Eating Disorder หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของพฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นผลจากนิสัยเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น พันธุกรรม ประวัติครอบครัว การอดอาหารแบบผิด ๆ และค่านิยมเกี่ยวกับรูปร่างที่ผอมบาง
ความผิดปกติเกี่ยวกับการกินจัดเป็นกลุ่มโรครุนแรงและอันตราย เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยพบได้บ่อยในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น หากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ประเภทของ Eating Disorder ที่ควรรู้
Eating Disorder ที่เคยได้ยินกันคือ อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) บูลิเมีย (Bulimia Nervosa) และโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) ซึ่งเป็น 3 โรคที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายประเภท บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จัก Eating Disorders ประเภทต่าง ๆ กัน
1. อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa)
อะนอเร็กเซีย หรือบางคนเรียกว่าโรคกลัวอ้วนหรือโรคคลั่งผอม เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับรูปร่างที่ผิดปกติ โดยคิดว่าต้องรักษารูปร่างให้ผอมบางอยู่เสมอ กลัวน้ำหนักขึ้นแม้จะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว
อะนอเร็กเซียมี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่พยายามจำกัดปริมาณการกินอาหาร หรือออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และกลุ่มที่กินอาหารมากผิดปกติเป็นช่วงสั้น ๆ แล้วล้วงคอให้อาเจียน หรือใช้ยาระบายเพื่อลดน้ำหนักและรักษารูปร่าง ผู้ที่เป็นอะนอเร็กเซียมักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่อายุเท่ากันและส่วนสูงใกล้เคียงกัน
อาการที่พบบ่อยคือ ร่างกายผอมแห้ง ทนความหนาวไม่ได้ อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เวียนศีรษะและเป็นลมจากการขาดน้ำ ท้องอืด และท้องผูกอย่างรุนแรง เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้กระดูกบาง ผมบางและร่วง เล็บเปราะง่าย หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง หัวใจ อวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิต
2. บูลิเมีย (Bulimia Nervosa)
บูลิเมียเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะกินอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยควบคุมตัวเองไม่ได้ และรู้สึกผิดหลังจากที่กินมากเกินไป จึงพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไปด้วยการล้วงคอให้อาเจียน ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนทวาร และออกกำลังอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยบูลิเมียมักหมกมุ่นอยู่กับน้ำหนักและรูปร่างของตนเอง กลัวน้ำหนักขึ้น มีพฤติกรรมเข้าห้องน้ำไปอาเจียนหลังกินอาหารบ่อย ๆ เวียนหัวและเป็นลมจากการขาดน้ำ
การอาเจียนและใช้ยาระบายบ่อยอาจทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง กรดไหลย้อน ฟันผุจากกรดในกระเพาะอาหารที่ทำลายผิวเคลือบฟัน ท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ และฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน หากอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
3. โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder)
คนที่เป็นโรคกินไม่หยุดสามารถกินอาหารได้มากผิดปกติในเวลาไม่นานแม้จะไม่รู้สึกหิว และไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินได้จนกว่าจะรู้สึกแน่นท้องหรือไม่สบายตัว
ผู้ป่วยจะไม่ได้จำกัดปริมาณการกิน นับแคลอรี่ของอาหารที่กิน หรือมีพฤติกรรมล้วงคอหรือใช้ยาระบายเพื่อกำจัดอาหารที่กินเข้าไปเหมือนผู้ป่วยอะนอเร็กเซียและบูลิเมีย แต่เมื่อกินเสร็จแล้วจะรู้สึกรังเกียจหรือโกรธที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และรู้สึกอายที่กินอาหารในปริมาณมาก จึงมักแอบเลี่ยงไปกินอาหารคนเดียว
โรคกินไม่หยุดอาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคเลือกกินอาหาร (Avoidant restrictive food intake disorder: ARFID)
โรคเลือกกินอาหารต่างจากการเลือกกินของเด็กเล็กหรือเลือกกินทั่วไป แต่ผู้ป่วยจะขาดความสนใจในการกินอาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น สี เนื้อสัมผัส กลิ่น และรสที่ไม่ชอบ หรือหลีกเลี่ยงการกินเพราะกลัวการสำลัก อาเจียน ท้องเสีย และแพ้อาหาร
