Cognitive Behavioral Therapy (CBT) คือวิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริง มีเป้าหมายเพื่อจัดการสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดที่เป็นปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ
Cognitive Behavioral Therapy หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เป็นหนึ่งในวิธีจิตบำบัดที่นำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติทางจิตหลายรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคแพนิค (Panic Disorder) การติดสุราหรือสารเสพติด ปัญหาการกินและการนอนหลับที่ผิดปกติ และยังอาจนำมาใช้บำบัดในกรณีอื่น ๆ เช่น การรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียด ความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่รัก ปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รัก ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา เป็นต้น
หลักการของ Cognitive Behavioral Therapy
Cognitive Behavioral Therapy เชื่อว่าระบบความคิด สภาวะอารมณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกของเราส่งผลต่อกันและกัน หากปรับเปลี่ยนความคิดในแง่ลบของผู้ป่วย การแสดงออกด้านอารมณ์และพฤติกรรมก็น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย โดย Cognitive Behavioral Therapy มีข้อแตกต่างจากการรักษาด้วยจิตบำบัดวิธีอื่น เนื่องจากเน้นที่การประเมินและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าปัญหาในอดีต
ทั้งนี้การรักษาด้วย Cognitive Behavioral Therapy มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือกังวล (Exposure Therapy) การทําการทดลองทางพฤติกรรม (Behavioral Experiments) การจัดการกับความเครียด หรือการเล่นบทบาทสมมติ (Role play) ซึ่งมีหลักการทั่วไป ดังต่อไปนี้
- วิเคราะห์และประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างเฉพาะเจาะจง
- ให้ผู้ป่วยเรียนรู้และตระหนักถึงระบบความคิดที่อาจผิดเพี้ยนไป ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และปรับความคิดนั้นใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
- เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย และนำไปปรับใช้ในทางปฏิบัติ
- เรียนรู้และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพ และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
- เข้าใจพฤติกรรมหรือแรงจูงใจในการกระทำของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ได้มีการริเริ่มใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet-based cognitive behavioral therapy (ICBT) เข้ามาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งวิธีนี้เป็นการให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปพบแพทย์หรือนักจิตบำบัดที่โรงพยาบาล และผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน
ขั้นตอนการรักษา
Cognitive Behavioral Therapy อาจใช้รักษาผู้ป่วยแบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้รักษา ซึ่งผู้ป่วยควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการบำบัด ด้วยวิธีการดังนี้
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ในการรักษา ค่าใช้จ่าย และผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ารับการรักษา ซึ่งนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม และมีความเชี่ยวชาญด้านจิตเวชในสาขาเฉพาะทาง โดยมีใบรับรองอย่างถูกต้อง
- สำรวจปัญหา สิ่งที่รู้สึกกังวล และความต้องการของตนเองในการรักษาอย่างชัดเจน โดยอาจจดบันทึกแยกเป็นหัวข้อ เพื่อให้ง่ายต่อการพูดคุยและรักษากับนักจิตบำบัด
เริ่มการรักษา
ผู้บำบัดมักเริ่มการรักษาด้วยการสอบถามประวัติ ทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย โดยให้เล่าหรือระบายเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และปัญหาที่กำลังประสบอยู่ ซึ่งข้อมูลที่พูดคุยกับผู้บำบัดจะถูกเก็บเป็นความลับ และจะไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นได้รับรู้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น หรือไม่สามารถปกป้องหรือดูแลความปลอดภัยของตนเองได้
ในระยะแรกผู้ป่วยมักรู้สึกว่าการถ่ายทอดปัญหาหรือความกังวลของตัวเองเป็นเรื่องยาก แต่ผู้บำบัดจะค่อย ๆ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องราวของตนออกมาโดยไม่รู้สึกลำบากใจ และช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
หลังการรักษา
โดยทั่วไป Cognitive Behavioral Therapy มักใช้การบำบัดครั้งละประมาณ 30-60 นาที เป็นเวลา 5-20 ครั้ง โดยเข้ารับการบำบัดทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการและความสม่ำเสมอในการเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยส่วนมากมักรู้สึกว่าอาการของตัวเองเริ่มดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังได้รับการบำบัด อย่างไรก็ตาม Cognitive Behavioral Therapy ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดหรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้อย่างเด็ดขาด แต่อาจช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ผลลัพธ์ในการรักษาจะขึ้นอยู่กับตัวผู้เข้ารับการบำบัด หากเปิดใจยอมรับ และตั้งใจทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้การทำจิตบำบัดต้องใช้ระยะเวลาและความสม่ำเสมอ ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการบำบัดตามการนัดหมายอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วยสามารถปรับความคิดและพฤติกรรมตามที่กำหนดเป้าหมายไว้ และสามารถนำหลักการของ Cognitive Behavioral Therapy ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อพบปัญหาได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องนัดให้กลับมารักษาอีก
ข้อควรระวังในการรักษา
การรักษาด้วย Cognitive Behavioral Therapy มักไม่มีความเสี่ยงหรือข้อควรระวังในการรักษา แต่ผู้เข้ารับการบำบัดอาจรู้สึกไม่สะดวกใจ อึดอัด เครียด กังวล หรือร้องไห้ขณะเข้ารับการบำบัด เนื่องจากถูกกระตุ้นให้นึกถึงปัญหาที่ตนอยากหลีกเลี่ยง แต่อาการที่เกิดขึ้นมักไม่รุนแรง และจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาไประยะหนึ่ง
Cognitive behavioral therapy จัดเป็นวิธีจิตบำบัดที่มีหลักการหรือเทคนิคที่ชัดเจน จึงมักทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดมีอาการดีขึ้นได้โดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์และประเมินปัญหาที่เผชิญอยู่ และสร้างความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม หากปรับเปลี่ยนความคิดได้ อารมณ์ และพฤติกรรมก็สามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ควรเข้ารับการบำบัดกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ ซึ่งมีประสบการณ์ และสามารถให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