FODMAP ย่อมาจาก Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides and Polyols โดยทั้งหมดนี้เป็นชื่อของคาร์โบไฮเดรตประเภทสายโมเลกุลสั้น ซึ่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตประเภทนี้มักย่อยยากและส่งผลให้ลำไส้เล็กทำงานหนัก
ส่วน FODMAP Diet ตามหลักแล้วควรจะเรียกว่า Low FODMAP Diet คือกลุ่มอาหารที่ขาดคาร์โบไฮเดรตกลุ่มนี้หรือมีอยู่ในปริมาณน้อย การรับประทานอาหารกลุ่ม FODMAPs จึงอาจช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ อย่างท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก และท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) และภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุล (Small Intestinal Bacterial Overgrowth: SIBO)
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย อีกทั้งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด จึงอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ ส่วนภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุลเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนทำให้การทำงานของลำไส้เล็กผิดปกติ โดยทั้งสองโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง จึงจำเป็นต้องปรับอาหารที่รับประทานร่วมกับการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการของโรค
เกิดอะไรขึ้นเมื่อรับประทานอาหาร High FODMAPs
อาหาร High FODMAPs หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่าอาหารที่ย่อยยาก มี FODMAPs สูง อาหารประเภทนี้จะเอื้อให้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งแบคทีเรียเหล่านั้นจะผลิตก๊าซมีเทนและไฮโดรเจนในทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารและขับถ่าย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง และท้องผูก นอกจากนี้ อาหารประเภทดังกล่าวยังเพิ่มการดูดน้ำเข้าสู่ลำไส้มากกว่าปกติ จึงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นเดียวกัน
เมื่อผู้ที่ป่วยด้วยโรคลำไส้แปรปรวนหรือภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุลรับประทานอาหาร High FODMAPs เข้าไปก็อาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอยู่ก่อนแล้ว สำหรับคนทั่วไป การรับประทานอาหาร High FODMAPs ในปริมาณปกติอาจไม่ส่งผล แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินก็อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน
ตัวอย่างของอาหารที่มี FODMAPs สูง ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมข้าวโพดหรือคอร์นไซรัป ข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม อาร์ติโชค (Artichoke) หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเลนทิล ถั่วเหลือง แอปเปิ้ล เชอร์รี่ พีช พลัม อะโวคาโด มะเดื่อฝรั่ง และนม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากอาหารเหล่านี้ อย่างขนมปัง ซีเรียล โยเกิร์ต ไอศกรีม หรือผลิตภัณฑ์อื่นก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มอาหาร FODMAP สูงเช่นเดียวกัน
อาหาร Low FODMAPs ส่งผลอย่างไรและจำเป็นไหม?
ผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มี FODMAPs ต่ำ เพราะอย่างที่ได้บอกไปว่าการบริโภคอาหารที่มี FODMAPs สูงในปริมาณปกติมักไม่ทำให้เกิดผลเสีย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหาร FODMAPs ต่ำ แต่ก็ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันนาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนและภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุล การบริโภคอาหาร Low FODMAPs อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา เพราะจากการศึกษาพบว่าการบริโภคอาหารประเภทดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการเรื้อรังจากปัญหาลำไส้ ซึ่งอาจเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตประจำวันจากอาการของโรคได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางส่วนอาจไม่ตอบสนองต่อการรับประทานอาหารประเภทนี้
ตัวอย่างอาหารที่มี FODMAPs ต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา อาหารทะเล เต้าหู้ นมปราศจากแลกโตส ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ควินัว บัควีท (Buckwheat) มะนาว ส้ม มะละกอ องุ่น สับปะรด สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ กีวี่ ถั่วงอก พริกหยวก กะเพรา ขิง พริกไทย แครอท ผักกวางตุ้ง มะเขือม่วง ผักเคล มะเขือเทศ ปวยเล้ง แตงกวา แตงซุกกินี (Zuccini) อัลมอนด์ ถั่วลิสง ถั่วพีแคน วอลนัท แมคคาเดเมีย งา เมล็ดทานตะวัน นมอัลมอนด์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก ชีสบางชนิด อย่างเชดดาร์ (Cheddar) เฟต้า (Feta) การ์มองแบร์ (Camembert) และบีส (Brie) แต่ชีสบางชนิด อย่างคอทเทจ (Cottage) ริคอตต้า (Ricotta) จะจัดอยู่ในกลุ่มที่มี FODMAP สูง
ผู้ป่วยโรคดังกล่าวหรือพบว่าตนเองมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน การปรับประเภทอาหารก็อาจช่วยได้ โดยเริ่มต้นจากงดรับประทานอาหารที่มี FODMAPs สูงหรืออาหารที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วเกิดอาการดังกล่าวขึ้น โดยเว้นระยะไว้สัก 6 สัปดาห์แล้วกลับมารับประทานอาหารเหล่านั้นทีละชนิด ในปริมาณเล็กน้อยทุก ๆ 3 วัน เพื่อสังเกตว่าอาหารชนิดไหนเป็นสาเหตุของอาการ หากพบความผิดปกติเมื่อรับประทานอาหารก็เพียงเลี่ยงอาหารชนิดนั้น แม้จะเป็นขั้นตอนง่าย ๆ แต่อาจช่วยสำรวจอาหารที่เหมาะและไม่เหมาะระบบย่อยอาหารของแต่ละคนได้
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสียบ่อยครั้งในระยะเวลาหลายเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับลำไส้ อย่างโรคลำไส้แปรปรวน ภาวะแบคทีเรียในลำไส้เล็กไม่สมดุล หรือโรคอื่น ๆ ได้ ส่วนผู้ทราบว่าตนเองป่วยด้วยโรคเหล่านี้อยู่แล้ว นอกจากการรับประทานที่เหมาะสมแล้ว การออกกำลังกายและการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย และจากการศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการบริโภคอาหารแบบ Low FODMAPs
เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมและความเสี่ยงก่อนเริ่มต้นรับประทานอาหารกลุ่ม FODMAPs เพราะการสำรวจหาอาหารที่เป็นสาเหตุอาจจำเป็นต้องงดอาหารหลายประเภทพร้อมกันติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านโภชนาการร่วมด้วยได้ หากแพทย์เห็นว่าเหมาะสม แพทย์อาจช่วยวางแผนในการทำการสำรวจอาหาร แนะนำแผนโภชนาการเพื่อให้การรับประทานอาหารรูปแบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้รับประทาน