การเลี่ยงการกินอาหารไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางศาสนาหรือความกลัวน้ำหนักขึ้นเหมือน Eating Disorder ประเภทอื่น หากความผิดปกตินี้เกิดในเด็กอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต น้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามวัย ในผู้ใหญ่อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงมากและขาดสารอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพตามมา
5. ภาวะการเคี้ยวกลืนอาหารแล้วขย้อนออก (Rumination Disorder)
เป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยสำรอกอาหารที่เคยเคี้ยวและกลืนไปก่อนหน้านี้ออกมา จากนั้นจะเคี้ยวซ้ำแล้วกลืนเข้าไปใหม่หรือบ้วนทิ้ง ซึ่งการสำรอกอาหารไม่ได้เกิดจากอาการจุกเสียดท้องหรือคลื่นไส้ และไม่ได้เกิดจากโรคประจำตัวหรือ Eating Disorder ประเภทอื่น และจะเกิดอาการในลักษณะซ้ำ ๆ อย่างน้อย 1 เดือน
Rumination Disorder พบได้ทั้งในทารก เด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเริ่มมีอาการในทารกอายุระหว่าง 3–12 เดือน และอาการจะหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น และอาจพบในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
การสำรอกอาหารบ่อย ๆ อาจทำให้ทารกขาดสารอาหารอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ในผู้ใหญ่อาจทำให้กินอาหารน้อยลงและหลีกเลี่ยงการกินอาหารต่อหน้าคนอื่น ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ได้
6. ภาวะการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (Pica)
ภาวะการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารจัดเป็น Eating Disorder ประเภทหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น น้ำแข็ง กระดาษ สบู่ ดิน เส้นผม ฝุ่น ไหมพรม โคลน และกรวด ซึ่งการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารอาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อ และขาดสารอาหาร
ภาวะการกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหารจะพบได้บ่อยในเด็ก คนที่ตั้งครรภ์ และคนที่เป็นโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) หรือมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ชอบหยิบสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ เข้าปากถือเป็นพัฒนาการตามวัย และไม่จัดเป็นความผิดปกติ
นอกจาก Eating Disorder ทั้ง 6 ประเภทข้างต้น ยังมีความผิดปกติทางการกินในรูปแบบอื่น ๆ แต่พบได้น้อย เช่น ภาวะสำรอกหรือกำจัดอาหารที่กินออกจากร่างกาย (Purging Disorder) ภาวะการกินมากผิดปกติในช่วงกลางคืน (Night Eating Syndrome) และภาวะคลั่งกินคลีน (Orthorexia)
Eating Disorder รักษาอย่างไร
หากสังเกตว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ Eating Disorder ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามประเภทและความรุนแรงของ Eating Disorder โดยแพทย์อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เช่น
- โภชนบำบัด (Nutrition Therapy) เป็นการประเมินและวางแผนการกินอาหารของผู้ป่วยตามหลักโภชนาการ โดยนักโภชนาการจะคำนวณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน เพื่อให้มีน้ำหนักตัวปกติตามเกณฑ์
- จิตบำบัด (Psychotherapy) เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งมักใช้รักษาผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย บูลิเมีย และโรคกินไม่หยุด และครอบครัวบำบัด (Family Therapy) สำหรับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้คนในครอบครัวช่วยดูแลพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม
- การใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านอาการทางจิต และยาควบคุมอารมณ์ ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยรักษา Eating Disorder โดยตรง แต่อาจช่วยรักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลที่อาจเป็นต้นเหตุของความผิดปกติทางการกิน โดยช่วยยับยั้งความอยากอาหารที่ผิดปกติ และจัดการกับความคิดหมกมุ่นในการกินได้
- การรักษาตัวในโรงพยาบาลในรายที่มีอาการรุนแรงมาก เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาพิเศษภายใต้การดูแลของแพทย์
Eating Disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่ควรได้รับการรักษา หากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการกินให้เป็นปกติ และป้องกันการเกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หากตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป หรือมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็น Eating Disorder ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม