการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดูแลบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารให้แห้งและสะอาด รวมไปถึงมีการแช่น้ำอุ่นบริเวณก้นเป็นประจำ
ควบคู่กับการรับประทานยาในกลุ่มแก้ปวดและยาทา เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด เจ็บ หรือคันบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารน้อยลง แต่หากเป็นขั้นรุนแรงหรืออาการของโรคส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การใช้ยางรัด การฉีดยา การจี้ หรือการผ่าตัดริดสีดวงทวารออก โดยพิจารณาถึงความสมัครใจของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเอง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวารอาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดบริเวณทวารหนักจนทำให้เกิดหลอดเลือดบวมและมีการจับตัวเป็นลิ่มเลือดและกลายเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า ภาวะธรอมโบซิส (Thrombosis) ซึ่งมักเกิดกับริดสีดวงชนิดภายนอก นอกจากนี้มักจะเกิดภาวะเลือดออก โลหิตจางจากการเสียเลือดขณะขับถ่าย หรือเกิดการติดเชื้อเป็นผลจากการรักษา
การป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
การหลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดโรคริดสีดวงทวารสามารถทำได้โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานที่มีไฟเบอร์เพิ่มมากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน นอกเหนือจากการปรับพฤติกรรมในการกิน ควรมีการดูแลเรื่องขับถ่ายให้เป็นนิสัย ไม่ควรมีการอั้น เบ่ง หรือนั่งถ่ายอุจจาระนาน เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายที่ผิดปกติและถ่ายได้ยากมากขึ้น หากปรับการรับประทานอาหารยังไม่ได้ผลดีเพียงพอ อาจรับประทานอาหารเสริมประเภทไฟเบอร์หรือสารที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น